ส.โลกร้อนจับมือสภาทนายความ คัด 10 มือดีช่วยชาวบ้านฟ้องเรือน้ำตาลล่ม
รัฐให้กรมเจ้าท่าเป็นตัวแทนฟ้องเรือน้ำตาล 10 หน่วยงานรัฐเตรียมสรุปตัวเลขความเสียหาย 12 มิ.ย. ด้าน 10 ทนายด้านสิทธิชุมชน-สิ่งแวดล้อมตั้งโต๊ะรับเรื่องแทนชาวบ้านกรณีเรือน้ำตาล-โรงไฟฟ้า-บ่อขยะ เป็นตัวแทนฟ้องทั้งบริษัทต้นเหตุ และหน่วยงานรัฐอืดอาด
วันที่ 10 มิ.ย.54 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เชิญผู้แทน 5 จังหวัด พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรมประมง กรมเจ้าท่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับความเสียหายจากเหตุเรือน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา และส่งผลให้เกิดมลพิษในแม่น้ำเจ้าพระย เข้าหารือเพื่อดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทเจ้าของเรือบรรทุกน้ำตาล ด้วยกฎหมายสิ่งแวดล้อม มาตรา 96 และ 97 ตามพรบ.สิ่งแวดล้อม 2535
นายสุพัฒน์ กล่าวว่าเนื่องจากทางคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ ผ่านมา ไดมอบหมายให้กรมการขนส่งทางน้ำและพานิชยนาวี(กรมเจ้าท่า) ตั้งคณะทำงานในการดำเนินการฟ้องร้องแทนหน่วยงานรัฐทั้ง 10 แห่งที่ได้รับความเสียหาย และให้แต่ละหน่วยงานประเมินความเสียหายเป็นงบประมาณรวบรวมให้กรมเจ้าท่า ส่วน คพ.นั้นใช้เงินจำนวน 1.3 แสนบาทสำหรับตรวจสอบคุณภาพน้ำในช่วงเกิดเหตุ
“กรมประมงประเมินความเสียหายของปลาในกระชังบางส่วนแล้ว ทั้งนี้การดำเนินการตรวจสอบความเสียหายเป็นข้อมูลในการฟ้องร้อง ครอบคลุมถึงการนำอุปกรณ์ทางราชการมาปฏิบัติงาน ความเสียหายกับสิ่งแวดล้อม ค่าใช้จ่ายใช้ส่วนของบุคลากร ความเสียหายของประชาชน และส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง แต่คงต้องใช้เวลาดำเนินการสักระยะ เชื่อว่าความเสียหายน่าจะมากกว่าคราวเรือน้ำตาลล่มที่ จ.อ่างทอง เนื่องจากครั้งนี้มีความเสียหายต่อกระชังปลา ปลาธรรมชาติ การกัดเซาะตลิ่งชาวบ้านเสียหาย” นายสุพัฒน์ กล่าว
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อตานสภาวะโลกร้อน กล่าวว่าวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ทางสมาคมฯ พร้อมทนายความด้านสิ่งแวดล้อม 10 คนจากสภาทนายความ จะเปิดเวทีเผยแพร่ความรู้สำหรับ เตรียมความพร้อมชาวบ้านในฐานะผู้ฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมว่าจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง โดยเฉพาะกรณีเรือน้ำตาลล่มที่พระนครศรีอยุธยา ต้องเตรียมเอกสารพยานหลักฐาน รูปถ่ายความเสียหายเพื่อใช้ยื่นฟ้อง
โดยจะตั้งโต๊ะรับร้องเรียนพร้อมรับมอบอำนาจจากชาวบ้าน เพื่อเป็นตัวแทนยื่นฟ้องศาลแผนกคดีสิ่งแวดล้อม เรียกค่าเสียหายจากเจ้าของเรือหรือผู้ขนส่ง และฟ้องศาลปกครองหน่วยงานรัฐโดยเฉพาะกรมเจ้าท่าที่ล่าช้าในการแก้ปัญหา ทั้งนี้งานดังกล่าวจัดขึ้นที่ห้องประชุมใหญ่อาคาร 100 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา อ.เมือง จ.พระนครอยุธยา ซึ่งคาดว่าจะมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกรณีโรงไฟฟ้า และบ่อขยะมาร่วมงานด้วย
นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่าขณะนี้มีศาลแพ่งคดีสิ่งแวดล้อมแล้ว ดังนั้นคาดว่าจะมีชาวบ้านนำเรื่องผลกระทบเข้าสู่การฟ้องร้องในศาลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งเชื่อว่าโดยกระบวนการพิจารณาคดีก็จะรวดเร็วขึ้น เพราะลดขั้นตอนและเอื้อให้กับชาวบ้าน เช่น การงดค่าธรรมเนียมศาล การนำสืบพยานชาวบ้านไม่ต้องนำสืบพยานทั้งหมดแต่อาจใช้ตัวแทนคนใดคนหนึ่ง นอกจากนี้ยังไม่ต้องหาพยานมาก หากพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดได้จริง และศาลจะมีผู้พิพากษาที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นองค์คณะโดยตรง รวมทั้งการใช้พยานจากหน่วยงานทางสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ทีมทนายทั้ง10 คนที่จะเข้ามาช่วยในครั้งนี้ล้วนมีประสบการณ์ในการทำคดีสิ่งแวดล้อมใหญ่ๆ เช่น คดีคลิตี้ จ.กาญจนบุรี คดีแคดเมียมแม่ตาว จ.ตาก ได้แก่ นายวีระ ชมพันธุ์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายคดีสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ, ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ทนายความผู้รับผิดชอบคดีคลิตี้, นายวิโรจน์ ช่างสาร ทนายความผู้รับผิดชอบคดีแม่เมาะ, นายเทวฤทธิ์ โชติเจริญพร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อม, นายธนู เอกโชติ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน, น.ส.รัตนา ผาแก้ว ทนายความด้านสิทธิสตรี, นายผดุง ศักดิ์ เทียนไพโรจน์ ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม และนายกมล ศรีสวัสดิ ทนายความด้านสิทธิชุมชน.
ที่มาภาพ : http://news.sanook.com/1028354-%E0%C3%D7%CD%B9%E9%D3%B5%