เลขาฯสภาพัฒน์ เผยโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน อุดช่องโหว่โลจิสติกส์ไทย
นักวิชาการวอนรบ.ทุ่มงบหนุนพัฒนางานวิจัยแตะ 2% ของจีดีพีตามรับปาก หวังแข่งขันในประชาคมอาเซียน ระบุระบบการศึกษาไทยตกต่ำ สร้างคนเป็นผู้ตามมากกว่าผู้นำ
วันที่ 16 ก.ย. 2556 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุม ‘เส้นทางประเทศไทย สู่ประชาคมอาเซียน’ โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ไทยมองประชาคมอาเซียนได้ 2 ทาง คือ โอกาสและผลกระทบ ซึ่งหากเราไม่พิจารณาแก้ไขจุดอ่อนก็จะทำให้เกิดผลกระทบตลอดไป ฉะนั้นจุดอ่อนจุดด้อยจึงเป็นหน้าที่ของแต่ละประเทศต้องแก้ไข เพื่อทุกคนจะได้มองหาโอกาส
สำหรับไทยค่อนข้างมีโอกาสในแง่ยุทธศาสตร์สูง วัดได้จากจีดีพีทางเศรษฐกิจเติบโตเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แต่สิ่งที่เป็นจุดอ่อน คือ ประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นหากรัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทสำเร็จ จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในระบบการขนส่งมากขึ้น โดยเฉพาะระบบราง
ส่วนสิ่งสุดท้ายที่จะชี้ขาดโอกาสในประชาคมอาเซียน นายอาคม กล่าวว่า คือ คุณภาพของคนที่จะได้รับจากการศึกษา ซึ่งไทยถูกจัดอันดับจากเวิร์ล อีโคโนมิก ฟอรั่ม พบอยู่อันดับ 8 จาก 10 ประเทศอาเซียน เป็นรองแม้กระทั่งกัมพูชา ถือว่าสู้ประเทศในกลุ่มอาเซียนไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วง อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับระบบการศึกษาไทยตกต่ำลงจริง ประเมินได้จากคะแนนแบบสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (O-NET) ทุกวิชาต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นวิชาภาษาไทย
นายอาคม กล่าวถึงความจำเป็นต้องเร่งปรับพื้นฐานทางภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษากลางของอาเซียนด้วย ซึ่งมิใช่สื่อสารผ่านการพูดคุยอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงทักษะการเขียนและอื่น ๆ อย่างถ่องแท้ นอกจากนี้ความเข้าใจในภาษาของประเทศเพื่อนบ้านก็มีความสำคัญด้วย
แนะเลิกวัดลงทุนด้านวิจัยเป็นค่าใช้จ่าย
ด้านศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการสร้างความรู้และพัฒนาคนเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่า การวิจัยและการศึกษาของไทยยังอ่อนแอ หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนและโลก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนาความเข้มแข็งชาติ
สำหรับสิ่งที่ท้าทาย ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า คือไทยจะต้องพยายามลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมา ผ่านงานวิจัยให้ได้ด้วย โดยจะเห็นว่า 15 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการส่งเสริมการวิจัยในระดับท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์มาก แต่การลงทุนกับเรื่องดังกล่าวยังนับว่า น้อยเกินไป ซึ่งก็เหมือนกับที่รัฐบาลรับปากว่าจะเพิ่มการลงทุนงานวิจัยให้ได้ 2% ของจีดีพี แต่สุดท้ายอยู่ที่ 0.2% เหมือนเดิม เป็นต้น
นายกสภาม.มหิดล กล่าวต่อว่า ปัญหาสำคัญสุดเกิดจากไทยมองภาพการลงทุนวิจัยเป็นเพียงค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดความยากลำบากตามมา ประกอบกับมีนักวิจัยน้อย ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการ คือ ภาคการเมืองต้องการเอาจริงเอาจังในการลงทุนวิจัย
"หากมองในแง่การวิจัยมุมบริหารประเทศเมื่อเทียบกับภาคบริษัท ซึ่งบริษัทจะมีกำไรที่ดี ประเทศจะก้าวหน้า จะต้องมีวัฒนธรรมของชาติที่เหมาะสม ซึ่งในยุคปัจจุบันต้องการวัฒนธรรมของชาติที่มาจากการใช้งานวิจัยเป็นตัวนำ โดยวิธีการให้รัฐกำหนดเป้าหมาย ส่วนการวัดผลก็ต้องทำผ่านงานวิจัย รัฐจะได้หนุนให้เอกชนลงทุนมาก และจะทำให้ประเทศสามารถใช้พลังสร้างสรรค์หาทางออกได้"
ทั้งนี้ ศ.นพ.วิจารณ์ ยังกล่าวถึงการพัฒนาคนในศตวรรษที่ 21 ด้วยว่า ต้องวางเป้าหมายสร้างคนที่แตกต่าง มีจิตสาธารณะ เป็นตัวของตนเอง แต่ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ซึ่งระบบการศึกษามีส่วนในการสร้างทักษะเหล่านี้ แต่ที่ผ่านมา วงการศึกษามาไทยไม่เคยทำได้ เพราะการศึกษาไทยเน้นการสอนแบบถ่ายทอดสาระ ไม่ให้เกียรติผู้สอนในการประเมิน ขึ้นอยู่กับส่วนกลาง ส่งผลให้สอนเพื่อให้สอบเข้าได้เท่านั้น จนกระทั่งการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวเป็นรูปแบบการสร้างผู้ตาม ไม่ใช่ผู้นำ
ขณะที่ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เท่าที่สังเกตไทยมองประชาคมอาเซียนในความรู้สึกที่แตกต่างกัน เช่น พม่าเคยเผากรุงศรีอยุธยา ลาวเป็นน้องไทย แต่จริง ๆ กลับมีบางสิ่งที่เชื่อมโยงกันอยู่ ทั้งนี้ปัญหาสำคัญของไทยที่ไม่มีใครพูดถึง คือ ความปรองดอง โดยหากเราลดความแตกต่างภายในจิตใจของประเทศได้มากขึ้นเท่าไหร่ ไทยก็จะได้รับประโยชน์จากประชาคมอาเซียนมากขึ้นเท่านั้น .