HIA ชุมชนชี้โรงไฟฟ้าถ่านหินแปดริ้วกันมลพิษไม่ได้ หวั่นเกษตรอินทรีย์สิ้นชื่อ
เอชไอเอชุมชน จี้สผ.ไม่ควรผ่านอีเอชไอเอ ชี้รฟฟ.ถ่านหินฉะเชิงเทราไม่กันปรอท-โลหะหนัก-VOCs-PAH หวั่นเกษตรอินทรีย์ตกเกณฑ์ มะม่วงแปดริ้วสิ้นชื่อ ด้านนักวิชาการ ยันไฟฟ้าพอใช้
เมื่อ 15 กันยายนที่ผ่านมา ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) กรณี “การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพโดยชุมชนจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 MW ต.เขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา” ณ หอประชุมใหญ่วิทยาลัยการอาชีพพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีเครือข่ายชุมชน นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 300 คน
น.ส.สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลระทบด้านสุขภาพ สช. กล่าวว่า เอชไอเอชุมชนกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายจำกัด (มหาชน) เกิดจากการที่ประชาชนได้ยื่นใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ขอให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เนื่องจากกังวลว่าจะมีผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน
"กว่า 2 ปีของการทำงานภายใต้การสนับสนุนของ สช. พบว่า ลุ่มน้ำคลองท่าลาดเป็นแหล่งสำรองพันธุกรรมพืชและแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศไทย ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์และมะม่วง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะเห็ดฟางอันดับ 2 ของประเทศ รวมมูลค่าของภาคเกษตรปีละกว่าพันล้านบาท โรงไฟฟ้าถ่านหินจะทำให้น้ำไม่พอใช้ จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรวมที่สำคัญแม้ว่าเทคโนโลยีที่ทางบริษัทนำมาใช้จะสามารถลดปริมาณซัลเฟอร์ได้ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันการปนเปื้อน ปรอท และโลหะหนัก เช่น แคดเมียม สารหนู ตลอดจนสารอินทรีย์ระเหยและสารประกอบโพลีไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง"
น.ส.สมพร กล่าวถึงสารเหล่านี้หากปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร จะมีการสะสมจนเป็นอันตรายต่อมนุษย์ได้ เมื่อกรกฎาคม ปี 2555 คชก.ได้ใช้ข้อมูลนี้ประกอบการพิจารณาและมีมติไม่ให้ผ่านรายงาน EHIA ของโรงไฟฟ้าแล้ว ส่วนคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.)ได้มติสนับสนุนการทำงานคุ้มครองพื้นที่ลุ่มน้ำคลองท่าลาดเพื่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและสังคมไทย
“ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ฉบับใหม่เสนอคณะกรรมการคณะกรรมการผู้ชํานาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) หลังฉบับแรกไม่ผ่านความเห็นของ คชก. เพราะพบปัญหาผลกระทบภาคเกษตรและน้ำอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังเป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่ คชก. ใช้ข้อมูลจากเอชไอเอชุมชนประกอบการพิจารณารายงานอีเอชไอเอ”
สอดคล้องกับ ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) กล่าวว่าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดที่กล่าวถึงกันกำจัดเพียงซัลเฟอร์ไดออกไซด์ แต่ไม่กำจัดสารอินทรีย์ระเหยหรือ VOCs และ PAH หรือโพลีอะโรมาติคไฮโดรคาร์บอนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและมีอันตรายมาก และโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 MW นี้ใช้ถ่านหินบิทูมินัสเป็นวัตถุดิบหลักถ้าเทคโนโลยีในการดูแลหรือระบบการกำจัดมลพิษไม่สมบูรณ์ จะเกิดสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ทำลายสุขภาพและระบบทางเดินหายใจของประชาชน
"อีกส่วนหนึ่งคือจะเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่าฝนกรดที่มองไม่ออกด้วยตาเปล่า จะต้องมีการเก็บตัวอย่างและวัดด้วยค่ามาตรฐานในน้ำฝนเท่านั้น ฝนกรดมีผลต่อการเพาะปลูกพืชทำให้เจริญเติบโตไม่ดี อีกทั้งยังมีโอกาสที่โรงไฟฟ้าจะสร้างฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีสารอันตรายตกค้างจนทำให้ประชาชนที่อาศัยโดยรอบมีปัญหาสุขภาพในระยะยาว"
ด้านนายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยด้านนโยบายพลังงาน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) กล่าวว่า แม้จะไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 MW โรงนี้ประเทศไทยก็มีไฟฟ้าพอใช้ ดูได้จากการใช้ไฟฟ้าสูงสุดปี 2556 ต่ำกว่าที่กระทรวงพลังงานคาดการณ์ไว้ และแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าหรือ PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 พบว่ากำลังผลิตไฟฟ้าปัจจุบันและอนาคตยังมีสำรองเพียงพอโดยไม่ต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน คือมีกำลังผลิตติดตั้งรวม 33,321 เมกะวัตต์เปรียบเทียบกับการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 26,598 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ช่วง พ.ศ. 2555-2562 ได้มีแผนชัดเจนแล้ว คือมีพลังงานหมุนเวียน 6,095 เมกะวัตต์ การผลิตร่วมไฟฟ้าและความร้อน 5,107 เมกะวัตต์ รวมจะเพิ่มขึ้นอีก 11,202 เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องมีถ่านหิน
ด้านนายกัญจน์ ทัตติยกุล จากโครงการคุ้มครองวิถีชีวิตบนพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดี บางคล้า-คลองเขื่อน กล่าวถึงรายงานเอชไอเอของชุมชนได้ศึกษาผลกระทบใน 2 มิติ คือปริมาณพบว่าการใช้น้ำในคลองท่าลาดทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า และการผลิตน้ำประปา มาคำนวณเป็นบัญชีสมดุลน้ำก็พบว่า น้ำจืดไม่เพียงพอที่เกษตรกรจะนำไปใช้ในการเพาะปลูก และระบบนิเวศน์เสียหาย จากภาวะน้ำเค็มที่หนุนเข้ามามากขึ้น ทำให้ขณะนี้มีสวนผักหลายราย ที่เปลี่ยนไปทำนากุ้งน้ำเค็มแล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ้างว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้ขาดแคลนน้ำ เพราะยังมีภาวะน้ำท่วมทุกปีแสดงว่า น้ำเหนือเข้ามาหนุนตลอด ถือว่าเป็นการหยิบยกเหตุการณ์เดียวมาอ้าง ทั้งที่ความจริงแล้วปริมาณน้ำเฉลี่ยทั้งปีไม่เพียงพอและยังมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ให้เปลี่ยนแปลงไปด้วย
“วิถีชุมชนตอนนี้กระทบมากชาวบ้านต้องปรับตัวให้อยู่กับปัจจุบัน ชาวสวนมะม่วงหายไปจำนวนมาก เพราะน้ำเค็มรุกเข้ามา รวมทั้งสวนหมาก สวนพลู ที่เคยปลูกกันได้อย่างอุดมสมบูรณ์ตอนนี้แทบไม่มีเหลือแล้ว พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจึงมีนับแสนไร่ ทั้งลุ่มน้ำคลองท่าลาด และพื้นที่ชลประทาน อนาคตอาจกระทบต่อน้ำที่นำไปผลิตน้ำประปาด้วย อีกทั้ง คุณภาพน้ำฝนก็ใช้ไม่ได้ จากปกติชาวบ้านจะมีบ่อน้ำตื้น ตอนนี้รอบโครงการที่ขึ้นโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่ก็ใช้อาบยังไม่ได้เลย เด็กจะคันที่ผิวหนัง ชาวบ้านก็เจาะบ่อบาดาลทำประปาชุมชน ส่วนน้ำกินก็ต้องซื้อ"
เครดิตภาพ: ตะวัน พงษ์แพทย์