เสนอมาตรการ 3 ระยะพลิกราคายาง อุดหนุน 2,520 บาทต่อไร่แก้ไม่ตรงจุด
ปัญหาราคายางพารายังไม่จบ สัปดาห์นี้รัฐบาลยังต้องเผชิญกับการชุมนุมปิดถนนของเกษตรกรและกลุ่มสนับสนุนอีกหลายจุด แม้จะปรับเพิ่มเงินอุดหนุนปัจจัยการผลิตจาก 1,260 บาทต่อไร่ เป็น 2,520 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 25 ไร่แล้วก็ตาม
นักวิชาการด้านยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) มองว่าแนวทางการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และยังไม่ตรงจุด
รศ.อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา ม.อ. กล่าวว่า สถานการณ์การผลิตยางพาราไทยใน 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพในนโยบายการเพิ่มมูลค่ายางพาราของรัฐบาล
สำหรับแนวคิดของรัฐบาลที่เสนอให้มีการลดต้นทุนการผลิตโดยการช่วยเหลือในเรื่องปัจจัยการผลิตนั้น เป็นวิธีการแก้ปัญหาระยะสั้น และไม่ตรงจุด เพราะโครงสร้างต้นทุนปัจจัยการผลิตมีเพียง 15-20% จะต้องมีมาตรการการบริหารจัดการเรื่องแรงงานที่ชัดเจนเพิ่มเติมด้วย
ส่วนมาตรการเกี่ยวกับการเร่งรัดการโค่นต้นยางอายุเกิน 25 ปี ถือเป็นแนวคิดในการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำที่ดี แต่ในภาคปฏิบัติทำได้ยาก เนื่องจากรัฐไม่สามารถบังคับให้เกษตรกรโค่นต้นยางและปลูกทดแทนใหม่ได้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงในอนาคตคือปริมาณยางพาราล้นตลาด เนื่องจากในปี 2557 จะเป็นปีที่ประเทศไทยมีผลผลิตยางเพิ่มจากผลผลิตยางในโครงการ 1 ล้านไร่ เพิ่มอีก 2 ล้านไร่ที่อยู่นอกโครงการ คาดว่าน่าจะมีผลกระทบต่อราคายางพาราอย่างแน่นอน
รศ.อาซีซัน กล่าวต่อว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาราคายางพารา โดยการนำยางพาราไปใช้ประโยชน์ด้วยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ เป็นที่ทราบกันดีว่าในปี 2555 ประเทศไทยส่งยางออกในรูปวัตถุดิบ คือ ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น และยางแปรรูปอื่นๆ ประมาณ 3.12 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 86 สร้างรายได้เข้าประเทศ 336,000 ล้านบาท ใช้แปรรูปในประเทศเพียง 0.5 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 14 แต่สร้างรายได้ถึง 260,000 ล้านบาท เมื่อเทียบการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม พบว่า การใช้ยางพาราผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สามารถเพิ่มมูลค่าได้ประมาณ 4.8 เท่าของราคาวัตถุดิบ
ปัจจุบันยางพาราถูกใช้มากที่สุดในอุตสาหกรรมการผลิตล้อรถยนต์ คิดเป็นร้อยละ 70 รองลงมาคือ ถุงมือยาง เส้นด้ายยางยืด ถุงยางอนามัย ยางฟองน้ำ ทั้งนี้ยางพารายังสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นถนนยางมะตอยผสมยางพารา ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่ได้มีการศึกษาวิจัยเอาไว้แล้ว ถ้ามีการผลักดันอย่างจริงจังก็น่าจะทำให้มีการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มมากขึ้น และยังสามารถใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่นๆ เช่น แผ่นยางปูพื้นสำหรับสนามเด็กเล่น สนามกีฬา เป็นต้น เหล่านี้เป็นผลจากการวิจัยที่นักวิจัยในสถาบันการศึกษาได้ศึกษาไว้แล้ว หากมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนก็สามารถนำไปผลิตได้ทันที
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตที่นำไปสู่การแก้ปัญหาราคายางนั้น ควรมีมาตรการระยะเร่งด่วน คือ เจรจากับทุกฝ่ายให้มีการประกันราคายาง ส่วนมาตรการระยะกลาง คือ ภาครัฐต้องมีนโยบายเร่งรัดการใช้ยางในประเทศ การสนับสนุนปัจจัยการผลิต การสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ยางพาราให้ภาคเอกชน และสนับสนุนการลดหย่อนภาษีในระยะแรกของการลงทุน ที่ชัดเจน
ขณะที่มาตรการระยะยาว คือ กำหนดนโยบายควบคุมการขยายพื้นที่ปลูกยาง และมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพการผลิตให้สูงขึ้น กำหนดนโยบายบริหารจัดการแรงงาน และสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมจากยางพาราให้มีมูลค่าเพิ่มโดยรัฐต้องสนับสนุนระยะยาวทั้งโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ และการพัฒนาคน มีการกำหนดเป้าหมายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เป็นระยะ รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนอย่างเต็มที่ด้วย
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : รศ.อาซีซัน แกสมาน
ขอบคุณ : ภาพจากเพจบริการวิชาการ ม.อ.ปัตตานี http://share.psu.ac.th/blog/sttoutreach/23883