2 ปีจำนำข้าวเงินจม 5 แสนล. ดร.วิโรจน์ เสนอรบ.กล้ารับผิดชอบยกเลิกโครงการ
นายก ส.ชาวนาฯ-นักวิชาการ เผยคุณภาพชีวิตชาวนาไม่ดีขึ้น ชี้ต้นทุนเพิ่มสูง เป็นนโยบายสร้างภาระให้ประเทศ แนะส่งเสริมปลูกข้าวต้นทุนต่ำ ยกระดับคุณภาพ หากไม่ปรับแก้ เชื่อเกษตรกรไม่ปล่อยให้ รบ.ลอยนวล
วันที่ 13 กันยายน คณะกรรมการเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ภาคกลางตอนบน ร่วมกับ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการ "จำนำข้าวอย่างไร สังคมไทยจะได้ประโยชน์" ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี ผช.ศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผอ.การวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ร่วมเสวนา
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ที่ประกอบอาชีพชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือน หรือกว่า 20 ล้านคน นับว่าชาวนาเป็นกลุ่มองค์กรที่มีประชากรมาก สำหรับโครงการรับจำนำข้าวมีมาตั้งแต่ในอดีต แต่ไม่ได้ให้ราคาสูงขนาดนี้ ในปัจจุบันที่จำนำข้าวถูกนำมาเป็นนโยบายใช้หาเสียง ราคาสูงถึง 15,000 บาท และประกาศรับจำนำทุกเมล็ด ก็มีความเป็นห่วงแต่แรกแล้วว่าในระยะยาวชาวนาจะประสบปัญหา
"แรกเริ่มโครงการไม่มีปัญหา ชาวนาต่างดีใจ แม้จะขายข้าวไม่ได้ราคา 15,000 บาทตามที่โครงการประกาศจริง เนื่องจากถูกหักตามค่าความชื้นและสิ่งเจือปน กระทั้งโครงการดำเนินมารอบที่ 2 และ 3 รัฐบาลเริ่มตุกติก และเคยเรียกผมเข้าไปคุยว่าจะขอลดราคารับจำนำข้าวจาก 15,000 บาทเหลือ 12,000 บาท เพราะว่าไม่มีเงิน แต่ขณะนั้นผมว่าชาวนาเขาคงไม่เอาด้วย ที่ผ่านมาโครงการรับจำนำข้าวใช้เงินไปหลายแสนกว่าล้านบาท แต่ถึงมือชาวนา 86,000 ล้านบาทเท่านั้น ผมถามว่าแล้วเงินที่เหลือหายไปไหน"
หากถามว่าจำนำข้าวอย่างไรสังคมไทยจะได้ประโยชน์ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า จากสายตาชาวนา เบื้องต้นต้องตั้งคำถามว่าทุกวันนี้ชาวนามีชีวิตที่ดีขึ้นหรือยัง ก็พบว่า ต้นทุนการทำนาของชาวนาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ยังไม่ได้ขายข้าว ทั้งค่าเช่านา ตอนนี้ 1,500 บาทต่อรอบต่อไร่ ซึ่งมีชาวนา 85% ที่เช่านาทำ ค่าฉีดยา ค่าแรง 15-20 คน จ้างรอบละ 2 วัน ค่าปุ๋ยค่ายาต่างเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่นับรวมที่ต้องรับเคราะห์จากโรงสีบางโรงที่โกงค่าความชื้น นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมชาวนาไม่รวย ไม่มีชีวิตที่ดีขึ้น
"ผมเคยพูดแต่แรกแล้วว่าโครงการรับจำนำเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ชาวนาได้ประโยชน์ส่วนหนึ่ง แต่เสียหายมากกว่า จะช่วยเหลือชาวนาให้ได้ประโยชน์จริงต้องคิดโครงการที่พัฒนาชาวนา ใช้งบประมาณ 50,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาทั้งระบบภายใน 3 ปี เชื่อว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลง ตราบใดที่ยังไม่พัฒนาอย่างยั่งยืน วิจัยอย่างจริงจัง 2 ปีข้างหน้าลำบากแน่ แต่ชาวนาบางส่วนยังไม่รู้ตัวว่าจะเกิดชะตากรรมอะไรขึ้นบ้าง" นายประสิทธิ์ กล่าว และว่า ขณะนี้รัฐบาลต้องประกาศให้ชัดเจนจะทำโครงการไปถึงเมื่อใด เพื่อให้ชาวนาปรับตัว หาแนวทางพัฒนาตนเอง ถ้ามีชาวนาลดต้นทุนได้รัฐบาลต้องส่งเสริม ดูแล
"หากรัฐบาลจะเดินหน้าต่อต้องปรับปรุงส่วนที่ทุจริต หากจะกำหนดราคาสูงต้องกำหนดคุณภาพข้าวด้วย กำหนดต้นทุนให้ชัดเจน กำหนดโซนนิ่งเมล็ดพันธุ์ วางกลไกการตลาด ประกาศราคาล่วงหน้า แต่หากรัฐบาลเลือกแก้ปัญหาอย่างที่ทำอยู่ในอีก 2 ปีชาวนาจะแย่ เพราะคนในรัฐบาลไม่รู้เรื่องข้าวอย่างลึกซึ้ง ในการประชุมครั้งหนึ่งที่มีโอกาสเข้าไปนั่งฟังด้วย หลายประเทศนำเสนอแผนพัฒนาข้าวอย่างยั่งยืนที่ชัดเจน ในขณะที่ตัวแทนรัฐบาลไทยนำเสนอแต่ประโยชน์จากโครงการจำนำข้าว แต่ไม่มีแผนพัฒนาในอนาคต"
ขณะที่ดร.ประชา กล่าวถึงปัญหาของโครงการรับจำนำข้าวว่ามีตั้งแต่ตั้งโครงการ ที่ประกาศราคาสูงกว่ารราคาตลาด จำนำทุกเมล็ดและใช้ชื่อว่า 'จำนำข้าว' ซึ่งเป็นเพียงมายาคติ เพราะไม่ใช่การจำนำจริงๆ ไม่มีการไถ่ถอนคืน ขณะที่ชาวนาขายข้าวได้ไม่เต็มราคา ชาวนาเลือกที่จะปลูกข้าวคุณภาพต่ำมากกว่าเดิม เพื่อให้ได้เงินมากที่สุด ดังนั้น จึงเกิดสถานะที่ข้าวคุณภาพต่ำเต็มโกดัง เป็นโครงการที่เอื้อต่อการกักตุนข้าวคุณภาพไม่ดี
"ผมพบว่าในเดือนเดียวกันกับที่รัฐบาลเปิดโครงการจำนำข้าว ตัวเลขการผลิตข้าวจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นทุกประเทศ เพราะรู้ว่าไทยลดการขายข้าวโดยสมัครใจจะซื้อข้าวไปเก็บ ไทยจึงถูกแย่งตลาดไปส่วนหนึ่ง รัฐบาลไม่มีทิศทางรักาคุณภาพข้าว จากการที่ไม่จำกัดขอบเขตข้าวอายุสั้น ท้ายที่สุดข้าวอายุสั้นที่มีอยู่เต็มโกดังจะกลายเป็นอาหารสัตว์"
ดร.ประชา กล่าวต่อว่า จะทำให้สังคมไทยได้ประโยชน์ ต้องยอมรับความจริงและยกเลิกการจำนำอย่างไม่มีทางเลี่ยง แต่ยกเลิกแล้วต้องชัดเจนว่า การแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรจะทำเท่าที่จำเป็น ไม่ใช้เป็นคะแนนเสียง ไม่อย่างนั้นจะแก้ปัญหาโดยรวมไม่ได้ ต้องคิดแล้วว่าจะยกเลิกโครงการอย่างไรให้ชาวนาได้ประโยชน์ แต่ต้องปรับตามกลุ่มพื้นที่ กลุ่มชาวนาที่มีความแตกต่างกัน
ด้านดร.วิโรจน์ กล่าวตอนหนึ่งถึงการแทรกแซงตลาดข้าวในประเทศที่พัฒนาแล้วว่า เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยค่อนข้างมีอำนาจต่อรองสูง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยินดีอุ้มเกษตรกร ทั้งนี้ไม่มีประเทศใดประกาศว่าจะตั้งราคาสูงกว่าตลาดตลอดไป เพราะผลผลิตจะวิ่งเข้าสู่สต็อกของรัฐ ทำให้มีภาระในการขาย ซึ่งสหรัฐอเมริกาเคยประสบปัญหานี้ การอุดหนุนในระยะหลังทำได้ยากขึ้น บางประเทศจึงมีมาตรการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคา เช่น ประกันรายได้ของไทยที่รัฐบาลรับภาระน้อยลง หรือบางประเทศจำกัดพื้นที่ในการปลูก
สำหรับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ดร.วิโรจน์ บอกว่าชาวนาได้ราคาค่อนข้างเต็มจำนวน เนื่องจากการรับจำนำทุกเมล็ดทำให้ชาวนามีอำนาจต่อรองมากกว่าในอดีตมาก จากเดิมที่โรงสีมีอำนาจต่อรองสูง อย่างในพื้นที่ที่มีโรงสีมากพอ เงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดทำให้โรงสีได้กำไรโดยไม่ต้องโกง เช่นในภาคกลาง มีการแข่งขันกันหักความชื้นไม่ครบ ส่วนภาคอีสานพบว่ามีการกดราคาบ้าง
"การหักความชื้นเป็นเรื่องปกติที่แม้ไม่มีโครงการรับจำนำข้าวก็ต้องหักอยู่แล้ว นับว่าจำนำข้าวครั้งนี้ ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกถึงมือชาวนา แต่ขั้นตอนหลังจากการซื้อข้าวพบว่าขาดทุนสูง สูญเสียรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก จนรัฐบาลประสบปัญหาการเงิน ส่งผลให้ชาวนาได้รับเงินล่าช้า จาก 7 วันไปจนถึง 2-3 เดือน กระทั่งโครงการรอบต่อๆ มามีการประกาศกฎเกณฑ์เพิ่มมากขึ้น เช่น ประกาศว่าจะลดราคา โดยที่ชาวนาไม่ทราบล่วงหน้าและได้ลงมือปลูกข้าวไปแล้ว"
ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะพยายามจำกัดปริมาณให้ที่เข้มงวดมากขึ้น แต่การคิดจะใช้งบประมาณ 270,000 ล้านบาทในรอบนี้ เท่ากับว่าจะยังมีข้าววิ่งเข้าโกดังรัฐอีกปีละกว่า 10 ล้านตันเช่นเดิม
ขณะที่การขายข้าวแบบจีทูจีที่รัฐบาลเลิกขายมาเกือบ 30 ปี ทำให้รัฐบาลต้องพึ่งเอกชน ทำให้การควบคุมไม่ให้เกิดทุจริตทำได้ยากขึ้น ใช้เจ้าหน้าที่หลายกระทรวง ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ยังไม่ถูกคำนวณเข้าในต้นทุนของโครงการ อีกทั้ง โครงการนี้ยังสร้างแรงจูงใจในการทุจริต และเป็นการแทรกแซงราคาผลผลิตเกษตรอื่นด้วย เพียงแต่ไม่ปูดชัดออกมา นอกจากนี้ยังสร้างความหวังให้เกษตรกรในการจะยกระดับราคา แต่ไม่สามารถรับภาระได้ สร้างมาตรฐานใหม่ที่เป็นภาระให้แก่ประเทศ
"ที่สุดแล้วผมเสนอให้เลิกโครงการนี้ และรัฐบาลไม่ควรคิด หรืออวดอ้างที่จะยกราคาสินค้าเกษตรให้สูงกว่าราคาตลาดโลก เพราะแม้เบื้องต้นโครงการนี้จะกล้าหาญและทำสำเร็จที่ชาวนาได้ประโยชน์มากขึ้น แต่กระบวนการหลังจากนั้นมีปัญหาทุจริตมากและไม่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น เป็นความสูญเสียของรัฐที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก 2 ปีที่ผ่านมาจึงชัดเจนว่าโครงการนี้ล้มเหลว รุนแรงกว่าในอดีต เงินจมไปกว่า 5 แสนล้านบาท
ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องกล้าหาญที่จะรับผิดชอบว่าความเชื่อและแนวทางนี้ผิด แทนที่จะแก้นิดแก้หน่อยแล้วหวังว่าจะดีขึ้น เพราะที่สุดแล้วเกษตรกรจะไม่ปล่อยให้รัฐบาลลอยนวลจนไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้" ดร.วิโรจน์ กล่าว และว่า รัฐบาลต้องเลิกใช้นโยบายดันสินค้าเกษตรให้สูงกว่าราคาตลาดโลก และช่วยให้รับความเสี่ยงราคาที่ตกต่ำจากแนวโน้มราคาตลาดได้ ไม่ใช่ราคาที่ต่ำกว่าที่อยากได้