“ดร.สุเมธ” ชี้ไทยเสี่ยงภัยพิบัติเพราะจัดการไม่เป็น แนะชุมชนช่วยตัวเองได้กว่า 50%
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาแนะชาวบ้านสร้างเครือข่ายตั้งแต่หมู่บ้านถึงลุ่มน้ำเพื่อการพัฒนายั่งยืน ชี้ชุมชนจัดการภัยพิบัติได้เองเกิน 50%ไม่ต้องรอรัฐ บ้านคลองเรือ พะโต๊ะ-กลุ่มใช้น้ำฝายแม่หาด จอมทอง โชว์ต้นแบบภูมิปัญญาจัดการน้ำท้องถิ่น
เมื่อเร็วๆนี้ ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(สสนก.) จัดแถลงข่าว “ประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554” โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการประกวด กล่าวว่า กระบวนการจัดการน้ำของชุมชนที่ผ่านมายังเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จำกัดอยู่เฉพาะพื้นที่ เป้าหมายต่อไปคือการสร้างเครือข่ายหมู่บ้านให้เกิดเป็นขบวนการลูกโซ่ให้กว้างขวางเท่าที่จะมากได้ นี่คือหัวใจสำคัญของการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน
เลขาธิการมูลนิชัยพัฒนา กล่าวต่อว่า น้ำให้คุณแต่ขณะเดียวกันก็ให้โทษ เห็นได้จากภัยพิบัติที่ผ่านมาซึ่งผู้ได้รับผลกระทบหนักคือชุมชน การบริหารจัดการไม่ใช่เพียงเรื่องของรัฐแต่เป็นเรื่องของประชาชนด้วย ซึ่งชาวบ้านสามารถทำเองได้มากกว่า 50%
ทั้งนี้ผลดีของการสร้างเครือข่ายจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนคือ ชาวบ้านจะมีแนวคิดและกระบวนการที่นำไปสู่การร่วมกันพัฒนาบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ที่กว้างขึ้น อาจขยายไปได้ถึงระดับลุ่มน้ำ ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อเหตุการณ์ต่างๆได้ในอนาคต
“ทุกวันนี้ชุมชนอยู่บนความเสี่ยงไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ถ้าชุมชนมีภูมิคุ้มกันที่ดีเท่ากับประเทศมีภูมิคุ้มกันด้วย อัตราเสี่ยงจะน้อยลง แม้ชาวบ้านไม่มีงบแต่ถ้ามีแนวทางจัดการก็ไร้ปัญหา เพราะบ้านเมืองเรายังเหลือทรัพยากรเยอะ แต่จุดอ่อนเราคือการบริหารจัดการ” ดร.สุเมธ กล่าว
ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการฝ่ายประสานงานและบริหารโครงการพิเศษ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กล่าวถึงโครงการประกวดว่าเป็นการสนับสนุนชุมชนที่น้อมนำแนวพระราชดำริมาจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพและประสานความร่วมมือเป็นเครือข่ายการ จัดการทรัยพากรน้ำชุมชน ขยายผลสร้างแม่ข่ายด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นนำไปประยุกต์ใช้บริหารจัดการน้ำอย่างมั่นคงยั่งยืน
โดยในปีนี้มีกติกาว่าชุมชนที่จะส่งผลงานเข้าประกวดต้องสร้างเครือข่ายการจัดการน้ำระดับพื้นที่อย่างน้อย 3 หมู่บ้านขึ้นไป ด้วยเหตุผลเพื่อขยายพื้นที่และแนวคิดให้กว้างขวาง ส่วนกรอบการตัดสินจะดูที่ผลที่เกิดขึ้นภายหลังนำแนวทางไปปฏิบัติ ทั้งนี้ชุมชนที่สนใจสามารถส่งเข้าประกวดภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้
นายมานะ คล้ายรุ่ง ผู้แทนชุมชนบ้านคลองเรือ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร พื้นที่รางวัลชนะเลิศการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนปี 2553 กล่าวว่า เดิมคนในชุมชนอพยพมาจากหลายจังหวัด ชาวบ้านบุกรุกถางป่าต้นน้ำ ทำให้ลำห้วยเริ่มแห้งขอด จึงมาหารือกันถึงสาเหตุและทำความเข้าใจร่วมกันว่าหากยังทำลายป่าต่อไปจะไม่มีน้ำใช้ จึงรวมกลุ่มฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ทำฝายชะลอความชุ่มชื้นและฝายน้ำล้น และลดต้นทุนเพราะสร้างขึ้นจากแรงงานชาวบ้าน นอกจากนี้ยังสร้างถังพักน้ำแล้วต่อเป็นท่อเล็กๆ จัดสรรน้ำตามการใช้ประโยชน์ของแต่ละพื้นที่ และให้ชุมชนช่วยกันดูแลรักษาป่าในส่วนที่รับผิดชอบอีกทางหนึ่ง
“เรายังเปลี่ยนจากปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาทำเกษตรผสมผสานทำให้มีรายได้ทุกฤดูกาล ตั้งธนาคารต้นไม้เพื่อทดแทนที่ตัดไป วันนี้เรามีป่ามาก มีน้ำใสสะอาด ยังมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำเล็กๆ”
นายประสิทธิ์ พรมมาโนชย์ ผู้แทนจากกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายแม่หาด อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พื้นที่รางวัลรองชนะเลิศการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนปี 2553 กล่าวว่า ชุมชนบริหารจัดการน้ำโดยการขุดเหมืองเลาะเชิงเขายาว 9,800 เมตรโดยแรงงานชาวบ้าน ใช้ระยะเวลาถึง 5 ช่วงอายุคน ผลที่ได้ทำให้มีน้ำตลอดปี มีการจัดสรรน้ำให้พื้นที่การเกษตรผ่านแตและต๊างหรือทางน้ำไหลผ่านเหมืองซอยเล็กๆ
“ชาวบ้านช่วยกันทำฝายดักตะกอนน้ำที่ไหลลงมาจากเขา ทำกันเองไม่ได้ใช้งบรัฐ ความดีความชอบทั้งหลายต้องยกให้ตั้งแต่สมัยปู่ย่าที่เริ่มจัดการน้ำไว้ให้คนรุ่นหลังพัฒนาสืบต่อไป ทั้งหมดเป็นบทพิสูจน์ว่าชุมชนคือจุดเริ่มของการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” นายประสิทธิ์ กล่าว.