‘ยุคล’โปรยยาหอมให้ทุกฝ่ายสามัคคี เชื่อไทยผงาดศูนย์กลางยางพาราโลก
รมว.เกษตรฯ ย้ำชัดไม่แทรกแซงราคายาง หวั่นกระทบตลาดโลก ระบุไทยเป็นผู้นำยางพาราได้ แต่ต้องอาศัยความสามัคคีจากทุกฝ่าย เล็งดึงเวียดนามถกร่วม 3 ปท.ผลิตยางมากสุดโลกกำหนดทิศทางอนาคต
วันที่ 12 ก.ย. 2556 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย จัดสัมมนา ‘อนาคตอุตสาหกรรมยางพาราไทยกับการเป็นศูนย์กลางยางพาราอาเซียน’ ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) ปาฐกถาพิเศษ ‘นโยบายและการพัฒนายางพาราไทย’ ใจความตอนหนึ่งว่า ไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก แต่กลับไม่สามารถกำหนดราคาตลาดเองได้ จึงส่งผลให้เกิดราคาผันผวนตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พยายามผลักดันนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหา โดยให้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และองค์การสวนยางดูแลเกษตรกรในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรได้มีการวิจัยเกี่ยวกับยางพารา ครอบคลุมการเพาะพันธุ์ เก็บเกี่ยวไปจนถึงการส่งออก หากแต่งานวิจัยที่มีอยู่มากยังไม่ถูกนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
รมว.กษ. กล่าวถึงการเตรียมการดูแลด้านอื่นว่า ไทยได้หารือร่วมกับ 2 ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก คือ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ต่อการดูแลรักษาเสถียรภาพยางพาราด้วยการควบคุมปริมาณการผลิต ชะลอส่งสินค้าออกตลาดโลก เพื่อยกระดับราคายางพาราให้สูงขึ้น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบันไทยกับอินโดนีเซียยังส่งออกยางพารามากอยู่ ขณะที่มาเลเซียเริ่มลดการส่งออกยางพาราและหันมารับซื้อแทนแล้ว ที่สำคัญมาเลเซียเริ่มค้นพบว่า พืชที่สร้างรายได้แก่เกษตรกรมากว่ายางพาราคือปาล์มน้ำมัน
ขณะที่จีนได้เข้ามาลงทุนปลูกยางพาราในประเทศเพื่อนบ้านไทยมากขึ้น ทำให้เริ่มมองว่าหากจะมีการหารือเกี่ยวกับเสถียรภาพราคายางในอนาคตจำเป็นต้องจัดระดับอาเซียนหรือไม่ อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยเริ่มมีแนวคิดเชิญเวียดนามเข้าร่วมเวทีแล้ว ทั้งนี้ ลาว กัมพูชา และพม่า ก็ไม่ควรถูกมองข้าม
สำหรับความต้องการยางพาราในอนาคตของโลกมีแนวโน้มลดลงหรือไม่นั้น นายยุคล กล่าวว่า ปัจจุบันผลผลิตยางพาราโลกมีปริมาณเกินความต้องการแล้ว ซึ่งหากมีการบริหารจัดการสต๊อกสินค้าที่ดีโอกาสยังสดใสอยู่ แต่ไม่ควรคาดหวังกำไรมากนัก ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ตลาดต้องสร้างกลไกรายได้เกษตรกรตามความจริง
ส่วนไทยจะเป็นศูนย์กลางยางพาราอาเซียนได้นั้น นายยุคล กล่าวต่อว่า จำเป็นต้องจัดการระบบภายในประเทศให้ชัดเจนก่อน อาทิ ระบบการดูแลเกษตรกร ระบบการตลาด ซึ่งวันนี้กระทรวงเกษตรฯ คาดหวังว่าสกย.จะช่วยเหลือระบบการผลิตยางพาราในประเทศทั้งหมดได้
ทั้งนี้ รมว.กษ.ยังกล่าวถึงปัญหาของชาวสวนยางพาราไทยอีกด้านหนึ่ง คือ ไม่มีตลาดรองรับ จากปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลจึงไม่พยายามชี้นำราคายางพาราโลกหรือประกันรายได้ให้แก่เกษตรกร เพราะอาจส่งผลให้เกิดผลกระทบกับราคายางพาราในตลาดโลก
“มีคนพูดกับผมว่า ท่านทำเถอะไม่มีปัญหาหรอก เป็นซานตาครอสหน่อย ซึ่งหากรัฐบาลทำตัวเป็นซานตาครอส นักธุรกิจก็มองว่า มีคนมารับหน้าแทนแล้ว” นายยุคล กล่าว และว่าจริงอยู่สต๊อกยางที่ค้างอยู่ 2 แสนตันอาจไม่มากนักเมื่อเทียบสัดส่วนในตลาดโลก แต่เมื่อเป็นสต๊อกในการดูแลของรัฐบาล เมื่อขายตลาดเมื่อไหร่จะเป็นผลทางจิตวิทยาให้ราคาตลาดดิ่งลง
นายยุคล กล่าวด้วยว่า เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรมีหลักประกันและความเข้มแข็งของตนเอง ซึ่งส่วนตัวเชื่อหากเกษตรกร 1.7 แสนครัวเรือนพูดคุยกันด้วยเหตุผลจะเดินต่อไปได้ แต่หากไม่พูดคุยด้วยเหตุผล โดยให้รัฐบาลเซ็น MOU ในวันที่ 13 ก.ย. 56 อีก ทั้งที่ให้การช่วยเหลือมากแล้ว ถ้ายังเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อยู่ยากที่จะเป็นผู้นำอาเซียนได้ ตราบใดที่ในประเทศยังเกิดปัญหา
"วันนี้ต้องสร้างความเข้าใจกับเกษตรกร ซึ่งต้องเชื่อมโยงให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกันระหว่างเอกชนกับเกษตรกร ซึ่งหากทุกฝ่ายเกิดความสามัคคี ไทยจะเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลกได้ด้วย แต่ขึ้นอยู่กับทุกฝ่ายต้องพูดคุยกันด้วยข้อเท็จจริงและยึดถือประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ จึงจะส่งผลให้ยางพาราของไทยไปได้ แม้เศรษฐกิจจะอ่อนแอก็ตาม" รมว.กษ.กล่าว .
ที่มาภาพ: http://www.manager.co.th/politics/viewnews.aspx?NewsID=9560000109202