'สมพร เพ็งค่ำ' ตอบประเด็นร้อน "บ. ทุ่งคำ ทำผิดรธน. ม. 67 " ใช้กองกำลังสกัดการมีส่วนร่วม
‘สมพร เพ็งค่ำ’ ชงรัฐตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงพื้นที่เปื้อนพิษ หวังลดผลกระทบตกชุมชน ระบุเวที EHIA กีดกันกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดค้านเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ส่อผิดมาตรา 67 วรรคสอง ย้ำต้องฟังความเห็นแง่บวก-ลบ
จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2556 กรณีกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย พร้อมนักศึกษาจากม.ขอนแก่นและมหาสารคาม ได้ถูกกีดกันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Pubic Scoping) ค.1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำ ‘รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment:EHIA)’ ประกอบคำขอประทานบัตรที่ 76/2539 ในพื้นที่ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย เพื่อทำโครงการเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง และเงิน ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์ ‘สมพร เพ็งค่ำ’ ผอ.ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หนึ่งในทีมงานวิจัยผู้ลงพื้นที่ติดตามกรณีเหมืองแร่ทองคำในไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสะท้อนให้เห็นการประกอบการอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทย ณ วันนี้เป็น "ความหวัง" หรือ "ฝันร้าย" ของคนในพื้นที่
@ เท่าที่ติดตาม ปัจจุบันนี้ไทยมีการให้สัมปทานเหมืองแร่ทองคำกี่แห่ง
ปัจจุบันไทยมีเหมืองแร่ทองคำที่เปิดสัมปทานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 2 แห่ง คือ เหมืองแร่ทองคำวังสะพุง จ.เลย และเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อจ.พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
@ ความเป็นมาสาเหตุที่ชาวบ้านจ.เลย ต้องลุกขึ้นมาต่อต้านเหมืองแร่ทองคำ
ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า จังหวัดเลยมีการสำรวจเหมืองแร่มาตั้งแต่ปี 2538-39 เมื่อพบพื้นที่มีศักยภาพแร่ทองคำมากพอที่จะประกอบการเชิงพาณิชย์ จึงมีการยื่นขอสัมปทานการทำเหมืองแร่ ซึ่งครั้งแรกเกิดขึ้นที่อ.วังสะพุง จ.เลย แต่ชาวบ้านมิได้รู้ข้อมูลมากนัก โดยบริษัทได้ยื่นขอสัมปทานเมื่อปี 2548 และได้จัดทำรายงานEHIA ซึ่งปีนั้นรัฐธรรมนูญไทยยังไม่ได้กำหนดเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 ชาวบ้านจึงไม่รู้เรื่องการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นว่าดำเนินการตั้งแต่เมื่อไร
“ ชาวบ้านในพื้นที่เป็นชุมชนเล็ก ๆ ติดภูเขา มีอาชีพเเรงงานรับจ้าง ทำเกษตรเเบบยากลำบาก บ้างก็ขายล๊อตเตอรี่ จึงไม่มีใครลุกขึ้นมาตั้งคำถามอะไรมากนัก ยกเว้นความกังวลเล็กน้อยเท่านั้น”
มาเริ่มตื่นตัวจริงจังเมื่อมีการระเบิดเหมืองแร่ทองคำ แม้จะมีเจ้าหน้าที่บอกชาวบ้านว่า การระเบิดจะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ แต่เมื่อเหตุการณ์จริงกลับก่อให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย เสียงดัง จนนอนไม่หลับและเกิดอาการระคายเคืองตามผิวหนัง
ส่วนประเด็นสารพิษปนเปื้อนในแหล่งน้ำยังไม่ชัดเจนว่า เกิดจากสาเหตุใด เพราะกระบวนการผลิตนั้นต้องมีการขุดขุมเหมืองและระเบิด เพื่อนำดินที่มีทองคำเข้าสู่กระบวนการแต่งแร่ในโรงแต่งแร่ในพื้นที่สัมปทานเดียวกัน โดยใช้สารเคมีหลัก คือ ‘สารไซยาไนด์’ โดยขณะนั้นกระบวนการผลิตเพิ่งเริ่มต้นขึ้น ทำให้สารเคมีที่ไหลลงแหล่งน้ำระบุชัดถึงต้นตอไม่ได้
จึงสรุปได้ว่า ผลกระทบระยะแรกช่วงปี 2549-50 เกิดจากกระบวนการขุดเหมืองแร่ทองคำก่อน
ขณะที่ผลกระทบจากการแต่งแร่นั้น เริ่มต้นขึ้นราวปี 2550-52 โดยภาครัฐได้ตรวจสอบสารพิษปนเปื้อนในแหล่งน้ำ
@ปัจจุบันสารพิษปนเปื้อนในแหล่งน้ำยังหาสาเหตุไม่ได้ใช่ไหม
การปนเปื้อนในแหล่งน้ำได้ผ่านการตรวจสอบของภาครัฐเป็นระยะ ๆ และเจอการปนเปื้อนในแหล่งน้ำทั้งใต้ดินและผิวดิน โดยเฉพาะลำห้วยที่มีการเชื่อมต่อกับบ่อไซยาไนด์ที่กักเก็บสารพิษลงมาสู่ลำห้วย
กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศห้ามชาวบ้านดื่ม! เนื่องจากมีการตรวจพบสารไซยาไนด์และสารหนูที่มีค่าเกินมาตรฐาน แต่กลับไม่มีการบำบัดเลย
นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารไซยาไนด์ สารปรอท และสารตะกั่ว ในเลือดของชาวบ้าน ซึ่งยังไม่มีวิธีรักษาเพื่อกำจัดสารอันตรายเหล่านี้ออกจากร่างกาย
จุดอ่อนเรื่องนี้ คือ พอมีการปนเปื้อนก่อให้เกิดการเฝ้าระวังเรื่อย ๆ แต่กลับไม่มีการพูดถึงวิธีการบำบัดสารพิษออกจากสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายสู่ห่วงโซ่อาหารและมนุษย์ กระทั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อปี 2554 ให้พิสูจน์หาสาเหตุของการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ศึกษาผลกระทบ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่มีการมอบหมายหน่วยงานดำเนินการศึกษาอย่างชัดเจน
จนถึงปัจจุบัน ปี 2556 ยังไม่มีคำตอบออกมา...
@บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ออกมาชี้แจงถึงกรณีสารปนเปื้อนในแหล่งน้ำอย่างไรบ้าง
บริษัทฯ บอกว่าได้ตรวจสอบและพบค่าการปนเปื้อนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงไม่มีรายงานการศึกษาใดที่ระบุสาเหตุการปนเปื้อนสารเคมีกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอันเกิดจากการสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ
ดังนั้นปี 2555 สช.จึงลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกับนักวิชาการหลายสาขา ทั้งด้านการแพทย์ สิ่งแวดล้อม วิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ เภสัชกร เพื่อทำการศึกษาตามโจทย์ที่วางไว้ 4 ข้อ ได้แก่ 1.การพิสูจน์ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งได้แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมกับกลุ่มเสี่ยง
กลุ่มเสี่ยง:ได้มีการศึกษาผ่านการทำแบบสอบถามเพื่อเก็บตัวอย่างเชิงสถิติ ทั้งในแง่พฤติกรรมการทานอาหาร ดื่มน้ำ และปัญหาสุขภาพ พร้อมตรวจเลือดชาวบ้านหาค่าสารพิษตกค้างในร่างกาย ได้แก่ สารไซยาไนด์ สารปรอท สารหนู และแมงกานีส
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้เคียง โดยจะเก็บข้อมูลด้านการดำรงชีวิต สิ่งแวดล้อม มีลักษณะคล้ายกันอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ประสบปัญหา
2.สิ่งแวดล้อม จะดูการปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านอาศัย ซึ่งโจทย์นี้ต้องวิเคราะห์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการผลิตเหมืองแร่ทองคำกับการปนเปื้อนสารเคมีด้วยว่าเกี่ยวโยงกันอย่างไร
3.การเปลี่ยนแปลงด้านผลกระทบทางจิตใจ สังคม และการประกอบอาชีพ และ 4.เศรษฐศาสตร์ จะมองว่าเหมืองแร่ทองคำนั้นเมื่อวิเคราะห์ค่าภาคหลวงกับสิ่งที่สูญเสียไปในระบบนิเวศต่าง ๆ มีความคุ้มค่ากำไรและขาดทุนอย่างไร ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะพยายามเชื่อมโยงไปสู่ภาคนโยบายด้วย
@ มีการสรุปผลการศึกษาหรือยัง
ขณะนี้เก็บตัวอย่างเลือดของชาวบ้านเสร็จแล้ว แต่กำลังอยู่ในขั้นตอนการส่งตรวจผลในห้องแล็ป ซึ่งคาดว่า ภายในเดือนหน้าผลพิสูจน์เลือดจะเสร็จสิ้น
ทั้งนี้ จะมีการนำผลเลือดทั้งหมดไปกำหนดจุดบนแผนที่ชุมชนเพื่อหาการกระจุกและกระจายตัวของชาวบ้านที่มีการปนเปื้อนสารพิษในร่างกาย
เช่นเดียวกับอาหารที่มีการเก็บตัวอย่างแล้ว แต่กำลังอยู่ในขั้นตอนการส่งตรวจในห้องแล็ป
@ ถึงวันนี้ประเทศไทยควรมีการตั้งกองทุนความเสี่ยงกิจการเหมืองแร่หรือไม่
จริง ๆ แล้วควรทำและเป็นสิ่งที่เราพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น
เนื่องจากวันนี้ไทยมีปัญหาไม่เฉพาะเหมืองแร่ทองคำเท่านั้น แต่ยังมีโรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าต่าง ๆ โดยกองทุนที่เสนอนั้นควรเป็นลักษณะกองทุ นประกันความเสี่ยง
ยกตัวอย่าง เมื่อมีการสัมปทานเหมืองแร่ ย่อมรู้ว่ามีความเสี่ยงที่อาจต้องให้วางเงินประกัน แต่ต้องคำนวณว่าควรมีสัดส่วนกี่เปอร์เซนต์ของเงินลงทุน และเมื่อเกิดการตรวจพบสารไซยาไนด์ในแหล่งน้ำ ไม่จำเป็นต้องรอผลพิสูจน์สารพิษนั้นกำเนิดจากแหล่งใด
แต่เราจะรู้ว่าเมื่อมีกิจการเหมืองแร่ทองคำตั้งอยู่ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยง ควรนำเงินประกันส่วนนี้เข้ามาจัดการฟื้นฟูเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ ตลอดจนการพิสูจน์ควรมีทีมนักวิชาการที่เป็นกลางเข้ามาตรวจสอบหาสาเหตุการปนเปื้อน หากพบว่า เกิดจากการสัมปทานเหมืองแร่ทองคำจริงจะต้องรับผิดชอบ
แต่หากพบว่า ไม่ได้เกิดจากการสัมปทานเหมือง รัฐบาลต้องเข้ามาสมทบกองทุนแทน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาโดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ได้
“เหมืองแร่ทองคำ จ.เลย เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 จนปัจจุบัน ยังมีการถกเถียงกันอยู่ว่าสารพิษที่ปนเปื้อนในพื้นที่นั้นมาจากเหมืองแห่งนี้หรือธรรมชาติ”
ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องผลักดันให้เกิด "กองทุนประกันความเสี่ยง" เพื่อลดภาระการพิสูจน์ไม่ให้ตกเป็นของชุมชน โดยเฉพาะสารพิษที่เป็นเรื่องซับซ้อนต้องใช้เทคนิคทางวิชาการที่เชี่ยวชาญสูง
@ในต่างประเทศมีกองทุนลักษณะเดียวกันหรือไม่
มีในสหรัฐอเมริกาและไต้หวัน ซึ่งต้องยอมรับว่า ไทยไม่มีกฎหมายดูแลพื้นที่ปนเปื้อนโดยเฉพาะ แต่ในต่างประเทศมีกฎหมายประเภทนี้ ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรอให้ใครพิสูจน์ แต่จะมีองค์กรอิสระที่ทำงานภายใต้กฎหมายฉบับนี้ด้วยงบประมาณและผู้เชี่ยวชาญที่ปฏิบัติตามหลักวิชาการในการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบต่อระบบนิเวศ มนุษย์ และสัตว์
“เรื่องเหมืองแร่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535, พ.ร.บ.เหมืองแร่ พ.ศ.2510 ทำให้เมื่อเกิดปัญหาไม่รู้ว่าใครจะมาเป็นเจ้าภาพ เห็นได้ชัดกับเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย ไม่มีเจ้าภาพในการพิสูจน์สารพิษ ทั้งที่ชาวบ้านล้มป่วยและเสียชีวิต”
จะถามผลจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) คงไม่ได้ เพราะปฏิบัติในขอบเขตการตรวจ ติดตาม และบอกว่ามีการปนเปื้อนหรือไม่ หากแต่การบำบัดฟื้นฟูยังไม่มีเจ้าภาพจริงจัง ฉะนั้นในมุมมองถึงเวลาแล้วที่ไทยจะมีกฎหมายเฉพาะพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษ
@หากอนาคตยังไม่มีการระบุสาเหตุการปนเปื้อนสารพิษ ชาวบ้านควรทำอย่างไร
สิ่งหนึ่งที่พยายามให้ความสำคัญ คือ การทำกระบวนการชุมชน โดยสร้างแผนที่ชุมชนขึ้นมาให้ชาวบ้านได้รู้ที่ทำกินของตนเอง และเกิดกระบวนการเรียนรู้ถึงขั้นตอนการทำเหมืองแร่ทองคำและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเบื้องต้นชาวบ้านจะได้รู้วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตในพื้นที่
@มุมมองเหตุการณ์กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดถูกกีดกันไม่ให้เข้าประชุมเพื่อคัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำ นาโป่ง จ.เลย
บริษัท ทุ่งคำ จำกัด กำลังทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง กล่าวคือ เหมืองแร่ทองคำถือเป็นกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนรุนแรง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จึงต้องจัดทำรายงาน EHIA ซึ่งกระบวนการที่สำคัญจะต้องจัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยละเอียด ในแง่ของผู้เห็นด้วยและคัดค้าน
ส่วนสาเหตุที่ต้องจัดรับฟังทั้งสองด้านนั้น เนื่องจากต้องรวบรวมข้อกังวลของทุกกลุ่มเพื่อกำหนดเป็นโจทย์ในการศึกษาผลกระทบ เพราะหากไม่สามารถรวบรวมได้ หมายถึง การขาดข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ประกอบการตัดสินใจ
“ถ้าตนเองเป็นสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คิดว่ากระบวนการนี้ไม่ถูกต้อง ไม่สามารถยอมรับได้ว่าเป็นขั้นตอนที่ 1 ของการทำ EHIA เพราะมีการกีดกันอย่างชัดเจนไม่ให้ฝ่ายหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นผ่านการใช้กองกำลัง จึงไม่ยอมรับได้ว่าเป็นกระบวนการวิชาการ”
ก่อนจะทิ้งท้ายว่า ชาวบ้านสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายในการฟ้องร้องได้ โดยเอาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นตัวตั้ง ทั้งนี้รู้สึกเสียดายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในขั้นตอนทางวิชาการเช่นนี้ .
ที่มาภาพ:http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=36&chap=4&page=t36-4-detail.html