รพ.บำรุงราษฎร์ แจงข่าวลือไตรโคลซานก่อมะเร็งในผลิตภัณฑ์ดังไม่เป็นจริง
รพ.บำรุงราษฎร์ ไขข้อข้องใจ ยันข่าวลือไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์ดังหลายยี่ห้อก่อมะเร็งไม่เป็นจริง ไม่ใช่ผู้เผยแพร่ ชี้เป็นข้อมูลเก่า ด้าน อย.ออกประกาศ ปชช.อย่าตื่นตระหนก แจงไม่เป็นอันตราย มั่นใจได้ สมาคมผู้ผลิคเครื่องสำอาง
(ขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.thaihealth.or.th)
หลังจากที่มีการแพร่กระจายในโซเชียลมีเดียว่า โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เผยแพร่ข่าวว่า อเมริกาประกาศเรื่องสารก่อมะเร็ง 'ไตรโคลซาน' ในผลิตภัณฑ์ ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก โฟมล้างหน้า สบู่ แป้งเย็น สบู่เหลวล้างหน้าและโฟมล้างหน้าชื่อดังหลายยี่ห้อในตลาด ว่าจากการวิจัยที่พบในอังกฤษ สารที่ผสมในผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะทำปฏิกริยากับน้ำคลอรีน (น้ำประปาที่ใช้อยู่) เกิดเป็นก๊าซคลอโรฟอร์ม และเมื่อร่างกายได้รับก๊าซนี้มากๆ จะทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคตับและอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็ง จึงมีการประกาศว่าให้หยุดใช้ หยุดซื้อใช้เพื่อความปลอดภัยนั้น
"สำนักข่าวอิศรา" ได้ติดต่อไปยัง รพ.บำรุงราษฎร์ เพื่อตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว ซึ่งทางโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ยืนยันว่า ข้อมูลที่มีการเผยแพร่ออกไปนั้นไม่ได้มาจากทางโรงพยาบาลแต่อย่างใด รวมถึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ และเป็นข้อมูลที่นานมาแล้ว อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีผู้โทรเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงกับจำนวนหนึ่ง ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ได้ชี้แจงไปแล้ว
ขณะที่ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศถึงกรณีดังกล่าว ในหัวข้อ "ความปลอดภัยของการใช้สารไตรโคลซาน (Triclosan) ในเครื่องสำอาง" โดยระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว พบว่าสาระสำคัญ ดังนี้
1.เมื่อปี พ.ศ. 2548 มีการเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยของ Peter Vikesland จาก Virginia Polytechnic Institute and State University ใน Environmental Science & Technology Online News ระบุว่า สารไตรโคลซาน สามารถทำปฏิกิริยากับคลอรีน เกิดเป็นคลอโรฟอร์ม ซึ่งอาจถูกดูดซึมผ่านผิวหนังหรือเมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกาย อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2550
นักวิจัยกลุ่มเดิมได้ทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม (http://pubs.acs.org/subscribe/journals/esthag-w/2007/feb/science/ee_chloroform.html) และพบว่า เมื่อนำผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย (Personal hygiene products) ทั้งที่มีส่วนผสมของไตรโคลซานและปราศจากไตรโคลซาน จำนวน 16 รายการมาทำปฏิกิริยากับ Free chorine ที่ pH 7 อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส พบว่าผลิตภัณฑ์ที่ผสมไตรโคลซานจะก่อให้เกิดสารหลายชนิด เช่น (chlorophenoxy) phenol, 2,4-dichlorophenol, 2,4,6- trichlorophenol และ chloroform แต่ถ้าลดอุณหภูมิของน้ำลงจาก 40 องศาเซลเซียสเป็น 30 องศาเซลเซียส ปริมาณคลอโรฟอร์มที่เกิดขึ้นก็จะลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า สมควรมีการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับจากผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่อไป
2.เนื่องจากการศึกษาวิจัยดังกล่าวเป็นการทดลองในห้องปฏิบัติการ ปฏิกิริยาที่ก่อให้เกิดเป็น คลอโรฟอร์มนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ความเข้มข้นของไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์ ความเข้มข้นของคลอรีนในน้ำ ความเป็นกรด-ด่าง ระยะเวลาที่เกิดปฏิกิริยา รวมทั้งอุณหภูมิของน้ำด้วย ขณะนี้จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไตรโคลซานก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค
ดังนั้น ผู้บริโภคยังไม่ควรตื่นตระหนกเกี่ยวกับอันตรายของไตรโคลซานในเครื่องสำอางตามที่เป็นข่าว
3.ไตรโคลซาน เป็นสารที่มีคุณสมบัติยับยั้งแบคทีเรีย (Antibacteria) จึงนิยมใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาดหลายชนิด เช่น สบู่ ครีมอาบน้ำ ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ตลอดจนน้ำยาล้างจานด้วย โดยพบว่ามีการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น เป็นวัตถุกันเสียและเป็นสารยับยั้งแบคทีเรีย เป็นต้น
4.ขณะนี้ประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น รวมทั้งสหภาพยุโรปและอาเซียนยังคงอนุญาตให้ใช้สารไตรโคลซานเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้ ซึ่งเมื่อติดตามข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้สารไตรโคลซานแล้วพบว่า ปัจจุบันสารนี้ยังคงมีความปลอดภัย เมื่อนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง
5.ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตและนำเข้าเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยในขณะนี้ อย. อนุญาตให้ใช้สารไตรโคลซานเป็นวัตถุกันเสียที่ความเข้มข้นไม่เกิน 0.3% ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคตามมาตรฐานสากล จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในการใช้เครื่องสำอาง อย่าได้ตื่นตระหนกกลัวตามที่เป็นข่าว
ด้านสมาคมผู้ผลิคเครื่องสำอางไทย ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของสมาคมฯ เช่นกันว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเก่าเมื่อปี 2552 ที่มีผู้นำมาแพร่กระจายใหม่ ซึ่งทางสมาคมฯ ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และได้รับการยืนยันว่า โรงพยาบาลฯ ไม่ได้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สารไตรโคลซานสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยตามขนาดการใช้ที่คณะกรรมการอาหารและยาอนุญาต