คปก.แนะแก้ ม.190 ให้นิติบัญญัติเป็นตัวแทน ปชช.ดุลอำนาจฝ่ายบริหาร
คปก.เสนอความเห็น แก้ไข รธน.มาตรา 190 ให้ ปชช.มีส่วนร่วมทำสัญญาระหว่างประเทศด้านทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม ใช้กลไกนิติบัญญัติถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ชี้มีการทำสัญญาผูกพัน กระทบการคลังชาติ
วันที่ 11 กันยายน นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคปก.เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล
จากการพิจารณาศึกษาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) ทั้งจากสำรวจ ศึกษา และวิเคราะห์ทางวิชาการ ประกอบกับการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คปก.มีความเห็นและข้อเสนอแนะว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190 ควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
โดย คปก. เห็นว่ามาตรา 190 มีเจตนารมณ์ที่จะสร้างความโปร่งใสและสร้างดุลยภาพระหว่างการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศกับการมีส่วนร่วมของฝ่ายนิติบัญญัติและประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย มีหลักการแก้ไขเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเหมาะสมในเวลาอันควร ตลอดจนเพิ่มพูนข้อมูลและอำนาจการต่อรองให้แก่คณะผู้เจรจาในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวจึงควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศด้วย
หากพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) ที่คณะกรรมาธิการฯพิจารณาแล้วเสร็จ ได้เพิ่มเติมประเภทหนังสือสัญญาที่มีบทเปิดเสรีด้านการค้าการลงทุน ซึ่งยังไม่ครอบคลุมเพียงพอกับการเปลี่ยนแปลงหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ แม้ว่าปัจจุบันจะมีแนวโน้มการทำสนธิสัญญาเพื่อเปิดเสรีด้านการค้าการลงทุนเป็นจำนวนมากในขณะเดียวกันโลกยุคปัจจุบันมีการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน
ดังนั้น เมื่อมีการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่มีบทเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงไปซึ่งทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆ เช่น พลังงานปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ หรือทรัพยากรน้ำ เป็นต้น อาจจำเป็นต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนของปวงชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะเป็นการกระทำที่มีผลกระทบต่อประเทศชาติโดยส่วนรวมเพราะทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป
นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีแนวโน้มที่ฝ่ายบริหารไปทำหนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันและผลกระทบต่อการเงินการคลังของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีในฐานะฝ่ายบริหาร แต่เมื่อการทำหนังสือสัญญากู้เงิน
เช่น การทำหนังสือสัญญากู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก การใช้คืนเงินกู้ย่อมกระทบต่อระบบงบประมาณของประเทศ และส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม คปก.เห็นว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนของประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ หากฝ่ายบริหารไปดำเนินการทำสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ใช่เพื่อความร่วมมือทางวิชาการหรือการทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อการเงินการคลังของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ อาจจำเป็นต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนของปวงชนชาวไทยด้วย เพื่อความโปร่งใส รอบคอบ และเพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ