วิจัยชี้ชาวนาใช้ปุ๋ยเคมีเร่งผลผลิต ลดความเสี่ยงที่เหนือการควบคุม
งานวิจัยชี้ชาวนารุ่นใหม่ละทิ้งวิถีทำนาแบบเดิม เน้นปุ๋ยเคมี-สารกำจัดศัตรูพืช หวังเพิ่มผลผลิตโกยเงิน ‘จำนำข้าว’ ระบุ ภาพลักษณ์เดิมๆ ‘หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน’ เริ่มหาย เหลือเพียงผู้จัดการธุรกิจนา
วันที่ 10 ก.ย. 2556 พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการ ‘คน ข้าว นา ควาย ในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
โดยดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ กลุ่มจับตาประชาสังคมไทย นำเสนองานวิจัย ‘ข้าวและชาวนาไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง’ กล่าวตอนหนึ่งว่ากิจกรรมในภาคการเกษตรมีบทบาทน้อยลงมากเมื่อเทียบกับอดีต ทำให้เกิดการทิ้งผืนนาร้างเพื่อหันไปปลูกพืชทางเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลุ่มน้ำปากพนัง หรือพื้นที่ราบในจ.พัทลุง ที่เคยขึ้นชื่อเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้ เหตุการณ์เหล่านี้นำมาสู่ความกังวลของภาคประชาสังคมอาจก่อให้เกิดการขาดแคลนอาหารและสร้างความเดือดร้อนต่อผู้มีรายได้น้อยต้องเจียดเงินร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมดนำไปซื้ออาหารแทน
ดร.ชลิตา กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากชาวนารุ่นหลังละทิ้งค่านิยมดั้งเดิมของการทำนา เพราะมีความอยากได้ใคร่รวย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจนี้ก็มีผลสืบเนื่องมาจากโครงการพัฒนาจากภาครัฐด้วย เช่น การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและการไหลของน้ำ ที่เป็นผลจากการพัฒนา ในพื้นที่จ.ชายแดนใต้ พบว่า ถนนหลายสายถูกสร้างขวางทางน้ำ และการสร้างระบบชลประทานก็ทำให้การไหลของน้ำเปลี่ยนไป หลายพื้นที่ทำนาไม่ได้ เกิดเป็นนาร้าง และมีการปรับที่นามาเป็นสวนยาง หรือสวนปาล์มน้ำมัน
“ตั้งแต่ปี 2547 ภาคประชาสังคม รัฐบาล และกองทัพ ได้เข้าส่งเสริมกิจกรรมฟื้นฟูนาร้างในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดการขยายตัวของนาปรังมากขึ้น” ผู้วิจัยกล่าว และว่า สิ่งที่น่าสนใจ คือ โครงการที่เน้นวาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียงนี้ หากแต่ชาวนากลับมองข้ามวาทกรรมดังกล่าว นอกจากให้ความสำคัญเพียงเพื่อลดรายจ่ายค่าอาหารลง และนำเงินที่เหลือไปลงทุนด้านอื่นเท่านั้น
ดร.ชลิตา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันไม่มีครัวเรือนใดที่จะดำรงชีวิตด้วยอาชีพทำนาอย่างเดียวได้อีกแล้ว ขณะที่การทำนาที่เน้นการใช้ปุ๋ยและสารเคมีเข้มข้นก็ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของชาวนาจากเดิม ‘หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน’ ที่ต้องใช้แรงงานตนเองเป็นหลัก มาเป็นผู้จัดการธุรกิจนา ที่ต้องบริหารเงินทุน การว่าจ้าง เพื่อให้ได้ผลผลิตมากที่สุด
สำหรับระบบการตลาดค้าข้าวเปลือก ดร.ชลิตา กล่าวว่า ชาวนาไม่สามารถต่อรองใด ๆ ได้ ดังนั้นการทำทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มผลผลิตจึงเป็นหนทางเดียวที่ชาวนาจะใช้ได้ และที่ชาวนาส่วนใหญ่ไม่ใช้วิธีอินทรีย์ในการทำนานั้น เพราะยังไม่มั่นใจที่จะรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ภาครัฐมีการส่งเสริมข้อมูลแบบชั่วครั้งชั่วคราว
ส่วนชาวนาหลายคนที่มักถูกมองว่าเป็นปัญหาของประเทศ เพราะมุ่งใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมีจนส่งผลเสียต่อระบบนิเวศทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมถึงสร้างความยากจนให้แก่ชาวนา ผู้วิจัย ชี้ว่า ทั้งหมดเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวนาที่มีต่อนโยบายรัฐและทุน
“นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมมองชาวนาว่า เป็นปัญหาของประเทศ เพราะชาวนาคือฐานเสียงที่สำคัญทางการเมืองที่รัฐบาลต้องมีนโยบายเฉพาะในการช่วยเหลือเพื่อยกระดับราคาผลผลิต ซึ่งเป็นภาระทางการคลังที่หนักอึ้ง โดยนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมมักเสนอให้ลดจำนวนชาวนาลง หาทางให้ชาวนายากจน โดยเฉพาะในรายที่มีที่ดินน้อยออกจากภาคเกษตร เพราะหากทำนาไปมีแต่ไม่คุ้มทุน" ดร.ชลิตา กล่าว และว่า แต่โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยุคนี้กลับสร้างแรงจูงใจให้คนกลับมาทำนามากขึ้นแทน พร้อมพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากที่สุด เช่น ใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งโครงการนี้ชาวนาไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง
-
file download