นักวิชาการแนะรับฟังความเห็นโครงการน้ำอย่ามีสูตรสำเร็จรูปวางไว้ก่อน
นักวิชาการติงภาครัฐจัดรับฟังความเห็น ปชช.ต่อโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน อย่ากลัวถูกประเมิน แนะทำตามหลักประชาพิจารณ์ หาจุดร่วมกับพื้นที่ได้รับผลกระทบ อย่าเตรียมการ-มีสูตรสำเร็จรูปไว้ก่อน
วันที่ 10 กันยายน สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนา "คนในกระแสน้ำ/งบ 3.5 แสนล้าน : สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรจากน้ำท่วม" ณ ห้องสัมมนา 3 สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มธ. ศูนย์รังสิต โดยมีการนำเสนอผลการศึกษา 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ข้อคิดจากอุทกภัย 2554 เพื่อวางแผนรับมือภัยพิบัติ 2.วิกฤตน้ำ (Water Crisis) กับการเรียนรู้ตลอดชีวิต 3.การตอบสนองต่อน้ำท่วม : ทบทวนงานวิจัยเรื่องเล่าจากผู้ประสบภัย 4.เรื่องเล่าจากภาคสนาม...ที่น้ำท่วม : ชุมชนการปรับตัวและการช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ ในยามภัยพิบัติ 5.สื่อสังคมกับการบริหารจัดการข้อมูลในช่วงภัยพิบัติ
รศ.ดร.ศิริณา จิตต์จรัส อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในคณะทำงานลงพื้นที่และศึกษารายงาน กล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ วงเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ที่ขณะนี้กำลังจัดนิทรรศการเผยแพร่ข้อมูล ณ ชั้น 1 ห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ และเตรียมที่จะจัดเวทีรับฟังความเห็นในอีก 36 จังหวัดว่า ก่อนจะจัดรับฟังความเห็นต้องตรวจสอบก่อนว่า ประชาชนบางส่วนมีอคติด้านลบ และบางส่วนก็สนับสนุนโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ ดังนั้น รัฐบาลต้องไม่กลัวการถูกประเมิน
"สังคมไทยต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ การประเมินเป็นการตรวจสอบ อะไรไม่ดีก็ปรับ อะไรดีก็เดินหน้าต่อ โดยเฉพาะกระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนในการทำโครงการใหญ่ๆ ต้องเริ่มให้ถูก ไม่อย่างนั้นจะเหมือนติดกระดุมผิด ทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นจะผิดไปด้วย"
รศ.ดร.ศิริณา กล่าวถึงการทำประชาพิจารณ์ แม้มีหลักการอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันสิ่งที่ภาครัฐทำนั้นยังไม่ถูกทิศถูกทางเท่าที่ควร วันนี้ยังมีพอเวลาให้ทบทวนและปรับเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการพูดคุย รับฟังภาคประชาชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และคิดถึงใจคนที่เดือดร้อน แต่หากรัฐบาลมีคำตอบ มีแผนที่วางไว้ตั้งแต่ต้นแล้วนำไปเผยแพร่แก่ประชาชน คงไม่ถูกต้องนัก เพราะยิ่งทำให้โครงการเดินไปลำบากกว่าเดิม
"สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็น คือ การจัดที่ดูเป็นการเตรียมการไว้แล้ว อาจทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ไม่มีโอกาสได้แสดงความเห็น หรือมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งจะไม่มีผลต่อการจัดงานที่เป็นการพูดคุยเพื่อให้เกิดจุดรับได้ร่วมกัน เท่ากับเป็นการจัดงานตามที่ศาลปกครองมีคำสั่งเท่านั้น"