‘Public Scoping’ กับความล้มเหลวประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย
กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดไม่หวั่นถูกสั่งห้ามเข้าเวทีประชาพิจารณ์ค้านขยายสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ พื้นที่นาโป่ง จ.เลย ตั้งเวทีประกบเปิดโปงข้อมูลจี้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เสนอข้อเท็จจริง ระบุเพียงเริ่มต้นเวที ‘Public Scoping’ ก็ล้มเหลวแล้ว
วันที่ 8 ก.ย. 2556 ที่ศาลาการเปรียญวัดโพนทอง บ้านหัวนา ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ผู้สัมปทานเหมืองแร่ทองคำ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Pubic Scoping) ค.1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำ ‘รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment:EHIA)’ ประกอบคำขอประทานบัตรที่ 76/2539 ในพื้นที่ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย เพื่อทำโครงการเหมืองแร่ทองคำ ทองแดง และเงินนั้น
ซึ่งการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ครั้งนี้ได้มีกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ราว 800 คน และนักศึกษาจากม.ขอนแก่นและม.มหาสารคามขอเข้าร่วมรับฟัง เพื่อแสดงเจตจำนงคัดค้านกระบวนการดังกล่าว เพราะหวั่นผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนได้ หากแต่กลับถูกตำรวจกีดกั้นไว้ ทำให้ชาวบ้านต้องส่งตัวแทนยื่นหนังสือต่อผู้จัดการบริษัทฯ ผ่านทางเครื่องบินกระดาษให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านอย่างโปร่งใส ก่อนจะเปิดเวทีปราศรัยรณรงค์ด้านหน้าวัดโพนทอง เพื่อนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่บริษัทไม่ได้กล่าวถึง
เวทีปราศรัยได้นำเสนอข้อมูลมีรายละเอียด คือ เหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในจ.เลย เริ่มต้นดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2549 ที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยมีโรงประกอบโลหะกรรมซึ่งมีบ่อเก็บกักหางแร่ที่มีไซยาไนด์ตั้งอยู่บนภูทับฟ้า และหากมีการขยายการทำเหมืองทองคำของบริษัทฯ ในจ.เลยหรือใกล้เคียง (เช่น แปลง 76/2539 ในต.นาโป่ง) ก็จะนำสินแร่มาเข้าโรงประกอบโลหะกรรมที่ภูทับฟ้า ซึ่งจะทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวเขาหลวงแย่ขึ้นไปอีก เพราะนอกจากกิจกรรมการทำเหมืองแล้ว คาดว่าบ่อดังกล่าวเป็นหนึ่งในที่มาการปนเปื้อนของสารพิษในเลือด สิ่งแวดล้อม และแหล่งอาหารของคนในชุมชนอย่างน้อย 6 หมู่บ้านรอบเหมือง ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง ภายหลังคือกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด
อย่างไรก็ตาม สาเหตุการปนเปื้อนของสารพิษในพื้นที่ยังไม่เคยได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ ทั้งที่มีการตรวจพบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและเลือดของชาวบ้านโดยหลายหน่วยงานนับตั้งแต่เหมืองเริ่มดำเนินการ ในขณะที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 8 ก.พ. 2554 ระบุชัดว่าต้องหาสาเหตุการปนเปื้อนในพื้นที่ดังกล่าวและประเมินความคุ้มค่าของการทำเหมืองเปรียบเทียบกับผลกระทบต่อชีวิตคนและสิ่งแวดล้อมก่อน จึงจะสามารถพิจารณาขยายเหมืองเพิ่มเติมได้ แต่ข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้รัฐปฏิบัติตามมติ ครม. ดังกล่าวกลับไม่เคยได้รับการตอบสนองอย่างจริงจัง
ในทางกลับกัน กระบวนการจัดทำ EHIA เพื่อขออนุญาตขยายเหมืองของบริษัททุ่งคำในพื้นที่จ.เลยกลับดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ โดยมีหน่วยงานรัฐเป็นผู้สนับสนุน ราวกับว่าการหาเหตุที่มาของมลพิษที่ทำร้ายสุขภาพประชาชนเป็นเรื่องสำคัญน้อยกว่าการอนุญาตให้ก่อมลพิษเพิ่ม ซึ่งแสดงออกอย่างชัดเจนในการปิดกั้น เพื่อไม่ให้กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดเข้าร่วมเวที Public Scoping เพื่อเริ่มต้นขอประทานบัตรการขยายเหมืองทองไปยังแปลงที่ 104/2538 หรือภูเหล็กเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2555
ทั้งนี้ เหตุการณ์ในวันที่ 8 ก.ย. 2556 ซึ่งมีการปิดกั้นกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวงไม่ให้เข้าร่วมเวที Public Scoping การขยายเหมืองทองไปยังพื้นที่ต.นาโป่ง เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐยังคงเข้าข้างอุตสาหกรรมเหมืองแร่
ข้อมูลยังระบุอีกว่า การอ้างจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้งที่ปิดกั้นการเข้าร่วมของผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และการดำเนินการอย่างไม่ตรงไปตรงมาในการจัดเวที Public Scoping ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการขออนุญาตทำเหมือง แสดงถึงการขาดธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยมีหน่วยงานรัฐสนับสนุนเสมือนให้ตราประทับส่งเสริมอุตสาหกรรมสกปรก เฉพาะในแง่กระบวนการ ทั้งที่ควรเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดเข้าร่วมและแสดงความเห็นได้อย่างอิสระ โดยอยู่บนพื้นฐานของการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน เพื่อประกอบการตัดสินใจ แต่เหตุเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 กลับตรงข้าม
ยกตัวอย่าง ในเอกสารประกอบการประชุม 57 หน้าที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ไม่มีการให้ข้อมูลกระบวนการทำเหมืองแร่และผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากการทำเหมือง แต่ข้อมูลในส่วนที่ระบุว่า “การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)” เริ่มต้นที่หน้า 47 และให้ข้อมูลเพียงแค่วิธีการและขั้นตอนการจัดทำรายงานเท่านั้น
ทั้งนี้ บริษัทไม่ได้อธิบายอย่างชัดเจนว่าแปลงที่ 76/2539 เป็นเพียงแปลงเดียวในพื้นที่ 10,000 ไร่ในต.นาโป่ง ซึ่งบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ยื่นขอสัมปทานแล้ว แต่กลับชี้แจงด้วยวาจาในเวทีว่าจะทำเหมืองแปลงดังกล่าวเพียงแปลงเดียว แต่หากบริษัทต้องการขยายต่อไปก็จะต้องทำเวที Public Scoping อีก การให้ข้อมูลกำกวมเช่นนี้ แสดงถึงความไม่ตรงไปตรงมาในการชี้แจงข้อมูลและเพิ่มความสับสนให้กับผู้เข้าร่วมประชุม ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมไม่อาจตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องได้
ดังนั้น จึงมองว่า การจัดเวที Public Scoping ที่จัดขึ้นในช่วงนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความพยายามขยายพื้นที่การทำเหมืองทองของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในจ.เลย และแม้เวทีจะผ่านไปแล้วก็มิใช่การยืนยันว่าบริษัทมีความชอบธรรมที่จะทำเหมืองต่อไป ในทางกลับกัน ชุมชนสามารถแสดงสิทธิที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของชุมชนผ่านอำนาจที่ให้ไว้ในรัฐธรรมนูญ และสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีในแง่ความไม่ชอบธรรมของการดำเนินการของบริษัทและหน่วยงานรัฐที่ผ่านมาได้ .
ที่มาภาพ:http://www.tongkahharbour.com/tongkah/TH/company_TKL_th.html