เล็งปั้นเกษตรกรรุ่นใหม่ 3.6 หมื่นคน สกว.เเนะสร้างบัญชีครัวเรือนคุมต้นทุน
กระทรวงเกษตรฯ จับมือ 4 อุดมศึกษาขยายโครงการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ตั้งเป้า 3.6 หมื่นคนทั่วประเทศ สกว.แนะต้องเน้นเสริมจัดการเชิงธุรกิจแทนพึ่งพาเทคโนโลยี หวังควบคุมต้นทุนการผลิตได้
วันที่ 9 ก.ย. 2556 นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวความร่วมมือโครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
นายยุคล กล่าวว่า โครงการสร้างและพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่เป็นความร่วมมือของกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงศึกษาธิการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยนครพนม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรให้มีความรู้ และมุ่งสู่การเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (สมาร์ทฟาร์มเมอร์) ในอนาคต
“สปก.ได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2551 และครบกำหนด 5 ปี แล้ว ดังนั้นคณะกรรมการบริหารโครงการฯ จึงมีมติเห็นชอบขยายความร่วมมือโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2556 โดยครั้งนี้จะไม่มีกำหนดครบสัญญา” รมว.กษ. กล่าว และว่าปัจจุบันมีเกษตรกรทั่วประเทศประมาณ 7 ล้านครอบครัว อายุเฉลี่ย 50 ปี ดังนั้นด้วยอายุเกษตรกรที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องหาเกษตรกรรุ่นใหม่มาแทน โดยตั้งเป้า 3.6 หมื่นคนทั่วประเทศ ซึ่งแม้จะมีจำนวนน้อยกว่ามาก แต่ยืนยันว่ามีประสิทธิภาพสูงในการคิดวิเคราะห์และใช้อุปกรณ์เครื่องจักร อันจะส่งผลต่อภาคการผลิตในอนาคตได้แน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานยังจัดเวทีเสวนา ‘ทิศทางการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมบนฐานการจัดการเรียนรู้ใหม่ สู่มาตรฐานระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่ดีอย่างยั่งยืน’ นายวณิชย์ อ่วมศรี ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาเกษตรกรรมและประมง กล่าวว่า การจะส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันมายึดอาชีพเกษตรกรรม จำเป็นต้องสร้างทักษะความรู้ด้านการเกษตร การตลาด และต้องให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองทางการค้า
นอกจากนี้เกษตรกรต้องมีทักษะการวิเคราะห์เชิงผลิต การบริหารจัดการ รวมถึงรู้จักบูรณาการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีท้องถิ่นและสมัยใหม่อย่างเหมาะสม ที่สำคัญต้องสร้างให้เกษตรกรรุ่นใหม่มีจิตอาสาจนสามารถให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรรุ่นเก่าได้ และอนาคตต้องสร้างความเข้าใจให้ผู้บริหารมากขึ้น เกี่ยวกับการมุ่งเน้นการทำฟาร์มธุรกิจที่โดดเด่นในสถานศึกษาที่เป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรได้
ส่วนที่ผ่านมาโครงการประสบความสำเร็จหรือไม่ ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผอ.สำนักงานพัฒนาการวิจัยเกษตร กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุได้ เพราะโครงการเพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2551 แต่ก็สามารถวัดผลได้ระดับหนึ่งว่ามีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากเรามีแบบอย่างของเกษตรกรในโครงการที่ประสบความสำเร็จ ดำเนินการตามแผนแล้วไม่จน
“เคยไปดูงานบ่อปลาดุกในบ่อซีเมนต์ ผมถามอาจารย์ว่ามีต้นทุนเท่าไหร่ อาจารย์ตอบว่าไม่ทราบครับ นั่นแสดงว่าขนาดอาจารย์ยังบูรณาการความรู้ไม่ได้เลย แล้วจะตอบเด็กได้อย่างไร” ดร.พีรเดช กล่าว และว่าอาจารย์จึงควรเสริมสร้างความรู้ให้แก่ตนเองด้วย ผู้สร้างความรู้ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องวิจัยให้ลึกซึ้ง แต่ควรสร้างแหล่งความรู้ในท้องถิ่นนั้น ๆ ตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น การสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการเลี้ยงวัว ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ท้าทายกับสถานศึกษามาก
ขณะที่ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผอ.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า ต้องทำให้เกษตรกรเข้าสู่วงจรธุรกิจทางการเกษตรให้ได้ ในที่นี้ไม่ใช่การพึ่งพาเทคโนโลยีทางการเกษตร แต่เป็นการจัดการเชิงธุรกิจให้กับเกษตรกรมีความรู้ด้านการบัญชี การตลาด เพื่อหวังควบคุมต้นทุนการผลิตได้ และจะเป็นผลดีในระยะยาว
“สกว.เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรทำบัญชีครัวเรือน พบว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศราว 1 แสนคน แต่ทำบัญชีครัวเรือนต่อเนื่องเพียง 4 หมื่นคนเท่านั้น โดยมีผลพวงสามารถนำรายได้จากเกษตรกรรมมาปลดหนี้สินได้ 3.5 หมื่นบาท/ครัวเรือน/ปี ซึ่งมากกว่าข้าราชการที่ปลดหนี้ได้ 3.3 หมื่นบาท/ครัวเรือน/ปี และลูกจ้าง 2.6 หมื่นบาท/ครัวเรือน/ปี” .