เยาวชนคนเก่ง "อัครศาสน์วิทยา" กวาดรางวัล "หนังสั้น" ทั่วฟ้าเมืองไทย
โล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณจากผลงาน "หนังสั้น" และ "สารคดีสั้น" เรื่องต่างๆ เช่น รางวัลบทดีเด่นจาก "คำพูดที่อยากได้ยิน", รางวัลชมเชยระดับภูมิภาคจาก กบจูเนียร์ ปี 2 เรื่อง "ตามรอยเท้าพ่อ", รางวัลชนะเลิศ ปี 2555 เรื่อง "เด็กติดเกม" จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนราธิวาส, รางวัลนักแสดงหญิงดีเด่น ปี 2553 จาก "สิ่งที่ไม่ต้องการ" ของสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
รางวัลชนะเลิศหนังสั้น "ย้อนรอยยือรีงา" จากสถาบันรามจิตติร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา, รางวัลกบจูเนียร์ ปี 4 ขวัญใจกบนอกกะลา เรื่อง "ใบไม้มหัศจรรย์หนึ่งเดียวในโลก" กับ "กอและน้อย" และรางวัลพิเศษหนังสั้น "อีกด้านหนึ่งที่มองข้าม" จากสถาบันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
หลายคนคงไม่อยากเชื่อว่า หลากหลายรางวัลเหล่านี้เป็นของเยาวชนคนเก่งจากชายแดนใต้ โรงเรียนอัครศาสน์วิทยา ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเล็กๆ มีพื้นที่ไม่กี่ตารางกิโลเมตรใกล้ๆ กับตัวเมืองนราธิวาสที่ชื่อว่า "ยี่งอ"
ที่ว่า...เชื่อยากหรือไม่อยากเชื่อ เพราะสังคมมักได้รับข่าวสารผ่านสื่อกันมาตลอดว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อันประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสนั้น อยู่ในระดับรั้งท้ายของประเทศ ทั้งๆ ที่ปัญหาส่วนหนึ่งอาจเกิดจาก "มาตรวัด" ก็เป็นได้ เพราะเป็นการวัดจากหลักสูตรคล้ายๆ "ไทยรวมศูนย์" ที่ไม่ได้ตอบสนองต่อวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชากรกลุ่มใหญ่ใช้ภาษาและนับถือศาสนาแตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ จึงน่าจะเป็นมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องนักหากนำมาใช้วัดและจัดลำดับกับเด็กและเยาวชนต่างวัฒนธรรม
และรางวัลมากมายที่เยาวชนจากโรงเรียนอัครศาสน์วิทยาได้รับ น่าจะเป็นหลักฐานยืนยันข้อสังเกตนี้ได้ประการหนึ่ง
ที่โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนกลุ่มหนึ่งตั้งชมรมที่ชื่อว่า ASW Cintafilm มาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อรวมตัวกันทำกิจกรรมที่ชอบ ได้แก่ การถ่ายภาพและการทำหนังสั้น ในชมรมมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยดูแลแนะนำอย่างใกล้ชิด
เอมมีเรีย ยีเจ๊ะแว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คือหนึ่งในสมาชิกของชมรม เธอเป็นตัวแทนของเพื่อนๆ บอกกล่าวถึงความรัก ความชอบ และความตั้งใจในการผลิตผลงานจากมันสมองและฝีมือของเยาวชนในพื้นที่
"ชมรมเราก่อตั้งมา 3 ปี โดยมี อาจารย์อาหะมะ รูปายี เป็นผู้จุดประกาย เด็กๆ ที่เข้าชมรมคือคนที่ชอบถ่ายรูปบอกเล่าเรื่องราว ส่วนตัวเองก็ถ่ายรูปให้กับฝ่ายเทคโนโลยีของทางโรงเรียนอยู่แล้ว เราได้เรียนรู้การทำงานซึ่งไม่มีสอนในห้องเรียน ทั้งการวางคอนเซ็ปต์ (แนวคิด) การเขียนบท ลงพื้นที่หาข้อมูล กำกับ ตัดต่อ พรีเซนต์ (นำเสนอ) ได้ครบกระบวนการของการทำงานจริงโดยแบ่งหน้าที่กันทำตามความถนัดของแต่ละคน"
เอมมีเรีย บอกว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ที่ส่งงานเข้าประกวดแล้วได้รับรางวัล ทำให้น้องๆ ในชมรมทำงานกันอย่างเต็มที่ จริงๆ แล้วรางวัลไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย แต่คุณค่าจริงๆ คือการได้ทำงานและส่งเข้าประกวดในแต่ละเวทีถือเป็นประสบการณ์ดีๆ ในชีวิตอย่างมาก
"เราต้องวางระบบและทำหน้าที่ดูคอนเซ็ปต์ของแต่ละโครงการ หาข้อมูลในพื้นที่โดยเฉพาะเรื่องที่สังคมยังไม่รับรู้หรือรับรู้น้อยมาสื่อสารให้ได้รับรู้มากขึ้น แล้วจึงลงมือเขียนบท จากนั้นก็ไปขออนุญาตทางโรงเรียนออกนอกพื้นที่ ยืมอุปกรณ์ แล้วลงมือทำงานจากการประสานงานไว้ในพื้นที่ ซึ่งจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาไปด้วยทุกครั้ง อย่างเรื่อง 'กอและน้อย' ใช้เวลาทั้งหมด 2 เดือน บางเรื่องต้องใช้ความอดทนมากเพราะทำงานกันในเดือนรอมฎอน (เดือนแห่งการถือศีลอด)"
สำหรับ "กอและน้อย" เป็นสารคดีสั้นบอกเล่าเรื่องราวของ "เรือกอและ" แต่ไม่ใช่เรือที่แล่นละลิ่วอยู่ในทะเลจริๆ ทว่าเป็น "กอและลำน้อย" ที่เป็นของฝากหรือของชำร่วยจากดินแดนปลายด้ามขวาน เป็นศิลปะท้องถิ่นอย่างหนึ่งในการย่อส่วนเรือกอและจริงๆ มาเป็นเรือกอและจำลองซึ่งยังคงความงดงามและเอกลักษณ์ของเรือกอและเอาไว้อย่างครบถ้วน
เอมมีเรีย เล่าต่อว่า การทำงานของพวกเธอต้องแบ่งเวลาให้สัมพันธ์กับการเรียน ส่วนใหญ่ก็ทำงานกันในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ต้องอธิบายให้อาจารย์ที่สอนวิชาอื่นเข้าใจ โชคดีที่ผู้อำนวยการโรงเรียนสนับสนุนพวกเธอด้วยดี ทุกคนในโรงเรียนรู้ว่าเป็นการทำงาน ครอบครัวของแต่ละคนก็สนับสนุน โดยในช่วงแรกที่บ้านก็ไม่เข้าใจว่าไปทำอะไร พวกเธอจึงพาครอบครัวไปดูการทำงานและได้รับการสนับสนุน พร้อมเป็นแรงผลักดันให้ทำงานต่อไปด้วย
เมื่อถามถึงทุนในการทำงาน เอมมีเรีย บอกว่า เงินรางวัลที่ได้รับจากการประกวด คือทุนที่นำมาต่อยอดในการทำงานชุดต่อไป การทำงานด้านนี้เป็นประสบการณ์ชีวิตทั้งในเรื่องการเรียน เรื่องของชุมชนและสังคม เป็นโลกแห่งความจริงที่น่าค้นหา
"ในการทำงานเราได้เรียนรู้หลายกระบวนการ ทั้งการผลิต การพรีเซนต์ การพบปะผู้คน แรกๆ ก็ตื่นเต้น ประหม่าบ้าง แต่แล้วก็กลายเป็นสนุก เป็นเรื่องดีที่เราได้คุยกับผู้คนหลากหลาย ได้ความรักและความสามัคคีจากเพื่อนๆ ต้องอดทนมากๆ และยังได้ประสบการณ์ที่คนอื่นในวัยเดียวกันไม่ได้สัมผัส พวกเราไม่ได้คิดถึงรางวัล แต่ตั้งใจทำงานให้เต็มที่และดีที่สุด อยากให้เพื่อนๆ กล้าแสดงออก ทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการเรียน จะได้ประสบการณ์และความรู้ที่เข้มข้น"
"อย่างงานที่ทำ ทำให้รู้ว่ากัมปง (หมู่บ้าน) ของเรามีรากมาจากไหน แล้วเรื่องราวที่ทำไว้ก็ไม่หายไป คนรุ่นหลังจะได้เข้าใจและภูมิใจกับบ้านเกิด อยากให้เรื่องร้ายๆ ในพื้นที่จบลงเสียที พวกเราพยายามนำเสนอเรื่องราวมุมอื่นที่ดีออกไปให้สังคมได้รับรู้ ให้สันติภาพได้ก่อเกิด พ่อของหนูเป็นโต๊ะอิหม่าม ท่านบอกว่าสถานการณ์กับสิ่งที่เป็นอยู่ในพื้นที่ขณะนี้ไม่ตรงกับหะดีษ ประเด็นที่อยากทำคือประเด็นศาสนาและเรื่องที่ถกเถียงกันว่าเรื่องนั้นดีเรื่องนี้ไม่ดี อยากหาความจริงและให้ผู้รู้มาฟัตวา (ตัดสิน) เอาหะดีษมายืนยันความถูกต้อง"
เมื่อใจรักทางด้านนี้ เอมมีเรียจึงวางแผนอนาคนของเธอเองว่า อยากเรียนต่อด้านนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยขณะนี้กำลังรวบรวมผลงานที่เคยทำไว้เพื่อนำไปเสนอกับทางมหาวิทยาลัย
เรื่องราวดีๆ ทั้งที่สัมผัสได้จากวิถีชีวิตจริงๆ และทีเห็นได้จากแผ่นฟิล์มยังคงมีอีกมากมาย ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน...
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เอมมีเรีย (ซ้าย) กับเพื่อนในชมรม
ที่มา : สารคดีสั้นเรื่อง "กอและน้อย" http://www.youtube.com/watch?v=zkXW_9lkrgo