สปส.-สปสช.ถกเดือด “ยอมกันไม่ลง” โอนสิทธิ์ผู้ประกันตนใช้บัตรทอง
สปสช.เสนอจัดบริการรักษาเอง ให้สิทธิผู้ประกันตนเพิ่ม 11 รายการ “หมอวิชัย”ระบุคิดค่าใช้จ่ายเท่า สปส. 3 ปีแรก ด้านสปส.โต้กลับถ้าต้องจ่ายทำเองง่ายกว่า ชี้บัตรทองไม่มีสิทธิเก็บเงิน-ขัด รธน. “ปั้น” ท้วงเงินประกันสังคมมาจาก 3 ฝ่าย เอาไปจ่ายให้ สปสช.ไม่ถูก
วันที่ 9 มิ.ย.54 มีการประชุมร่วมระหว่างผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กับสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ตามมาตรา 10 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545โดยผู้แทน สปส.ได้รับข้อเสนอจาก สปสช.ไปพิจารณา 3 ประเด็น
ได้แก่ 1.สปสช.รับเป็นผู้จัดบริการการรักษาพยาบาลรวมถึงรักษาผู้ทุพพลภาพแต่ไม่ครอบคลุมการคลอดบุตร 2.ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์เดิมและอีก 11 รายการที่ สปสช.ให้มากกว่า สปส. 3.สปสช.คิดค่าใช้จ่ายเท่ากับ สปส.ใน 3 ปีแรก หลังจากนั้นคิดเท่ากับค่าเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง
นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการ สปสช.ในฐานะประธานการประชุม กล่าวต่อที่ประชุมว่าข้อเสนอของ สปสช.จะทำให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิเพิ่มทันที โดย สปส.จะประหยัดเงินเพราะไม่ต้องลงทุนเองและนำเงินมาเพิ่มสิทธิประโยชน์ได้ ที่สำคัญค่าบริหารจัดการจะลดลงถึงขั้นยุบกองประสานการแพทย์ สปส.ได้
ด้าน นายพนัส ไทยล้วน กรรมการ สปส.กล่าวว่า ข้อเสนอของ สปสช.เหมือนมีแต่ข้อดีซึ่งอาจเป็นการเข้าใจผิด คำถามคือถ้า สปส.ไปซื้อบริการจาก สปสช.ตามข้อเสนอ ท้ายที่สุดแล้ว สปส.ก็ต้องจ่ายเงินให้กับ สปสช.และต้องไปเก็บจากผู้ประกันตนเช่นเดิม หาก สปส.เพิ่มสิทธิของตัวเองให้เทียบเท่า สปสช.แล้วเก็บเงินแบบเดิมจะง่ายกว่าหรือไม่
“ถามว่าถ้า สปสช.เก็บเงินไปจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นอกจากจะไปเก็บเงินกับรัฐบาลถึงจะฟังขึ้น เรื่องนี้ต้องคิดให้ดีๆจึงอยากเสนอให้ค่อยมาคุยกันดีกว่า” นายพนัส กล่าว
นายประสิทธิ จงอัศญากุล กรรมการ สปส.กล่าวว่าข้อเสนอของ สปสช.ขัดแย้งกันเอง คือบอกว่าจะคิดค่าบริการจาก สปส.ในขณะเดียวกันกลับบอกอีกว่า สปส.จะสามารถประหยัดได้ ที่สำคัญหากดำเนินการรวมกองทุนตามมาตรา 10 แล้วเก็บเงินผู้ประกันตนจะเข้าข่ายเลือกปฏิบัติ
“มาตรา 5 สปสช.ระบุจะรักษาพยาบาลให้ทุกคน โดยจะเก็บเงินเป็นครั้งคราวกับผู้ที่มีฐานะดี ถามว่าตอนนี้ สปสช.เก็บเงินตามมาตรา 5 แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่เก็บก็ไม่ควรมาเก็บผู้ประกันตนตามมาตรา 10 เพราะเป็นเพียงส่วนขยายเท่านั้น” นายประสิทธิ กล่าว
ขณะที่นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการ สปส.ในฐานะประธานร่วม กล่าวว่าเงินในระบบประกันสังคม 2.1–2.4 หมื่นล้านบาทต่อปีมาจาก 3 ฝ่ายจ่ายสมทบคือรัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตน หากเอาเงินทั้งหมดไปจ่าย สปสช.คงไม่ถูกต้อง คำถามคือทำไมนายจ้างและผู้ประกันตนต้องจ่ายด้วย ทั้งที่หากต้องจ่ายควรจ่ายเฉพาะในส่วนของรัฐบาล .