นักวิชาการ สสค. แนะเปลี่ยนโจทย์การศึกษาไทยใหม่ มุ่งสู่ 'เรียน จบ เด็กมีงานทำ'
ผอ.สพป.เชียงใหม่เขต2 รุกระบบเน้นสอนเด็กปฏิบัติจริง แนะเลิกระบบห้องเรียนสมมติ ด้านผู้ประกอบการ ชี้ถึงเวลาแล้วต้องสอนให้เด็กรู้จักคิดเป็น รู้จักฝัน รู้จักมีความคิดสร้างสรรค์ หลัง 30 ปี การศึกษาไทยผิดพลาด เพราะเดินตามก้นฝรั่ง
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เชียงใหม่ เขต 2 (สพป.เชียงใหม่เขต 2) และกระทรวงศึกษาธิการ จัดเวทีเครือข่ายผู้นำการเรียนรู้ ครั้งที่ 4 (เวทีสัญจร) "เครือข่ายผู้นำการเรียนรู้สู่ทักษะชีวิตและโลกของงาน" เรียนอย่างไร จบไปมีงานทำ ณ สพป.เชียงใหม่เขต 2 โดยมีการเสวนาหัวข้อ "เทรนด์การสร้างหลักสูตร vs ผลิตภัณฑ์ ทำอย่างไรให้เกิดการทำงานอย่างมืออาชีพ"
นายสินอาจ ลำพูนพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่เขต 2 กล่าวถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน 9 ปี คนส่วนใหญ่มองว่า เป็นแค่พื้นฐาน แต่ในความเป็นจริงอาจจะเป็นการศึกษาครั้งสุดท้ายของเด็กบางคน เด็กบางคนได้เรียนการศึกษาระดับนี้เพียงระดับเดียว บางทีก็หยุดกลางคันและไปไม่ถึงปลายทาง และไม่ได้ปริญญา บางทีได้ปริญญาแต่ต้องตกงานตั้งแต่ปีแรก ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนระบบการศึกษาที่ผ่านมาทั้งหมด
"สิ่งที่เขตพื้นที่มองเห็นคือต้องการให้เด็กที่จบมีอะไรติดตัวไป อย่างน้อยๆก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกของความเป็นจริงได้ ซึ่งสิ่งต่างๆต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก และต้องเน้นการเรียนให้เด็กได้ปฏิบัติจริง ไม่ใช่อยู่กับโลกแห่งการสมมติ ภายในห้องเรียนที่ถูกสร้างสถานการณ์ขึ้นมาทั้งหมด การลงมือจะเป็นกุญแจและเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยสร้างให้เด็กมีทักษะการใช้ชีวิตและทำงานเป็น"
สำหรับการจัดการศึกษาให้ตรงศตวรรษที่ 21 นั้น นายสินอาจ กล่าวว่า จริงๆทำกันมานาน ทั้งการเน้นทักษะและการดำรงชีวิตอยู่ในสังคม เพียงแต่จับไม่ถูกทางเพราะที่ผ่านมาเราแยกโลกออกเป็น 2 ส่วน คือ โลกการเรียนรู้ที่อยู่บนกระดานส่วนวิชาการงานและพื้นฐานอาชีพเป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งผิด เพราะแท้จริงแล้วต้องดึงมาเป็นเรื่องเดียวกันและส่งเสริมซึ่งกันและกันให้ได้ จึงจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เข้าใจอย่างท่องแท้
เอกชน ชี้เด็กรุ่นต่อไปจะถูกวัดที่คุณภาพ
ขณะที่นายชัดชาญ เอกชัยพัฒนกูล กรรมการบริหารบริษัท เชียงใหม่วนัสนันท์ จำกัด เจ้าของร้านของฝาก ชื่อดังเชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในวันนี้คือเด็กไทยคิดไม่เป็น คิดไม่ได้ ที่ผ่านมาระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์และสอนให้เด็กไม่มีความคิดสร้างสรรค์ สอนให้เด็กเป็นนกแก้วนกขุนทอง สอนให้เด็กเอาแต่ท่องจำแท้ที่จริงคือหุ่นยนต์ เมื่อเข้าสู่ภาคธุรกิจ สั่งให้ทำอะไรก็ทำ พอสิ้นสุดคำสั่งไปต่อไม่ได้ ต้องถามเพราะคิดไม่เป็น ประเทศชาติจะล่มสลายก็เพราะเรื่องนี้
"ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสอนให้เด็กรู้จักคิดเป็น ให้รู้จักฝัน รู้จักมีความคิดสร้างสรรค์ คนไทยเป็นศิลปินกันทั้งประเทศ และงานฝีมือก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ถูกตัดตอนจากการเลียนแบบตะวันตก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดพลาดของระบบการศึกษามา30 ปีแล้ว ดังนั้นต้องขุดเอาสัญชาตญาณที่เรามีกลับคืนมา"
กรรมการบริหาร บ.เชียงใหม่วนัสนันท์ กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้เด็กเรียนเพื่อให้จำ ณ ตอนนี้หมดยุคแล้ว เนื่องจากเป็นยุคของการแข่งขัน ซึ่งจะเน้นกันที่คุณภาพ และต้องเริ่มต้นตั้งแต่ยังเด็ก สิ่งที่เห็นในวันนี้กลับกลายเป็นว่า เด็กไทยรุ่นใหม่ถือค้อนไม่เป็น แท้ที่จริงโดยสัญชาตญาณเราเป็นช่าง สิ่งเหล่านี้ได้ขาดหายไป และสิ่งที่เกิดกับผู้ประกอบการทั้งในส่วนของภาคอุตสาหกรรม และการบริการ นั่นคือขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพและไม่มีช่างเฉพาะทาง ดังนั้นสิ่งที่ผิดพลาดอีกสิ่งหนึ่งคือค่านิยมต้องได้ปริญญาจะต้องเลิกค่านิยมนี้ให้ได้
“คนเก่งต้องคิดเก่ง ฝันเก่ง และทำงานเก่ง ไม่ใช่แค่เรียนหนังสือเก่งอย่างเดียว เด็กตั้งแต่รุ่นนี้เป็นต้นไปจะถูกวัดที่คุณภาพ มากกว่าเด็กที่มีใบปริญญาแต่ทำงานไม่เป็น เวลาสอนครูต้องให้เด็กตั้งคำถามสักสิบคำถาม ถ้าไม่มีคำถามเลยต้องให้ตก เพราะนั่นแปลว่าเด็กไม่ได้ใช้ความคิด” นายชัดชาญ กล่าว และย้ำด้วยว่า โดยส่วนตัวลึกๆ กลัวจะหลงทางกับโครงการที่ทำ เนื่องจากตั้งเกณฑ์ว่าทำแล้วจะต้องขายได้ หากกระทรวงเห็นความสำคัญและมีความจริงใจต้องมีงบประมาณมาเพื่อสนับสนุน ไม่ใช่ให้ทำแล้วขายเอง ขายไม่ได้ก็เลิก มิฉะนั้นจะผิดทาง และไม่อยากให้แนวคิดการได้ขายหรือไม่ได้ขายเป็นตัวชี้วัด
การศึกษาไทยต้องงัดตัวเองออกมาจากอันดับ8
ด้านดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการ สสค. กล่าวถึงโจทย์การศึกษาไทยในวันนี้จะต้องเป็นการศึกษาเพื่อชีวิตเพื่อการมีงานทำ การศึกษาที่ผ่านมาเราวัดคุณภาพกันเพียงกรอบเดียว คือวัดกันด้วยโอเน็ต วิชาการ ซึ่งโจทย์การศึกษาไม่ใช่แค่นั้น การใช้ชีวิต ไม่ใช่แค่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ และเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดเป็นพื้นฐานทั้งประเทศว่าจะต้องจบปริญญา จริงๆจะมีเด็กสักกี่คนที่เข้าไปสู่รั้วมหาวิทยาลัย ทั้งนี้หากการศึกษาไทยจะงัดตัวเองออกมาจากอันดับ8 ต้องเปลี่ยนโจทย์และมุ่งไปที่ระบบการเรียนการสอนให้เด็กมีงานทำ และอย่าไปมองเรื่องนี้เป็นการไปแย่งงานอาชีวะ เพียงแต่เราต้องการให้เด็กเรียนอาชีวะมากขึ้น
“ที่สำคัญการศึกษาไทยต้องมานั่งนิยามกันใหม่ ว่าคุณภาพการศึกษาคงไม่ใช่แค่การวัดเพียงเรื่องอ่านออกเขียนได้ ทำเลขเป็น และไปให้จบม.6 ที่เป็นการวัดผลแบบรองเท้าเบอร์เดียว ต้องมองเรื่องการวัดความขยัน ความรับผิดชอบ ว่าทำอย่างไรดูอย่างไร สังเกตอย่างไร และการบริหารในระบบการศึกษาต้องไม่ใช่การสั่งการจากบนลงล่างอีกต่อไปแล้ว” ดร.อมรวิชช์ กล่าว
น.ส.คำอ่อง วาริน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านหนองไคร้ 1 ใน30 โรงเรียนนำร่องการเรียนรู้สู่การมีงานทำ กล่าวว่า การเรียนแบบได้ปฏิบัติจริงทำให้สามารถนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้ได้ เป็นการเรียนที่มีความสุขไม่เครียดและมีความแตกต่างจากการเรียนภายในห้องเรียนอย่างสิ้นเชิง เพราะเรียนในห้องเรียนทุกอย่างเป็นระบบแบบเดียวหมด มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นน้อย ไม่เหมือนกับการทำกระเป๋าที่ได้คิดออกแบบเอง กำหนดราคา คิดต้นทุนกำไร ซึ่งมันช่วยทำให้เรียนวิชาคณิตศาสตร์ได้เข้าใจง่ายขึ้น เพราะเมื่อเรียนเรื่องร้อยละและการคิดคำนวณก็นึกโจทย์เป็นการตั้งราคาของกระเป๋าทำให้ไม่ต้องจำสูตรเยอะ อีกทั้งจากเด็กที่ไม่กล้าพูดหน้าชั้นเรียน การต้องออกไปขายกระเป๋าก็ช่วยพัฒนาทักษะทางด้านการสื่อสาร และความมั่นใจให้เนื่องจากต้องหาวิธีการขายกระเป๋าให้ได้เพื่อจะได้นำเงินมาช่วยเหลือพ่อแม่
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/profile.php?id=100005951710976