หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ "3 กูรู" จับชีพจรความขัดแย้งในสังคมไทย
วันที่ 7 กันยายน 2556 ศูนย์ข้อมูลข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) จัดเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง “ก้าวข้ามความขัดแย้งกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย” ที่โรงแรมวิคทรี พหลโยธิน 3 โดยมี ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ ศ.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตกรรมการปฏิรูป ร่วมเสวนา มีนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ดำเนินรายการ
ความขัดแย้ง ผลจากการเปลี่ยนแปลงด้านศก.-สังคม
เริ่มต้น ศ.นิธิ อธิบายถึงความขัดแย้งของสังคมไทยในปัจจุบันว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องของความขัดแย้งส่วนบุคคล ความขัดแย้งระหว่างสถาบัน แต่เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่กว้างและลึกอย่างที่สังคมไทยไม่เคยเผชิญมาก่อน
“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ พ.ศ.2540-2550 คนไทยมีรายได้ มีการศึกษา มีความสามารถในการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้คนไทยจำนวนมากต้องการรัฐ เพื่อเข้ามาช่วยประกันความเสี่ยง แต่ความสามารถของรัฐกลับมีจำกัด ส่วนหนึ่งเพราะการเมืองการปกครองไทยไม่เอื้ออำนวยให้เกิดกลไกของสังคมแบบใหม่ เช่น ไม่มีการปกครองส่วนท้องถิ่น มีแต่การปกครองส่วนกลาง ทำให้คนในท้องถิ่นไม่สามารถเรียกร้องนโยบายที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงให้กับตนได้ จึงนำไปสู่ความขัดแย้งที่ลึกกว่าบุคคล ลึกกว่าสถาบัน ลึกกว่าระบบ เพราะสิ่งอื่นๆ ไม่ได้ปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ขณะที่การปฏิรูปการเมืองของไทย ที่ผ่านมาแม้จะมีการปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นมากมาย ยอมให้มีการขยับเขยื้อนในทางสังคมไทย เช่น กลืนคนเก่ง คนหน้าใหม่เข้ามาอยู่ในชนชั้นนำบ้าง
แต่สิ่งหนึ่งที่แช่แข็งไว้คือ ช่วงชั้นทางสังคม นิ้วก้อย นิ้วหัวแม่โป้งยังคงเดิม ทำให้ปัจจุบันคนจำนวนมากจึงพยายามที่จะเข้ามาต่อรองในทางการเมืองของประเทศ ต้องการเข้ามากำหนดนโยบายสาธารณะมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลคือคนจำนวนมหาศาล อาจไม่ได้ผ่านการกล่อมเกลาทางความคิด หรือรู้จักที่ต่ำที่สูง”
ส่วนประเทศไทยจะก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้อย่างไรนั้น ศ.นิธิ ในทัศนะส่วนตัว โดยเห็นว่า การเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด โดยเฉพาะการจัดการพื้นที่ทางการเมืองใหม่ให้เกิดความเป็นธรรม
“ผมเชื่อว่า ความขัดแย้งในโลกนี้ทุกอย่างก้าวข้ามไปได้ โดยการส่งเสริมให้ขัดแย้งกันมากขึ้น แต่ต้องเป็นการขัดแย้งในพื้นที่แห่งความสงบและเป็นธรรม ไม่เสียเปรียบกันจนเกินไป มีศาลที่คนเชื่อได้ว่า ทะเลาะกันขึ้นศาลจะไม่ถูกตัดสินเพราะสีเสื้อ ซึ่งหากจัดการปัญหาตรงนี้ได้ ต่อไปอยากจะปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปภาษีก็จะเกิดขึ้นตามมา เพราะแรงบีบทางการเมือง แรงบีบทางสังคมจะทำให้คนปรับตัว"
ขณะเดียวกัน เราบอกว่าเรามีพรรคการเมืองที่เก่าแก่ พรรคการเมืองก็ควรจะเป็นพื้นที่ใหญ่ที่สุดให้ประชาชนเข้าไปใช้ผลักดันเรื่องต่างๆ ไปถึงระดับนโยบายของรัฐ รวมถึงต่อสู้กับพรรคฝ่ายตรงข้าม
แต่ในความเป็นจริงพรรคการเมืองไทยกลับไม่เป็นเช่นนั้น ขณะนี้ฝ่ายค้านดูเหมือนไปเล่นบทที่ไม่มีอนาคตทางการเมืองหรือไม่อย่างไร
ความเหลื่อมล้ำเป็นสาเหตุ ทำให้เกิดความขัดแย้ง
ศ.ผาสุก มองว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้ขั้นกลางถึงสูง ไม่ได้เป็นประเทศยากจนอีกต่อไปแล้ว โดยคนรุ่นปัจจุบันมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่ารุ่นพ่อแม่ถึง 3 เท่า
แต่สิ่งที่พบคือ ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ช่องว่างของคนกลุ่มต่างๆ กลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รายได้ที่สูงขึ้น กลับกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลไปถึงความเหลื่อมล้ำในด้านอื่นๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำด้านสังคม การเมือง การเข้าถึงสินค้าและบริการ การศึกษา ความยุติธรรม การได้รับความยอมรับทางสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จุดชนวนความขัดแย้งขึ้นได้
“นักวิชาการบางท่านยังไม่ยอมรับว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นสาเหตุอันหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็นปัญหาความขัดแย้ง แต่เมื่อถามคนอีสานว่ามีความคับข้องใจอะไร เขามีความรู้สึกว่า ถูกเหยียดหยาม ถูกดูแคลนว่ายากจน ชั้นต่ำกว่าคนกรุงเทพฯ
หรือผลการสำรวจพบว่า นักเรียนโรงเรียนสาธิตในกรุงเทพฯ มีคะแนนด้านการอ่านมากกว่านักเรียนของโรงเรียนในกำกับกระทรวงศึกษาฯ เกือบสองเท่า
ด้านการถือครองที่ดิน พบว่า คนที่มีที่ดินมีโฉนดมากที่สุด 10% แรก มีที่ดินรวมกันคิดเป็น 62% ของที่ดินมีโฉนดทั่วประเทศ ส่วนคนที่มีที่ดินระดับล่างขึ้นไป 50% มีที่ดินรวมกันคิดเป็น 2% ของที่ดินมีโฉนดทั่วประเทศ
ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้ชี้ว่า หากจะปฏิเสธว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ปัญหา คงมีปฏิกิริยาเหมือนกับเต่าที่เจอภัยแล้วหัวหด หรือนกกระจอกเทศที่เจอภัยแล้วเอาหัวมุดทราย”
ขณะที่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ศ.ผาสุก ชี้ว่า ต้องไม่ใช่เรื่องการเก็บภาษีจากคนรวยมาให้คนจน แต่สามารถใช้วิธีการบริหารจัดการ เช่นกรณีนโยบาย 30 สิบบาท ก็ใช้งบประมาณสุขภาพประจำปีเดิมมาปรับใหม่ให้เป็นระบบสุขภาพทั่วหน้า หรือใช้วิธีลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น เช่น งบประมาณด้านทหาร เพื่อนำมาใช้ในด้านอื่น
“ประเทศไทยจะก้าวข้าวความขัดแย้งไปได้นั้น ต้องทำให้คนรู้สึกว่าสังคมมีความยุติธรรม แบ่งปัน เอื้ออาทรต่อกัน และความคับข้องใจจะปัดเป่าไปสู่อนาคตที่แฟร์และยุติธรรมมากขึ้น แต่ก่อนอื่นสังคมต้องยอมรับความจริง เรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำเสียก่อน"
ขณะที่ในต่างประเทศนั้น แม้ความเหลื่อมล้ำจะมีที่สูงมาก แต่เหตุที่ไม่ปะทุเหมือนกับประเทศไทย เนื่องจากต่างประเทศมีการจัดระบบสวัสดิการ มีเสรีภาพในทางการเมือง การแสดงออกทางประชาธิปไตย การมีส่วนรวมของประชาชน
ศ.ผาสุก ยังมีมุมมองต่อถึงสถานการณ์ความขัดแย้งของสังคมไทยในปัจจุบันด้วยว่า เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงและลึกมาก ไม่สามารถเยียวยาได้ในระยะเวลาอันใกล้ อย่างไรก็ดี เมื่อได้กำหนดกติกาทางการเมืองไว้แล้ว ทุกฝ่ายก็ต้องเล่นตามกติกา อย่ารำนอกม่าน หรือเรียกร้องให้กองทัพเข้ามาจัดการได้หรือไม่
“หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องมีการลองผิดถูกลอง แต่ก็ต้องเล่นตามกติกา พรรคการเมืองไม่คุยกัน ปฏิเสธกันตลอดเวลา ไม่พอใจ ไม่ลงเลือกตั้ง ไม่ใช่เรื่องที่ดี ที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวฝ่ายจุดอับตรงนี้ได้”
อดีตความขัดแย้งไม่รุนแรง เพราะผลประโยชน์ได้เสียไม่มาก
สุดท้าย ศ.ชัยอนันต์ กล่าวถึงสังคมไทยในปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปมาก ในอดีตความขัดแย้งไม่รุนแรงมากนัก เพราะผลประโยชน์ที่ได้เสียไม่มากเท่ากับปัจจุบัน อีกทั้งระยะหลังยังพบว่า ผู้ที่ได้อำนาจทางการเมือง มักพยายามทำลายคู่ต่อสู้ โดยการกีดกันจากงบประมาณแผ่นดิน ส่งคนไปตรวจสอบบัญชี รวมถึงรวบเอาการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ มาเป็นอำนาจของตนโดยสิ้นเชิง เป็นลักษณะการเมืองแบบซีโร่ซัมเกม คือเป็นการเมืองของการได้หมดเสียหมด ทำให้ต้องต่อสู้กัน ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาของการเมืองไทย
“ในต่างประเทศ การเมืองบ้านเขายังตกลงต่อรองกันได้ คุณได้ 7 อีกคนได้ 3 ก็ตกลงกันได้
แต่การเมืองของไทยนี่จะเอาหมดมิหนำซ้ำคนที่ก้าวสู่วงการเมือง ยังใช้อำนาจทางการเมืองเป็นเครื่องมือเข้าไปครอบงำ กุมอำนาจทางเศรษฐกิจอีกด้วย มารยาทในการบริโภคทุกวันนี้จึงแย่ลง !
และยังขยายขอบเขตมากขึ้น อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่น อาศัยงบประมาณแผ่นดิน ใช้นโยบายซื้อได้ โดยไม่ต้องควักเงินในกระเป๋าตัวเอง”
ส่วนคำถามที่ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งจะดำเนินต่อไปยาวนานแค่ไหนนั้น ศ.ชันอนันต์ มีมุมมองว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความขัดแย้งที่มาพร้อมความรุนแรง มีการปะทะกันของฝูงชนนั้น เป็นเรื่องผิดปกติ
“สาเหตุความขัดแย้ง เกิดจากความคุกรุ่น ความไม่พอใจ ความคับแค้นของชนชั้นล่างที่ไม่มีอะไรจะต้องสูญเสีย รวมถึงกลุ่มคนที่มีความคิด มีจิตสำนึกต่างกันสองกลุ่ม ในลักษณะแบบไทยๆ ชอบใครมากกว่าใคร ซึ่งก็หวังว่าจะใช้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยแก้ปัญหาลงได้ หรือทางออกที่ประนีประนอมอีกทางหนึ่งคือ หากคู่ความขัดแย้ง แบ่งกันไป ไม่ตัดรอนผลประโยชน์กันทั้งหมด ทุกอย่างอาจจะง่ายขึ้น”