สว.ไพบูลย์ หนุนองค์กรต้านทุจริตจับตารถเมล์เอ็นจีวีเป็นกรณีตัวอย่าง
สว.ไพบูลย์ เผยกระแสต้านทุจริตเข้มแข็ง-ตื่นตัวขึ้นมาก คาดเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมภายในปีนี้ หนุนองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น-ภาคประชาสังคมติดตามโครงการรถเมล์เอ็นจีวี ให้โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ชี้จะเป็นกรณีตัวอย่างในสังคม
ในงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่น 2556 : ACT NOW ร่วมกันสู้ กอบกู้อนาคต ที่จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน มีเสวนาหัวข้อ "ชำแหละผลการวิจัยนิสัยโกงกินและการตอบสนองของแต่ละภาคส่วน" โดยมี นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนบัวหลวง
นายไพบูลย์ กล่าวว่า การที่กระแสเรื่องต่อต้านคอร์รัปชั่นในประเทศไทยดีขึ้นไม่ได้มาจากการที่รัฐบาลรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่เกิดจากรัฐบาลไปคอร์รัปชั่นจนประชาชนทนไม่ได้ จากอดีตที่เมื่อมีการคอร์รัปชั่น ประชาชนได้ประโยน์จริง แต่ปัจจุบันเมื่อมีการคอร์รัปชั่นประชาชนไม่ได้ประโยชน์ แต่กลับเป็นภัย เช่น โครงการจำนำข้าว ผู้ได้ประโยชน์เป็นชาวนาจำนำหนึ่ง ประมาณ 1 ล้านกว่าราย เจ้าของโรงสีและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่กี่ร้อยราย แต่ประชาชนทั่วประเทศ 60 ล้านคนได้รับผลกระทบ
"แม้ว่าผลด้านลบจากโครงการจำนำข้าวจะทำให้ประเทศเสียหายมหาศาล แต่มองมุมกลับก็เป็นการกระตุกให้สังคมไทยตื่นรู้และมีความเข้าใจว่าหายนะที่จะเกิดขึ้นจากคอร์รัปชั่นรุนแรงเพียงใด" นายไพบูลย์ กล่าว และว่า ในอดีตกรณีทุจริตคลองด่านทำความเสียหาย 10,000 กว่าล้านบาทก็นับว่าใหญ่โตมากแล้ว แต่โครงการจำนำข้าวโครงการเดียวสร้างความเสียหายหลายแสนล้านบาท รวมถึงโครงการอื่นๆ เช่น โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่เตรียมทุจริตคอร์รัปชั่นตั้งแต่การประมูลยิ่งมหาศาล
สำหรับโครงการรถเมล์เอ็นจีวี นายไพบูลย์ บอกว่า สังคมตื่นตัวกับโครงการนี้มากขึ้น จากการสำรวจคนกรุงเทพฯ เห็นว่าโครงการไม่โปร่งใสและมีผลประโยชน์ 40% จากยอดเงิน ตั้งแต่โครงการนี้เริ่มต้นใช้ยอดเงิน 80,000 ล้าน จนมีกระแสต่อต้านและปัจจุบันลดลงมาเหลือ 10,000 กว่าล้าน แต่ก็เป็นเพียงค่าตัวรถที่ไม่รวมค่าซ่อมบำรุง
"หากตื่นตัวและติดตามอย่างเข้มแข็ง โครงการรถเมล์เอ็นจีวีจะเป็นโครงการแรกที่พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของประชาชนที่จะทำให้สังคมกลับไปสู่จุดที่ถูกต้อง โปร่งใส ได้รถเมล์ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นของคนกรุงเทพโดยเร็ว สังคมโดยรวมเดินไปอย่างเกิดประโยชน์ที่สุด ส่วนโครงการรับจำนำข้าวที่แม้จะสายไปแล้ว เสียหายแล้ว แต่เอาประโยชน์ในการที่ประชาชนและองค์กรต่างๆ ร่วมกันตรวจสอบทำให้เป็นกรณีที่จารึกไว้ในสังคมไทยเพื่อไม่ให้มีใครเอาเยี่ยงอย่างและทำขึ้นมาได้อีก"
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลไม่เคยทำเรื่องปราบคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง แต่กลับนำงบประมาณของ ป.ป.ช.ที่มีหน้าที่โดยตรงในการต่อต้านทุจริตมาไว้ที่สำนักนายกฯ เพื่อโฆษณาสร้างภาพว่ารัฐบาลทำแล้ว ทั้งที่จริงแค่ทำหน้าที่ให้โปร่งใส มีการตรวจสอบภายในรัฐมนตรีที่กระทำการไม่ชอบมาพากลแล้วจัดการให้เด็ดขาด ไม่ประกาศแค่คำพูด แต่ทำให้เป็นรูปธรรม พิสูจน์คณะรัฐมนตรี ใครทำผิดต้องกล้าดำเนินการ ไม่ใช่แค่สั่งย้าย ดังนั้น เรื่องประกาศวาระแห่งชาติในการต่อต้านคอร์รัปชั่นของรัฐบาล จึงเหมือนกับการประกาศสภาปฏิรูปการมืองที่ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่คณะรัฐมนตรี
"ผมว่าไม่เกิน 10 ปีนี้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแน่และความเปลี่ยนแปลงขั้นตอนที่เป็นจุดเปลี่ยนน่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ เพราะตอนนี้ภาคประชาชนเข้มแข็งมากขึ้น หากประชาชนตื่นรู้จะเป็นวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่รังเกียจคอร์รัปชั่น ต้องการให้สังคมโปร่งใส ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่แค่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเหมือนที่ผ่านมา"
ขณะที่ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า กลไกการทำงานขององค์กรอิสระที่มีอยู่ในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทย เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ช.) นักวิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชนยังทำงานได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะเมื่อทำงานแยกส่วน ต่างฝ่ายต่างทำงาน จึงควรร่วมกันตรวจสอบ ขับเคลื่อน แบ่งปันข้อมูล และที่สำคัญที่สุด ภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้ติดตาม นำมาตรวจสอบและมีส่วนเข้าไปตรวจสอบ เนื่องจากปัจจุบันหลายปัญหาในสังคมไม่สามารถหาทางออกและแก้ไขได้เพราะไม่มีข้อมูล รวมถึงไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
ด้านนางวรวรรณ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลมีความต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอเสนอให้ระบุในรัฐะรรมนูญด้วยว่าทุกนโยบายที่รัฐบาลจะประกาศใช้ จะต้องผ่านการวิจัย วิเคราะห์ความเป็นไปได้และความคุ้มค่าต่อประเทศก่อนที่จะนำมาเสนอและใช้จริง เพื่อลดการทุจริตในโครงการของภาครัฐ และป้องกันการใช้งบประมาณโดยมิชอบ และไร้ประสิทธิภาพ