รองเลขาฯ พระปกเกล้าจี้อปท.คิดเเผนรองรับประชาคมอาเซียนรุกชุมชนชายเเดน
'รศ.วุฒิสาร ตันไชย' เผยประชาคมสังคมเเละวัฒนธรรมอาเซียนกระทบชุมชนสุด เเนะอปท.วางเเผนเชิงรุกเปลี่ยนเเปลง-เติบโต นายกเล็กยะลาหวั่นเมืองชายเเดนถูกทุนฮุบ กระทบเอสเอ็มอี เตรียมสูตรสัมพันธ์เเบบเผ่าพันธุ์เเก้
วันที่ 6 ก.ย. 2556 สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาประจำปี 2556 เรื่อง ‘ก้าวรุก ตั้งรับ กับประชาคมอาเซียน:บทบาทท้องถิ่นไทย’ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ
รศ.วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยกำลังให้ความสำคัญกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community:AEC) จนลืมไปว่ายังมีองค์ประกอบอีก 2 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community:APSC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community:ASCC) ที่ยังถูกละเลยอยู่
โดยเสาหลักที่กระทบบทบาทท้องถิ่นไทยมากที่สุด คือ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เนื่องจากเกี่ยวโยงกับหลักการพัฒนามนุษย์ การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์ ซึ่งล้วนแต่ขึ้นอยู่กับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
“ประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นในปี 2558 แน่นอน ซึ่งสิ่งที่จะเกิดตามมาคงไม่ก้าวหน้าถึงขั้นตั้งสภาเหมือนสหภาพยุโรป (European Union:EU) แต่เรื่องมาตรฐานระดับอาเซียนเกิดขึ้นแล้ว เช่น มาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร มาตรฐานสวัสดิการรักษาพยาบาล”
รองเลขาฯ พระปกเกล้า กล่าวถึงระบบโลจิสติกส์เป็นตัวอย่างที่จะกระทบภาคท้องถิ่นได้ เช่น รัฐบาลมีนโยบายรถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่ตัดผ่านพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเกิดการไหลของกลุ่มทุนที่ไม่มีสิ่งใดกีดขวาง เกิดการเปลี่ยนเเปลงเมืองชายเเดน และการเคลื่อนย้ายประชากรไปยังพื้นที่ต้องการแรงงาน ทำให้ต้องสร้างมาตรฐานการบริการสาธารณสุขรองรับอย่างเท่าเทียม ดังนั้นประชาคมอาเซียนจึงส่งผลกระทบต่อประเทศทั้งในแง่โอกาสและภาระ
ทั้งนี้ รศ.วุฒิสาร ยังตั้งคำถามว่า อปท.อยากเห็นพื้นที่ในปกครองเปลี่ยนแปลงทิศทางใด เมื่อประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นและจะนำมาซึ่งโอกาสและภาระ จึงเรียกร้องให้ผู้นำท้องถิ่น ‘เปลี่ยนอย่างมีการวางแผน และ เติบโตอย่างมีการวางแผน’ โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ชายแดนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน
“เราต้องขับเคลื่อนกลไกเตรียมพร้อมรับประชาคมอาเซียนให้มากกว่าการปักธงหน้าโรงเรียน หรือให้นักเรียนท่องจำชื่อเมืองหลวงของแต่ละประเทศ แต่ต้องหันมาคิดแผนเปลี่ยนแปลงและแผนเติบโต” รศ.วุฒิสาร กล่าว และว่า ตนเองไม่อยากให้อปท.รอรัฐบาลสั่ง ทั้งที่สามารถรวมตัวพูดคุยกับภาคเอกชนหาข้อสรุปเสนอต่อรัฐบาลก่อนได้ว่าท้องถิ่นต้องการทิศทางการเปลี่ยนแปลงภายใต้ประชาคมอาเซียนอย่างไร แต่การขับเคลื่อนครั้งนี้ต้องทำงานแบบ ‘เชิงรุก’ ไม่ใช่ ‘เชิงลุก’ (ลุกลี้ลุกลน) ที่คนไทยมักนำมาใช้แก้ไขปัญหาเหมือนปัจจุบัน
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา จ.ยะลา กล่าวว่า เมื่อประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น สิ่งที่จะหลั่งไหลเข้ามาในท้องถิ่น โดยเฉพาะเมืองเศรษฐกิจชายแดน คือ กลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศ อาจส่งผลกระทบให้สินค้าเอสเอ็มอีไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ นอกจากนี้การเคลื่อนย้ายของประชากรส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาเชิงสังคม เช่น ด้านการสาธารณสุข อาชญากรรม ล้วนแต่เกี่ยวโยงกับหน้าที่ของอปท.ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม มองว่าการขับเคลื่อนที่ดีควรให้พื้นที่ชายเเดนใช้หลักความสัมพันธ์ทางเครือญาติเผ่าพันธุ์เป็นตัวเชื่อมโยงความต้องการในเเต่ละด้าน
นายกเทศมนตรีนครยะลา ยังฝากถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นด้วยว่า ควรอนุมัติงบประมาณให้บุคลากรในท้องถิ่นได้ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก เพื่อเพิ่มเติมความรู้ความสามารถ ซึ่งส่วนตัวมองว่ามีความสำคัญต่อการนำท้องถิ่นสู่ประชาคมอาเซียน .
ที่มาภาพ: http://loadebookstogoshow.blogspot.com/2013/04/blog-post.html