‘พญ.พรทิพย’ ชี้หลักสูตรพระปกเกล้าเดินถูกทาง ใช้ CSR เชื่อมโยงเครือข่าย
'พญ.พรทิพย์' เห็นพ้องงานวิจัย 'หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง' หวังผลเครือข่ายมากกว่าความรู้จริง เผยดึง 'สื่อมวลชน' เรียนเป็นสิ่งดี เเต่เกรงหลายคนไม่มีเวลาอาจกระทบได้
หลังจากดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนองานวิจัยเรื่อง ‘เครือข่ายผู้บริหารระดับสูง’ หนึ่งในผลงานวิจัย ‘สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่นคงและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป’ อีกครั้ง ภายในงาน KPISR Symposium เนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปี วันสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า โดยตอนหนึ่งได้เปิดเผยถึงแรงจูงใจที่ทำให้ผู้เข้าเรียนหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ต้องการเครือข่าย (คอนเนคชั่น) นั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สัมภาษณ์พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้ตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะนักศึกษาหลักสูตรสถาบันพระปกเกล้า รุ่นที่ 17 ต่องานวิจัยดังกล่าว โดยระบุว่า เดิมสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงานก.พ.) กำหนดข้าราชการที่จะเป็นผู้บริหารต้องผ่านหลักสูตรสำคัญ จึงจัดหลักสูตรนักบริหารระดับสูง (นบส.) ขึ้น แต่เนื่องจากหลักสูตรดังกล่าวจัดขึ้นน้อย จึงทำให้เกิดหลักสูตรเทียบเท่าอื่น ๆ รองรับ หนึ่งในนั้น คือ หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) และหลักสูตรสถาบันพระปกเกล้า
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า นักศึกษามิได้ต้องการความรู้ หากแต่ต้องการได้ฐานในการเติบโตสายบริหารมากกว่า ส่งผลให้ผู้เรียนต่างวิ่งเต้น และเมื่อมีภาคเอกชนเข้ามาเรียนในหลักสูตรดังกล่าวด้วย ผลประโยชน์ที่ได้จึงมากกว่าการเป็นผู้บริหาร นั่นคือ การได้เครือข่าย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลประโยชน์แน่นอน
“ผลประโยชน์แรกที่ไม่เสียหายของการมีเครือข่าย เช่น การได้รู้จักเครือข่ายและทำกิจกรรมของผู้บริหารกรมหนึ่ง ตามหลักซีเอสอาร์ของสถาบันพระปกเกล้า โดยภาคเอกชนมีส่วนช่วยเหลือ ก่อให้เกิดสิ่งดี” ผู้ตรวจราชการฯ สำนักงานปลัดก.ยุติธรรม กล่าว และว่า แต่อีกหลายกรณีเมื่อต้องเจอกับภาคการเมืองที่มีการฝากกันขึ้น กลายเป็นผลประโยชน์ส่วนที่สอง จนท้ายที่สุดก่อให้เกิดความฟุ่มเฟือย
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวต่อว่า เมื่อบางองค์กรเข้ามาแสดงความร่ำรวย และเกิดทัศนคติที่ว่า การที่คนหนึ่งเข้ามาเลี้ยง อีกคนหนึ่งก็ต้องมีการเอาคืน ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ส่วนตัวจึงเห็นเป็นจริงตามที่งานวิจัยของดร.นวลน้อยนำเสนอไว้ และควรนำผลวิจัยกลับมาทบทวนหลักสูตรของทุกองค์กรว่า แท้จริงแล้วผู้เรียนจะได้อะไรจากการศึกษานี้
"สำหรับตนเองที่ศึกษามาเกือบทุกหลักสูตร ซึ่งยอมรับว่าได้รับความรู้แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม การศึกษาหลักสูตรสถาบันพระปกเกล้านั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดไม่เหมือนกับหลักสูตรอื่น คือ การจัดให้มีบรรษัทภิบาล (Corporate Social Responsibility:CSR) หมายถึงทำอะไรก็ได้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ถือว่าเป็นการเริ่มปรับเปลี่ยนในทิศทางที่ดีขึ้น อันเกิดจากการใช้เครือข่ายให้เกิดประโยชน์ หากทุกองค์กรมีการนำเรื่อง CSR ไปเป็นทิศทางพัฒนาได้ จะกลายเป็นเครือข่ายที่นำประโยชน์กลับคืนสู่ประเทศมากกว่าเพื่อตนเอง"
ผู้ตรวจราชการ สำนักงานปลัดก.ยุติธรรม กล่าวถึงแนวคิดเปิดพื้นที่ทางการศึกษาแก่สื่อมวลชนด้วยว่า ก่อนหน้านี้ได้เกิดขึ้นกับหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูงแล้ว แต่หลักสูตรอื่นยังไม่เห็น ซึ่งต้องเข้าใจว่าสื่อมวลชนส่วนใหญ่ไม่มีเวลาหรือไม่มีกิจกรรมที่เกิดให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ อย่างไรก็ตาม การให้สื่อมวลชนเข้ามาศึกษาในหลักสูตรเป็นสิ่งที่ดี แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งกันและกันได้ .