“บวรศักดิ์” โชว์เข้มหลักสูตรพระปกเกล้า - เรียนหวัง "คอนเน็คชั่น" ไปที่อื่น
ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ย้ำผลวิจัยวิพากษ์หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง บนเวที 15 ปี ตั้งความหวังสถาบันพระปกเกล้าจะสร้างกรอบจริยธรรมหลักสูตรผู้บริหาร ทิ้งระยะห่าง ป้องกันผลปย.ทับซ้อน
วันที่ 5 กันยายน สถาบันพระปกเกล้า จัดงานสัมมนา KPISR Symposium เนื่องในวันครบรอบสถาปนาสถาบันพระปกเกล้า 15 ปี ณ ห้องวายุภักษ์ 2-4 อาคารศูนย์ประชุม (โซนทิศเหนือ) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ไฮไลท์ โดยศ.เกียรติคุณ น.พ.ประเวศ วะสี เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ เรื่องการสร้างสังคมสันติสุข ตอนหนึ่งถึงปัจจัยชี้ขาดอนาคตประเทศ ที่นอกจากการเมืองดี เศรษฐกิจดี และศีลธรรมดีแล้ว สังคมต้องเข้มแข็งด้วย
จากนั้น ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ทำวิจัย "เครือข่ายผู้บริหารระดับสูง" หนึ่งในผลงานวิจัย "สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป" โดยมีการศึกษาโครงสร้างอำนาจจากการวิเคราะห์เครือข่ายความสัมพันธ์การศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ โดยแสดงให้เห็นเชื่อมโยงระหว่างบุคคลและองค์กรในระดับสูง หรือชนชั้นนำในสังคม ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ดร.นวลน้อย กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นนี้ ยังไม่เผยแพร่ เนื่องจากขณะนี้ถูกส่งไปให้นักกฎหมายพิจารณาอยู่ จากกนั้นจะมีการให้ปรับเนื้อหาบางส่วนเพื่อไม่ให้มีประเด็นเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง
สำหรับที่มาของการทำวิจัยเรื่องนี้นั้น ดร.นวลน้อย กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีหลักสูตรฝึกอบรมผู้บริหารระดับสูงในวิชาชีพต่างๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก เริ่มแรกเน้นเฉพาะในวิชาชีพของตนเองเป็นหลัก จนระยะต่อมาเกิดความพยายามผสมผสาน นำคนในวิชาชีพอื่นๆ มาร่วมฝึกอบรมด้วย ซึ่งหลักสูตรการศึกษาที่มีลักษณะไม่เป็นทางการ จะมีลักษณะพิเศษ คือการคัดสรรผู้คนที่ถือระดับครีม หรือระดับชนชั้นนำของแต่ละกลุ่มเข้ามาเรียน ดังนั้นสามารถทำให้ใครที่อาจหวังประโยชน์เข้ามาเกาะเกี่ยวได้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ศึกษาหลักสูตรผู้บริหาร 6 หลักสูตร โดยหนึ่งในนั้นมีหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) ของสถาบันพระปกเกล้าอยู่ในผลการศึกษาด้วย
ผู้ทำวิจัย กล่าวถึงแรงจูงใจผู้เข้ามาเรียน ส่วนใหญ่จากการวิจัย เมื่อสอบถามต่างก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการคอนเนคชั่น ฉะนั้นจึงเกิดปรากฎการณ์ ที่เมื่อมีคนมีชื่อเสียงมาเรียนในรุ่นนั้นๆ จะเป็นแรงดึงดูดให้คนยิ่งอยากเข้ามาเรียน รวมถึงพิจารณาภาระงานด้านวิชาการ และการเข้าห้องเรียน ประกอบ
“งานวิจัยพบว่า หลักสูตรผู้บริหารจะให้ความสำคัญมากๆ กับการปฐมนิเทศ โดยอ้างว่า สร้างความคุ้นเคยและละลายพฤติกรรม มีการรับน้อง มีกระบวนการมากกว่าสถาบันการศึกษาในระบบปกติ ส่วนในช่วงการเรียนการสอน บางแห่งมีจุดเด่น เรื่องการสร้างความสัมพันธ์ ผ่านการเลี้ยงสังสรรค์ มีบางหลักสูตรเสียค่าใช้จ่ายเลี้ยงสังสรรค์ครั้งหนึ่งประมาณ 1 ล้านบาท รวมถึงมีการจับพี่รหัสน้องรหัส คนจะอายุต่างอย่างไรให้เรียก “พี่” หมด เป็นต้น ”
ดร.นวลน้อย กล่าวอีกว่า บางหลักสูตรบริษัทเอกชนจะเข้ามาบริการ คำถามคือตรงนี้คืออะไรเป็นสปอนเซอร์ตลอดหลักสูตร ขณะที่ฝ่ายราชการ รับบริการ จากนั้นมีการตั้งชมรมศิษย์เก่าขึ้นมา ซึ่งหากวิเคราะห์ตรงนี้จะเป็นอะไรต่อไป
"ยิ่งมีการจัดกิจกรรมมากเท่าไหร่ ความสัมพันธ์เครือข่ายก็ยิ่งแน่นแฟ้นมากขึ้นเท่านั้น ฉะนั้นเครือข่ายจึงหลากหลาย และความสัมพันธ์มีหลายระดับ ทั้งแน่นแฟ้นมาก หลวมๆ ห่างๆ ทิ้งกันไปเลย" ผู้ทำวิจัย กล่าว พร้อมกับยกตัวอย่างอดีตนายทหารท่านหนึ่ง เข้าเรียนอยู่ 3 หลักสูตร ขณะที่ก็มีบุคคลจำนวนมากที่เข้าไปเรียน 3-4 หลักสูตร บางคนเรียนเกือบครบ ฉะนั้นเครือข่ายสามารถเชื่อมโยงกัน ทั้งอย่างไม่เป็นทางการ และทางอ้อมที่สามารถสร้างขึ้นมาได้อีกจากเครือข่ายเดิม
ดร.นวลน้อย กล่าวถึงการจัดตั้งหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ก็คือการสร้างเครือข่ายภายในระบบอำนาจของรัฐ แสวงหาเครือข่ายจากภายนอกเข้ามาเพิ่มบทบาท และศักยภาพคนในภาครัฐ ขณะเดียวกันภายนอกก็ต้องการเข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์เช่นเดียวกัน เรียกง่ายๆ การจัดตั้งหลักสูตรเช่นนี้ เป็นการหาพวกเพิ่ม เพิ่มอำนาจต่อรองต่างๆ ถามว่า ทุนทางสังคมเหล่านี้ได้ถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคลมากกว่า หรือประโยชน์สาธารณะมากกว่ากัน
ดังนั้น การเป็นเครือข่ายที่ดีจะทำอย่างไร คำว่า พวกเดียวกัน หรือการทอดสายสัมพันธ์ให้ต่อเนื่อง ทั้งที่มีพื้นฐานกลุ่มผลประโยชน์ขัดกัน จะต้องมีระยะห่าง พร้อมฝากความหวังไว้ที่ สถาบันพระปกเกล้าจะสามารถสร้างหลักสูตรให้เป็นแบบตัวอย่าง สร้างกรอบจริยธรรมให้เป็นแบบอย่างกับที่อื่นให้ระมัดระวังผลประโยชน์ทับซ้อนตรงจุดนี้ได้
ขณะที่ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวในช่วงท้ายถึงงานวิจัยของดร.นวลน้อยว่า เป็นประโยชน์ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่น้ำตาลที่หวาน แต่ก็เป็นยาที่ทำให้คนที่เป็นบัณฑิตต้องนำไปคิดและปรับปรุง ดังนั้น ใครที่เป็นผู้นำมาเรียนที่สถาบันพระปกเกล้า หากอยากได้สมัครพรรคพวก ขอให้หลีกสถาบันนี้ จงไปเรียนสถาบันอื่น ซึ่งมีให้เลือกมากมาย
สำหรับการกำหนดคุณสมบัติ ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ผู้มาเรียนในหลักสูตรสำคัญของสถาบันพระปกเกล้า เพื่อไม่ให้เกิดลักษณะ “หาพวก” เรียนหลักสูตรนี้ ก็กระโดดไปหลักสูตรอื่น จึงมีการกำหนดว่า ต้องจบหลักสูตรอื่นมาแล้ว 2 ปี จึงจะรับ และมีกติกาไม่รับคนนามสกุลกันในรุ่นเดียวกัน แม้กระทั่งรุ่นติดกัน หากเป็นพี่น้อง สามีภริยา บิดามารดา บุตร เพราะที่นี่ไม่ใช่โรงเรียนครอบครัว นี่คือความพยายามที่ยึดถือมาตลอดในการคัดเลือกนักศึกษา