ชาวบ้านร้อง 2 เดือนราชการบรรเทาทุกข์ภัยพิบัติเขาพนมไม่คืบ
ผู้ประสบภัยน้ำท่วม-โคลนถล่ม อ.เขาพนม กระบี่ ร้องการช่วยเหลือล่าช้า ยังขาดที่อยู่อาศัย-น้ำ-ไฟ สร้างเงื่อนไขใหม่สั่งทุบบ้านก่อนจึงสร้างให้ กังวลที่ดินเดิมสูญ ผู้ว่าฯ กระบี่แจงรัฐไม่ได้หวังยึดที่ทำสวนป่า ทุกอย่างเดินตามกติกา คชอ.ชุดสาทิตย์
จากกรณีภัยพิบัติน้ำท่วม ดินโคลนถล่มใน อ.เขาพนม จ.กระบี่ สร้างความเสียหายให้บ้านเรือนกว่า 166 หลัง เป็นบ้านที่พังทั้งหลังรวม 76 หลัง และบ้านอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยอีก 90 หลัง มีผู้เสียชีวิตกว่า 60 ราย
เมื่อเร็วๆนี้ ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราลงพื้นที่ร่วมกับเครือข่ายผู้ประสบภัย อ.เขาพนม, เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิและสิทธิชุมชน, มูลนิธิชุมชนไทย และภาคีเครือข่าย โดย นายทวีศักดิ์ ศรีมุข คณะกรรมการเครือข่ายผู้ประสบภัย อ.เขาพนม เปิดเผยว่าตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้กว่า 2 เดือนแล้วที่ชาวบ้านยังคงเดือดร้อน การช่วยเหลือจากราชการยังไม่ทั่วถึงไม่เต็มที่และไม่มีระบบจัดการที่เหมาะสม บางพื้นที่ยังขาดระบบสาธารณูปโภค ไม่มีน้ำไฟใช้
นายทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่าปัญหาหลักจริงๆคือที่อยู่อาศัย เช่น หมู่ 6 บ้านห้วยน้ำแก้วยังไม่ได้สร้างแม้แต่หลังเดียว หรือที่บ้านห้วยเนียงมีบ้านพักชั่วคราวเพียง 19 หลัง ขณะที่ชาวบ้านกว่า 40 ครัวเรือนต้องอยู่กันแออัด
“ปัญหาติดขัดที่ราชการ บอกต้องเป็นครอบครัวที่มีที่ดินก่อนจึงสร้างให้ ไม่มีรอก่อน ล่าสุดมีคำสั่งให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเซ็นรื้อถอนบ้านเดิมก่อนไม่เช่นนั้นไม่สร้างให้ ที่ทำไปบ้างแล้วก็สั่งระงับ”
นางวรรณี ทิพย์กุล ชาวบ้านผู้ประสบภัยบ้านห้วยน้ำแก้ว อ.เขาพนม กล่าวว่าขณะนี้ตนอาศัยอยู่ญาติ เนื่องจากไม่มีบ้าน เคยได้รับเงิน 42,000 บาท จากคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) ที่มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธาน และกู้เพิ่มอีกกว่า 20,000 บาทเพื่อไปซื้อที่ดินหวังให้ราชการสร้างบ้านให้ จนถึงวันนี้ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ
“ไม่ได้ต้องการเครื่องอำนวยความสะดวกหรือเงินทองอะไรเลย อย่างเดียวคือบ้าน แต่ยังไม่ได้เลย ทาวงถามไปทางราชการกี่ครั้งก็บอกจะดำเนินการให้ ตรงนี้เข้าใจ แต่อยากให้เห็นใจว่าเราเองก็เดือดร้อน”
นางสมหมาย พวงเจริญ ชาวบ้านผู้ประสบภัยบ้านต้นหาร อ.เขาพนม กล่าวว่าขณะนี้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยยังถูกราชการบีบบังคับให้ลงลายมือชื่อรื้อถอนบ้านหลังเก่า เพื่อให้ได้บ้านหลังใหม่ แต่ประเด็นที่ชาวบ้านคัดค้านเพราะเห็นว่าที่ทำดินที่ได้อยู่ห่างไกลที่ทำกิน และไม่ต้องการทิ้งบ้านตัวเองที่สร้างมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย
“ถามกลับไปยังราชการบ้านหลังแรกมีค่ากับจิตใจขนาดไหน กว่าจะได้เสากว่าจะได้กระเบื้องแต่ละแผ่นมันแลกมากับหยาดเหงื่อและความภาคภูมิใจ แม้จะอยู่แบบเสี่ยงภัยแต่ก็ทำใจยากที่จะให้ทุบทิ้งไปต่อหน้า จริงๆ ราชการน่าจะมีวิธีการอื่นอย่างน้อยให้เก็บบ้านหลังเดิมไว้เก็บพืชผลทางการเกษตรก็ยังดี”
นางสมหมาย กล่าวว่าสิ่งที่ชาวบ้านกังวลคือราชการเพิ่งประกาศโครงการจัดทำแนวเขตเพื่อป้องกันการบุกรุกป่าราชินี ซึ่งเป็นไปได้ที่ชาวบ้านจะสูญเสียที่ดินหากทุบบ้านเดิมทิ้ง ที่สำคัญคือพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนยางสวนปาล์มที่ใช้ทำมาหากิน ล่าสุดมีชาวบ้านที่ยินยอมรื้อถอนแล้ว 9 หลังคาเรือน
ด้าน นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ผู้ว่าราชการ จ.กระบี่ กล่าวว่าตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา จังหวัดดำเนินการไปแล้ว 2 ส่วน ส่วนแรกคือการสร้างที่อยู่อาศัยทั้งบ้านพักชั่วคราวและบ้านพักถาวร เดือนแรกทำเสร็จแล้ว 40 หลัง เดือนที่สองนี้เน้นไปที่ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย แต่ยังมีข้อติดขัดเนื่องจากตามระเบียบชาวบ้านจะต้องรื้อถอนบ้านตนเองจากพื้นที่เดิมก่อน ราชการจึงจะสร้างบ้านหลังใหม่ให้ เพราะว่าที่เดิมไม่ปลอดภัย ซึ่งชาวบ้านสามารถไปหาที่ดินใหม่แล้วจังหวัดจะสนับสนุนการสร้างให้ทั้งหมด ทั้งนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ยินดีทำตามประมาณ 80 รายแล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่ไม่ยินยอม
ส่วนที่สองคือการช่วยเหลือด้านพืชผลการเกษตร ขณะนี้ได้ประสานกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการ
“ส่วนที่กังวลว่าที่ดินจะถูกยึดไปทำสวนป่าฯ ไม่เกี่ยวกัน เราต้องการจัดทำแนวเขตป้องกันการบุกรุกป่า ตั้งเป้าไว้ 1,500 ไร่ ตอนนี้ได้ 1,200 ไร่เหลืออีก 300 ไร่ แต่ถ้าที่ดินที่ชาวบ้านอยู่คาบหรือบุกรุกก็ต้องทำตามกฎหมาย ถ้าบอกว่าชาวบ้านอยู่ก่อนก็ไปเข้ากระบวนการพิสูจน์สิทธิ์” ผู้ว่าราชการจ.กระบี่ กล่าว
นายวิวัฒน์ อินทรพานิช ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันตก กล่าวว่าการจะให้ชาวบ้านออกจากที่ดินที่เคยอยู่อาศัยทำกินมาตลอดตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายค่อนข้างลำบาก ราชการเองต้องเข้าใจ ต้องมองไปไกลถึงการออกแบบพื้นที่และแผนการรับมือที่เหมาะสมตั้งแต่แรก
ขณะที่นายธวัชชัย เทพสุวรรณ ผู้แทนจากกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่าในพื้นที่เสี่ยงก็ควรหาทางระวังหรือหลีกเลี่ยง จะคิดว่าไม่ย้ายไม่ได้อีกแล้ว และหากไม่รื้อเพราะไม่แน่ใจว่าจะสร้างบ้านใหม่ได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของส่วนราชการที่ต้องไปทำความเข้าใจ มีกระบวนการหรือทางเลือกให้ชาวบ้าน.