ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่น 5 ข้อเสนอต่อนายกฯ ปรับปรุงโครงการจำนำข้าว
ผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงผลวินิจฉัยกรณีเครือข่ายหยุดผูกขาดตลาดข้าวร้องเรียนโครงการรับจำนำส่อทุจริต เผยยื่น 5 ข้อเสนอให้ นายกฯ-ประธาน กขช.ปรับปรุงราคาให้ใกล้เคียงตลาด เปิดเผยข้อมูล ป้องกันพืชเกษตรอื่นสร้างเงื่อนไขตาม
วันที่ 4 กันยายน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกและรองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงผลการวินิจฉัยในกรณีที่นายวรา จันทร์มณี และคณะเครือข่ายหยุดผูกขาดตลาดข้าว และนายปราโมทย์ วานิชานนท์ และคณะ ได้ยินเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มี ศ.ศรีราชา เจริญพานิช เป็นประธาน ขอให้พิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีดำเนินตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีในการดำเนินตาม โครงการดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตลอดจนมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต อันก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศ
นายรักษเกชา กล่าวว่า จากการพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน พยานหลักฐาน ประกอบกับบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เห็นว่า โครงการดังกล่าวเป็นนโยบาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา โดยที่มติคณะรัฐมนตรีไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายประกอบกับการกระทำของคณะรัฐมนตรี ในการเห็นชอบตามนโยบายดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น จึงไม่อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
แต่เนื่องจากมีประเด็นการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล จึงได้ยื่นร้องเรียนในประเด็นเดียวกันนี้ ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่ง ป.ป.ช.ได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณา และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาสอบสวน
ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้วินิจฉัยให้ยุติการพิจารณาตามมาตรา 29 (1) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552 และตามมาตรา 28 (1) จะห้ามไม่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรับไว้พิจารณา หรือให้ยุติการพิจารณาก็ตาม แต่การปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว ยังมีปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในการดำเนินการของผู้เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้มีหนังสือเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี และ ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณานโยบายดังกล่าวที่จะเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2556/2557 ดังนี้
1.ขอให้พิจารณาใช้นโยบายรับจำนำข้าวเป็นเครื่องมือและกลไกของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร ชาวนาในช่วงระยะเวลาอันสมควร โดยพิจารณาใช้นโยบายประกันรายได้มาเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ในการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาให้มีรายได้ที่มั่นคงแน่นอนรวมด้วย เนื่องจากการแทรกแซงราคาพืชผลทางการเกษตรด้วยการรับจำนำข้าวได้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย เช่น การบิดเบือนกลไกตลาด เพิ่มภาระข้าวคงค้างในคลัง คุณภาพข้าวเสื่อม ราคาข้าวตกต่ำ รวมถึงปัญหาการทุจริตในทุกขั้นตอน ขณะที่นโยบายประกันรายได้จะช่วยลดช่องว่างของการทุจริตได้ในระดับหนึ่ง
2.ขอให้พิจารณารับจำนำข้าวในราคาที่เหมาะสม ใกล้เคียงกับราคาตลาด หากมีราคาที่แตกต่างกันมาก เมื่อหมดระยะเวลาการรับจำนำ เกษตรกรจะไม่มาไถ่ถอนผลิตผลของตนเอง รัฐบาลต้องแบกรับภาระในการเก็บรักษา และเพื่อไม่ให้เกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่นนำเรื่องดังกล่าวมาสร้างเงื่อนไขสำหรับราคาพืชผล และเป็นการลดปัญหาการลักลอบนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ
3.ขอให้พิจารณากำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกแต่ละชนิดให้เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต โดยอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผล ข้าวเปลือกคุณภาพดีต้องมีราคารับจำนำที่แตกต่างจากข้าวที่มีคุณภาพต่ำหรือด้อยกว่า ไม่ใช่เป็นการรับจำนำแบบทุกเมล็ด ที่ทำให้ได้ข้าวคุณภาพต่ำออกสู่ท้องตลาด
4.ขอให้พิจารณากระบวนการตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพของข้าวสารที่แปรรูปแล้วก่อนที่จะนำเข้าจัดเก็บในคลังของรัฐบาล โดยจำกัดผู้รับผิดชอบให้ชัดเจนในแต่ละขั้นตอน และมีกระบวนการตรวจสอบได้ตลอดเวลา
5.ขอให้พิจารณาการระบายข้าวในคลังของรัฐบาล โดบเปิดการประมูลอย่างเปิดเผย เป็นที่ทราบแก่บุคคลทั่วไปในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรเปิดประมูลในปริมาณจำนวนมากในคราวเดียวกัน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ค้ารายย่อยได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เปิดเผยตัวเลขปริมาณการจัดเก็บและปริมาณการส่งออก รายชื่อผู้ประมูลข้าวในคลังของรัฐบาล ราคาที่ประมูลได้ในแต่ละครั้ง ให้สาธารณะชนรับทราบ เพื่อความโปร่งใสและหลักะรรมาภิบาลในการดำเนินการ
นายรักษเกชา กล่าวด้วยว่า จากการลงพื้นที่ เก็บข้อมูล ตรวจสอบของคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั่วทุกภูมิภาค เช่น จังหวัดนครสวรรค์ พิจิตร และพัทลุง พบว่า มีกลุ่มบุคคล 5-6 คน และบริษัทจำนวนหนึ่ง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีหลักฐาน รายชื่อที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายจับแล้ว จากนี้จะเป็นการสืบสวนเพื่อเชื่อมโยงแหล่งที่มาต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอ 5 ข้อต่อนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) หากไม่พิจารณาหรือไม่ดำเนินการตาม ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะรายงานต่อสภาฯ เพื่อให้ดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติต่อไป