"ทูตกฤต"เปิดสัมพันธ์ลึกไทย-มาเลย์ จากยุคหัวเมืองไทรบุรีสู่สหพันธรัฐ
"การเสด็จฯเยือนประเทศไทยของ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย พร้อมด้วย สมเด็จพระราชินี ระหว่างวันที่ 2-5 ก.ย. ในฐานะพระราชอาคันตุกะของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือทุกด้านในอนาคต ตลอดจนความสัมพันธ์ของประชาชนทั้งสองประเทศแนบแน่นยิ่งขึ้น"
เป็นคำกล่าวของ นายกฤต ไกรจิตติ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่ให้สัมภาษณ์ระหว่างพำนักในประเทศไทยเพื่อถวายการต้อนรับ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย และสมเด็จพระราชินี ในการเสด็จฯเยือนประเทศไทย
สมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์นี้ มีพระนามว่า สมเด็จพระราชาธิบดี อัลมูตัสสิมู บิลลาฮี มูฮิบบุดดิน ตวนกู อัลฮัจญ์ อับดุล ฮาลิม มูฮัซซัม ชาห์ อิบนี อัลมาฮูม สุลต่าน บาดลิซาห์ หรือ สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่าน ตวนกู อับดุล ฮาลิม มูฮัซซัม ชาห์ ทรงเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย ลำดับที่ 5 และ 14 และเป็นสุลต่านแห่งรัฐเกดะห์ หรือเคดาห์ นับเป็นสุลต่านพระองค์แรกที่ได้รับเลือกเป็นพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียถึง 2 ครั้ง
ประมุขแห่งรัฐของสหพันธรัฐมาเลเซีย เรียกเป็นภาษามลายูว่า "ยังดี เปอร์ตวน อากง" แปลว่า "ผู้ปกครองสูงสุด" เทียบได้กับพระมหากษัตริย์ในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยแต่งตั้งจากเจ้าผู้ครองรัฐทั้ง 9 รัฐบนคาบสมุทรมาเลย์ จากทั้งหมด 13 รัฐของมาเลเซีย ดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และหมุนเวียนกันไปตามลำดับ
สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่าน ตวนกู อับดุล ฮาลิม มูฮัซซัม ชาห์ ทรงเคยเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการมาแล้วเมื่อวันที่ 1-8 ก.พ.2516 หรือ 40 ปีก่อน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย พระองค์ที่ 5 ขณะที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเคยเสด็จฯ เยือนมาเลเซีย เมื่อเดือน มิ.ย.2505
นายกฤต เล่าว่า รัฐเกดะห์ในอดีตก่อนที่จะมีการลงนามในหนังสือสัญญาเรื่องปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับสหพันธรัฐมลายู เมื่อวันที่ 10 มี.ค.2452 ก็คือเมืองไทรบุรี หนึ่งในหัวเมืองมลายูภายใต้การปกครองของสยาม โดย สุลต่านอับดุลฮามิด ฮาลิม ชาห์ หรือ เจ้าพระยาไทรบุรี คือเจ้าเมืองไทรบุรีคนสุดท้ายที่ขึ้นตรงต่อสยาม
ทั้งนี้ มเหสีของพระยาไทรบุรีคนหนึ่ง คือ หม่อมเนื่อง นนทนาคร ลูกสาวของ หลวงนราบริรักษ์ นายอำเภอเมืองนนทบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 5 และลูกของ สุลต่านอับดุลฮามิด ชาห์ กับ หม่อมเนื่อง ก็คือ ตวนกู อับดุล ราห์มาน บิดาแห่งเอกราช และนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย เมื่อครั้งยังเยาว์เคยเรียนหนังสือที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ด้วย
พระราชบิดาของ สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่าน ตวนกู อับดุล ฮาลิม มูฮัซซัม ชาห์ คือ สุลต่านบัดลิชาห์ ก็ทรงเป็นพระราชโอรสของ สุลต่านอับดุลฮามิด ฮาลิม ชาห์ หรือเจ้าพระยาไทรบุรี ทำให้ สมเด็จพระราชาธิบดีของมาเลเซียองค์ปัจจุบัน มีศักดิ์เป็นพระราชนัดดาของเจ้าพระยาไทรบุรี หรืออีกนัยหนึ่ง เจ้าพระยาไทรบุรีทรงเป็นพระอัยกาของสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบันนั่นเอง
"การเสด็จฯเยือนประเทศไทยของ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย และสมเด็จพระราชินี ในครั้งนี้ ซึ่งใกล้กับวันชาติของมาเลเซีย คือ วันที่ 31 ส.ค.ด้วย จึงถือเป็นประวัติศาสตร์ และจริงๆ แล้วไทยกับมาเลเซียมีความสัมพันธ์กันมา 500-600 ปี มีคนสยามในดินแดนคาบสมุทรมลายา ไทยเองก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมลายาก่อนลงนามในสนธิสัญญายก 4 หัวเมืองมลายูซึ่งก็คือมลรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซียในปัจจุบันให้อังกฤษ"
นายกฤต กล่าวต่อว่า การเสด็จฯเยือนประเทศไทยอีกครั้งของ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย จะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ทั้งทางด้านการค้า เศรษฐกิจ และการปกครอง รวมทั้งความสัมพันธ์ของประชาชนทั้งสองประเทศ ซึ่งตั้งแต่มาเลเซียประกาศเอกราชและได้รับการรับรองให้เป็นสหพันธรัฐมาเลเซียก็มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับไทยมาตลอด เคยจับมือกันก่อตั้งสมาคมประชาชาติอาเซียนจนมีความแข็งแกร่งอย่างมากในปัจจุบัน
"เรื่องเศรษฐกิจเรามีความร่วมมือกันมายาวนาน โดยเฉพาะในการขุดเจาะแก๊สบริเวณไหล่ทวีปทับซ้อนแก้ปัญหาเขตแดน การค้าระหว่างกันมีมูลค่าปีละ 8 แสนล้านบาท เป็นการค้าตามด่านชายแดนถึง 70% ส่วนการลงทุนก็มีบริษัทมาเลเซียมาลงทุนในไทย 130 บริษัท ขณะที่นักธุรกิจไทยก็ไปลงทุนในมาเลเซียไม่น้อย"
"ในฐานะที่มีชายแดนติดกัน ไทยกับมาเลเซียมีกลไกความร่วมมือ 3 กลไก คือ ความมั่นคง เศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน แต่สิ่งสำคัญคือความสัมพันธ์ระดับประชาชน เพราะคนไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับพื้นที่ทางตอนเหนือของมาเลเซียเป็นญาติพี่น้องกัน มีปู่ย่าตายายคนเดียวกัน ผู้ใหญ่ของมาเลเซียจำนวนไม่น้อยก็มีญาติอยู่ฝั่งไทย ทั้งปัตตานี และนราธิวาส"
นายกฤต กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้ใช้ประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกันมายาวนานเป็นฐานของความร่วมมือกับมาเลเซีย และก้าวต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการเชื่อมโยงด้านการคมนาคมระหว่างกันถือว่าสำคัญที่สุดเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 เพราะถ้าการคมนาคมสะดวก ก็จะส่งผลดีกับทั้งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
"เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินทางไปร่วมประชุมประจำปีกับ นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ของมาเลเซีย และได้ตกลงความร่วมมือในมิติอื่นๆ เช่น ป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งยาเสพติด ค้ามนุษย์ ขณะที่ความสัมพันธ์ของฝ่ายทหารก็แนบแน่น"
ในมิติการค้าและการลงทุนนั้น นายกฤต บอกว่า ความร่วมมือเรื่องอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นสิ่งที่น่าสนใจ มาเลเซียเสนอว่าไทยเป็นผู้ผลิตลำดับต้นๆ ของภูมิภาค ถ้าร่วมมือเป็นพันธมิตรผลิตและขยายตลาดร่วมกันก็จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้กับทั้งสองประเทศ ซึ่งฮาลาลไม่ใช่แค่อาหารหรือเรื่องของสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการบริการและการท่องเที่ยวด้วย
ขณะที่ยางพาราซึ่งกำลังมีปัญหาเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำจนมีการชุมนุมประท้วงในประเทศไทยนั้น นายกฤต กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าเกษตรกรไทยยังเน้นขายน้ำยางสด ยางแผ่นดิบ และยางก้นถ้วย ไม่ค่อยมีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า แต่ที่มาเลเซียมีโครงการสร้างเมืองยาง หรือ Rubber City ที่รัฐเกดะห์
"หากเราไปร่วมมือกับมาเลเซีย ส่งวัตถุดิบป้อนโรงงาน ดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามา ก็น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำได้ระดับหนึ่ง" เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวทิ้งท้าย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายกฤต ไกรจิตติ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่โรงแรมโอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ