นักวิจัยเปิดอุปสรรครายการเด็ก ชี้เวลาออกอากาศไม่เหมาะสม กระทบคุณภาพต่ำ
นักวิจัย เปิดผลการศึกษารายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก แม้มีเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่พอ แถมจัดตารางออกอากาศไม่เหมาะสม ชี้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญไม่มีคนดู ไร้สปอนเซอร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิชาการสื่อสารสาธารณะ (สวส.) ในฐานะหน่วยงานวิชาการของ Thai PBS ร่วมกับนักวิชาการ ทำการศึกษาวิจัยภายใต้ 'โครงการพัฒนารายการโทรทัศน์ สื่อสำหรับเด็กและเยาวชนของสถานีโทรทัศน์ Thai PBS' นำเสนอผลการวิจัยและข้อเสนอแนะในการผลิตและพัฒนาคุณภาพรายการสำหรับเด็กและเยาวชน รวมถึงสร้างระบบ กลไกในการพัฒนาสื่อสำหรับเด็กที่ยั่งยืนในอนาคต ในงานสัมมนาผลการวิจัยสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน ณ คอนเวนชั่น ฮอลล์ ๒ อาคาร D ชั้น ๒ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ผศ.ลักษมี คงลาภ นำเสนอผลการศึกษาในโครงการ "เด็กและเยาวชนไทยต้องการเห็นอะไรในรายการโทรทัศน์" ศึกษาพฤติกรรมการเปิดรับและความต้องการของเด็กและเยาวชนที่มีต่อรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชนทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS โดยการวิจัยใช้วิธีสนทนากลุ่มเด็กและเยาวชน อายุระหว่าง 12-22 ปี จำนวน 8 กลุ่ม กลุ่มละ 8 คน จำแนกตามความสนใจและวัฒนธรรมกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กเรียน กลุ่มเด็กชอบเล่นเกม กลุ่มเด็กสองล้อรักความเร็ว กลุ่ม K-POP กลุ่มเด็กเที่ยวกลางคืน กลุ่มจิตอาสา กลุ่มเพศทางเลือกและกลุ่มเด็กไอที
ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนเห็นว่า สื่ออินเทอร์เน็ต เป็นสื่อที่มีความสำคัญที่สุด เพราะสะดวกรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย ใช้เป็นช่องทางสำคัญในการติดต่อกับผู้อื่น สื่อที่เปิดรับเป็นอันดับสอง ได้แก่ โทรทัศน์ และอันดับที่ 3 คือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์และวิทยุ
โดยประเภทรายการที่ชอบดูมาก ได้แก่ รายการการ์ตูน แต่รายการที่ต้องการรับชมมากที่สุด คือ ประเภทซิทคอม เกมส์โชว์ รายการแสดงออกของเด็ก และอยากให้มีรายการประเภทซิทคอม เกมส์โชว์และรายการแสดงออกของเด็ก เช่น การประกวด ร้องเพลง ประกวดเต้นรำ รายการการ์ตูน รายการเรียลลิตี้ และสารคดีท่องเที่ยว และอยากได้เนื้อหาที่เน้นความสนุกสนานเป็นหลัก แฝงสาระอย่างพอดี ลงตัว ไม่ยัดเยียด
ข้อเสนอแนะจากงานวิจัย ระบุด้วยว่า รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชนควรเป็นเวทีให้เยาวชนทุกกลุ่มได้แสดงความสามารถ รวมทั้งเปิดโอกาสให้เยาวชนได้คิดสร้างสรรค์และมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น และแนวทางในการผลิตรายการโทรทัศน์ที่เป็นสื่อของพวกเขาอย่างแท้จริง นั่นคือ การรับรู้ถึงความคิดเห็นและมุมมองสะท้อนกลับจากฝั่งผู้รับสารด้วยอย่างเข้าถึง ลึกซึ้ง
ขณะที่"โครงการศึกษากลุ่มความคิดใหม่ และข้อเสนอแนะเชิงบูรณาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อรูปแบบ เนื้อหารายการโทรทัศน์ สื่อ สำหรับเด็กและเยาวชนในอนาคตของ Thai PBS" โดย ผศ.ดร.วัรชญ์ ครุจิต ที่ศึกษาจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ บุคคลที่มีชื่อเสียงที่เป็นต้นแบบของเยาวชน และผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็ก พบว่า ทุกคนเห็นตรงกันว่า จากการทำงานที่ต้องผลิตรายการเด็ก ในปัจจุบันเวลาออกอากาศของรายการมีเพิ่มมากขึ้นกว่าอดีต ผู้ผลิตรายการและสถานีโทรทัศน์เห็นความสำคัญของรายการสำหรับเด็กและเยาวชนมากขึ้นและคุณภาพของรายการเด็กมีพฒนาการมากขึ้นว่าเดิม
สำหรับจุดอ่อนของรายการเด็กในประเทศไทย พบว่า แม้รายการเด็กจะมีเพิ่มแต่ยังคงมีสัดส่วนที่น้อยกว่าจำนวนประชากรเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะรายการสำหรับเด็กปฐมวัย (ประเภท ป3+) ยังมีน้อยมากและไม่มีรายการที่ผลิตในประเทศ
รวมถึงการจัดตารางออกอากาศยังไม่เหมาะสม และเนื้อหาของรายการยังไม่เหมาะสม บางรายการเน้นไปเรื่องความบันเทิงเป็นหลัก
โดยปัญหาสำคัญที่เชื่อมโยงกันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนารายการเด็ก มี 3 ส่วน ได้แก่
1.เวลาในการออกอากาศไม่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่ 2.การชมรายการของกลุ่มเป้าหมายต่ำ ดังนั้น จึง 3.หาผู้สนับสนุนรายการได้ยาก ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจของสถานีที่จะให้เวลาในการออกอากาศที่ไม่เหมาะสม และคุณภาพออกมาไม่ดีเท่าที่ควร ตัวกลุ่มเป้าหมายจึงไม่สนใจชม
สำหรับรายการโทรทัศน์ที่เด็กอยากเห็นเพิ่มขึ้นในจอโทรทัศน์ ได้แก่
1. รายการบันเทิงแฝงสาระประโยชน์ รายการที่เด็กอยากดู แต่เป็นเนื้อหาที่ผู้ใหญ่อยากให้
2.รายการบังเทิงเชิงธรรมะ เช่น รายการเรียลลิตี้เชิงธรรมะ รายการเรียลลิตี้ทางวัฒนธรรมไทย
3.รายการที่ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมหรือปฏิสัมพันธ์ของเด็กในรายการและผู้ชม และกระตุ้นให้ลงมือทำ และทำการค้นคว้าหาคำตอบด้วยตัวเอง เช่น รายการสภาเด็ก
4.รายการแข่งขันเชิงสร้างสรรค์
5.รายการที่แสดงความเป็นธรรมชาติของเด็กที่ไม่ถูกปรุงแต่ง
6.รายการที่ช่วยให้เด็กเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง
7.รายการเพื่อการพัฒนาสำหรับเด็กเล็ก เด็กกลุ่มพิเศษ และเด็กด้อยโอกาส