เอาชนะความท้าทายเรื่องศีลธรรม นักวิชาการ แนะให้หวนกลับมาดู "รากเหง้า"
อ.ศรีศักร ชี้วันนี้ประเทศไทยตกเป็นทาสของประเทศมหาอำนาจ แถมไม่ทันโลกเพราะมัวแต่เลียนแบบ ตกอยู่ในโลกที่สร้างสิ่งเสมือนจริง บ้ายศฐาบรรดาศักดิ์ ใช้เงินเกณฑ์วัดคุณงามความดี
เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการ นักโบราณคดีและมานุษยวิทยา กล่าวในงานคนค้นฅนอวอร์ดสัญจรครั้งที่ 5 จัดขึ้นโดยทีวีบูรพา ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ( สวนโมกข์กรุงเทพฯ) ในหัวข้อ “ความท้าทายของศีลธรรมกับโลกในศตวรรษที่ 21”
รศ.ศรีศักร กล่าวถึงประเด็นความท้าทายในเรื่องศีลธรรมว่า โลกในปัจจุบันก้าวผ่านคำว่า วิกฤติในเรื่องศีลธรรมแล้ว เพราะขณะนี้วิกฤติเดินไปไกล เราถูกคำว่า โลกาภิวัฒน์เข้าครอบงำ ประเทศมหาอำนาจโจมตีประเทศเล็กๆ แม้เราจะรู้ว่า กลุ่มประเทศมหาอำนาจที่แท้จริงมีนิสัยอย่างไร แต่เราก็ยังยอมตกเป็นทาส
"ไทยยอมตกเป็นทาสประเทศมหาอำนาจ ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา ยิ่งไปกว่านั้นสังคมไทยเป็นสังคมที่บ้ายศฐาบรรดาศักดิ์ นักการเมืองซื้อเสียงเข้าสภาเพราะอยากแต่งชุดติดสายสะพาย สมัยก่อนเกณฑ์ในการวัดคุณงามความดีของคนไม่ได้ใช้เงิน เราดูที่การทำงาน ความทุ่มเทและความดี แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ เหล่านักการเมือง ข้าราชการ ทำงานเพื่อตัวเอง นักการเมืองยอมตกเป็นทาสประเทศมหาอำนาจ ข้าราชการเป็นขี้ตีน ส่วนประชาชนถูกมองเป็นแค่ฝุ่น"
รศ.ศรีศักร กล่าวถึงสังคมไทยวันนี้เป็นสังคมอบายมุข สังคมที่เป็นหนี้ มีแต่กลุ่มมนุษย์สถาบันการเงิน เป็นยุคที่เอาความจริงของตัวเองไปจัดการคนอื่น เป็นสังคมที่เลียนแบบฝรั่ง เราไม่ทันโลกเพราะเรามัวแต่เลียนแบบ ทุกคนตกอยู่ในโลกที่สร้างสิ่งเสมือนจริง
สำหรับการที่จะเอาชนะความท้าทายในเรื่องศีลธรรมนั้น รศ.ศรีศักร กล่าวว่า จะต้องมองย้อนมาดูที่ตัวเอง ต้องหวนกลับมานึกถึงรากเหง้าว่า เมื่อก่อนเป็นอย่างไร ปัจจุบันนี้ความเป็นชุมชนได้สลายไปแล้ว เราจึงต้องมาสร้างพื้นฐาน วัฒนธรรมชุมชนเดิมไม่ให้ยึดติดกับเงินทอง อีกทั้งกลุ่มนักการเมืองเองที่เป็นศูนย์รวมอำนาจที่สูงสูงทั้งอำนาจและเงินนั้น จะต้องแก้ไขไม่ให้อำนาจและเงินอยู่จุดเดียวกัน จึงจะสามารถต้านทานโลกาภิวัฒน์ได้
ด้านอาจารย์เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ ตั้งคำถาม สิ่งที่ท้าทาย เราจะหลุดพ้นจากการบริโภคนิยมอย่างไร ทำอย่างไรเราไม่หลงไปตามกระแสทุนนิยม บริโภคนิยม ซึ่งเกณฑ์วัดศีลธรรมที่ถูกต้องในวันนี้ คือถามตัวเอง กิเลสลดลง โลภน้อยลงหรือไม่ โกรธน้อยลงหรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ ก็ต้องค่อยๆฝึกตัวเอง
"การทำความดีเป็นเรื่องยาก เราต้องมีความเข้มแข็ง และสามารถที่จะต้านทานสิ่งเลวร้ายให้ได้ และที่สำคัญคือต้องอยู่กับความไม่สำเร็จให้ได้ โดยให้วัดความสำเร็จจากภายในเป็นหลัก ความสำเร็จที่เราควบคุมปัจจัยเองได้ ให้เรายึดสองหลัก คือ การเป็นอยู่แบบพอดี และทำงานอย่างไม่มีความหวัง คิดอะไรว่าดี จงทำดีทำต่อไป และทำให้เต็มที่ อย่าไปตั้งความหวังว่าทำดีแล้วต้องได้ผล เพราะหากตั้งความหวังแล้วผลไม่เป็นอย่างที่หวังจะรู้สึกท้อแท้"
ทั้งนี้ อ.เดชา กล่าวย้ำด้วยว่า ทุกคนต้องแยกระหว่างมายากับความจริงให้ได้ เพราะทุกวันนี้เราหลงกลกับมายาและของที่ทุกสมมติขึ้นมา โดยเฉพาะเงิน เรายอมเอาของจริงไปแลกกับสิ่งสมมติ เอาผืนนา เอาข้าว หรือแม้กระทั่งเอาชีวิตไปแลกกับเงิน อีกทั้งยุคนี้เราเผชิญกับเทคโนโลยีใช้ชีวิตอยู่กับเฟชบุ๊ก โซเชียลมีเดีย จะทำอย่างไรให้ตัวเองมีสติปัญญากว่าเฟชบุ๊ก จะแบ่งเวลาจัดสรรให้ตัวเองอย่างไรเพื่อให้ชีวิตสมดุลกับโลกในปัจจุบัน ถ้าหากไม่ฝึกฝนตัวเองตั้งแต่วันนี้เราจะตกเป็นเหยื่อของโลกโลกาภิวัฒน์
ขณะที่ตัวแทนคนทำสื่ออย่าง นายสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ กล่าวว่า ความท้าทายของศีลธรรมในสื่อ ความจริงหรือวิธีคิดในปัจจุบันนี้ของแวดวงสื่อโทรทัศน์ ใช้เพื่อที่จะแสวงหาผลประโยชน์ วิธีคิดของเอเจนซี่ทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง และวงการโทรทัศน์มีผลทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ผิด ทำให้เกิดแนวทางที่ผิด และเกิดขึ้นมาจากคนจำนวนไม่มากที่ไปห้อมล้อมกำไร ให้ค่ากับสิ่งนั้นสูงสุด
"รายการคนค้นฅนเสื่อมถอยลงทุกปี เรตติ้งแย่ลงเราเปรียบเทียบตัวเองเหมือนเซรามิกศิลาดล ถ้าเอาไปวางตลาดนัดไม่มีคนซื้อ ซึ่งเราวัดคุณค่าอยู่ในตัวงานที่เราทำ เราถือไม้บรรทัดคนละอัน แต่การให้ค่าของวงการโทรทัศน์มีสูตรเดียว คือคนดูเยอะ ซื้อแพง คนดูน้อยเฉลี่ยต่อหัวแล้วไม่คุ้ม ซื้อได้แต่ถูก"
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ในฐานะที่เป็นสื่อ แทบจะไม่ตั้งความหวังกับสื่อกระแสหลัก เนื่องจากได้เอียงไปทางตรรกะที่เราไม่เชื่อ การทำสื่อของตนจึงทำประโยชน์ให้กับสังคม และกัลยาณมิตร พร้อมทั้งจะทำอาชีพนี้โดยไม่เอาใจไปผูกติดกับความสำเร็จที่ใหญ่ขึ้น กำไรมากขึ้น
"เราพร้อมที่จะไปทำในพื้นที่ที่มีคนให้โอกาส เพื่อไปทำประโยชน์” นายสุทธิพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย และยังย้ำว่า ความจริงในการใช้ชีวิต อย่าเอากิเลสเป็นตัวตั้งในการใช้ชีวิตทุกอย่าง เป้าหมายของชีวิตไม่ใช่การสะสม แต่ให้ทบทวนคุณค่า ความจริง และพาตัวเองไปสู่ความหมายของ มานะ+อุษยะ และมองดูตัวเองว่า เราสูงขึ้นจริงไหม โลกเหมือนเดิมหรือไม่ ความสำเร็จในชีวิตถูกมองไปที่ตรงนั้นต่างหาก
ขอบคุณภาพจากเพจเฟชบุ๊กรายการคนค้นฅน