ศีลธรรมไม่มีเชย! ‘วรภัทร์ ภู่เจริญ’ ชวนทำดี จุดตะเกียงดีกว่าด่าความมืด
คนค้นฅน อวอร์ดสัญจร ผุดเวทีถก 'ศีลธรรม ไม่กลับมาโลกาวินาศ' เน้นย้ำไม่ใช่เรื่องเชย-ล้าหลัง 'โอปอล์ ปาณิสรา' เปรียบค่านิยมเรื่องฉาวไม่ผิดเหมือนการตลาด แนะสังคม ครอบครัวปลูกฝังความดี ดึงเด็กเดินถูกทางให้ได้
เมื่อเร็วๆ นี้ ในเวทีเสวนาหัวข้อ ศีลธรรม คำล้าหลังของยุคสมัย จริงหรือ...? ที่จัดขึ้นในงาน คนค้นฅน อวอร์ดสัญจร 'ศีลธรรม ไม่กลับมาโลกาวินาศ' ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพฯ) มี ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ อดีตนักวิทยาศาสตร์นาซ่า ในฐานะผู้ที่นำหลักธรรมะปฏิบัติ เพื่อค้นพบความสงบ และน.ส.ปาณิสรา พิมพ์ปรุ หรือ โอปอล์ นักแสดง พิธีกร และดีเจ ร่วมเสวนา
ดร.วรภัทร์ กล่าวว่า จากการไปบรรยายให้นักศึกษาและผู้บริหารเกี่ยวกับเรื่องธรรมะหรือศีลธรรม ต้องพยายามตั้งชื่อใหม่ๆ แปลกๆ มาดึงดูด เพราะทุกวันนี้มีคน 'ติดดี' นึกว่าตนเองดี แล้วพยายามไปสอนคนอื่น แต่ใช้การดุด่า ว่ากล่าว ทำให้ผู้ฟังเหมือนถูกกระตุ้น ถูกทำร้าย เช่น การอบรมเรื่องศีลธรรมในบริษัท ก็จะเข้าใจกันไปว่าทำผิด ทำเลวถึงต้องอบรม นี่คือภาพของสังคมในปัจจุบัน
"สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ค่อยมุทิตา ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี หรือทำดี แต่พอทำชั่วข่าวจะกระจายเร็ว ยิ่งเด็กวัยรุ่นสมัยใหม่ มีบางคนมองว่าทำชั่ว คือเรียกร้องความสนใจ แม้จะทำชั่วก็รู้สึกดี มีคนมองมากขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มที่เห็นว่าโกงได้ หากได้ประโยชน์ จริงๆ แล้วผมไม่อยากเข้าไปยุ่ง กรรมใครกรรมมัน ผมว่า...จุดตะเกียงดีกว่าด่าความมืด อะไรที่ดีก็ทำต่อไป ช่วยกันสะท้อนต่อไปดีกว่า"
ดร.วรภัทร์ กล่าวต่อว่า ครูคนใหม่ของโลก คือสื่อมวลชน เพราะระบบการศึกษาไทยล้มเหลวไปแล้ว พากันบ้าเลือดเรียนแต่วิชาการมาก จนไม่มีใครสอนธรรมะ บริษัทคัดเลือกพนักงานก็ไม่ได้มองเรื่องนี้ ขอแค่ทำงานได้ ขยัน แม้จะตัดต้นไม้ ทำลายสิ่งแวดล้อมก็รับได้ ถ้าสามารถดึงคนในบอร์ดบริหาร หรือในตลาดหลักทรัพย์มานั่งอบรม ศึกษาธรรมะ อาจเกิดการขับเคลื่อนบอร์ดบริหารของไทยกลับใจเพื่อแผ่นดินก็ได้
"วิธีเริ่มต้นที่ผู้ใหญ่จะง่ายกว่าเด็ก เพราะเด็กเหมือนผ้าบริสุทธิ์ หลายครั้งที่เรานั่งดูทีวี ดูละครก็เอาไปเปรียบเทียบ ไปด่า ทั้งๆ ที่เด็กยังไม่ได้เป็นอย่างนั้น ผมเลือกใช้วิธีสุนทรียสนทนา ดูแล้วถามว่าคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร ซึ่งหลายครั้งผมได้รับคำตอบที่ดี น่าสนใจ ไม่ควรด่วนตัดสินเด็ก ต้องฟังให้มาก แม้เด็กจะโกง จะร้าย 99% ผมรอฟังเขาแค่ 1% ที่เป็นเรื่องดี แล้วชื่นชมเขาในข้อนั้น ผมยังเชื่อมั่นในความดีของคนเราว่าไม่มีใครชั่ว 100% เราน่าจะลองคิดบวกกันสักพักนึง อย่าด่วนตัดสิน แล้วความจริงจะปรากฏเอง"
ขณะที่น.ส.ปาณิสรา หรือ 'โอปอล์' กล่าวว่า แท้จริงแล้ว 'ศีลธรรม' คือความรู้สึกผิดชอบ ชั่วดี ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่เชย หรือล้าหลัง ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนมอง และมีการนำเสนออย่างไร บางทีสื่อหรือสังคมเลือกที่จะนำเสนอเรื่องฉาว โดยอ้างว่าคนอยากรู้ ถ้าฉาวจะดังจนกลายเป็นค่านิยม
"ค่านิยมเหมือนการตลาด นานๆ เข้าคนจะรู้สึกว่าทำได้ไม่ผิด จริงๆ แล้ว แค่ดึงกลับมาให้อยู่ในร่องในรอย อย่างเด็กวัยรุ่น ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็เหมือนกัน ความเป็นเด็กด้วยวุฒิภาวะจะคาดหวังความเข้าใจโลก มองโลก 100% คงไม่ได้ ประสบการณ์จะสอนให้เรานิ่งขึ้นเรียนรู้อะไรมากขึ้น ทุกวันนี้มีอาชีพดีเจ ต้องสื่อสารกับเด็ก ซึ่งแฟนคลับที่ติดตามจะเด็กลงเรื่อยๆ มองความเครียด มองปัญหาอย่างไม่เข้าใจ หรือพูดจาไม่เพราะ เราแค่ไม่ปล่อยผ่าน อาจใช้กุศโลบายในการสอนแบบไม่คร่ำครึ พูดให้ธรรมชาติ จับต้องได้"
'โอปอล์' กล่าวต่อว่า สื่อและโซเชียมีเดียในปัจจุบันมีผลทำให้เด็กสมัยนี้เป็น Generation ME มีแค่ฉันเท่านั้น ไม่สนใจโลกภายนอก อ่านเรื่องกอสซิป เพราะทำให้ได้พูดเรื่องคนอื่นจนลืมเรื่องตัวเอง สังคม และพ่อแม่จึงมีส่วนสำคัญมากในการจะดึงเด็กเหล่านี้กลับมาให้ได้
"อยู่ในวงการบันเทิง ทำอาชีพนี้จริงอยู่ที่เต็มไปด้วยสิ่งยั่วยุ ชื่อเสียง เงินทองทำให้คนเปลี่ยนได้จริงๆ แต่ต้องตั้งหลักให้ได้ รู้ให้ทัน มีปัญหาไม่อยากให้โทษสังคมมากนัก มีอะไรให้โทษตัวเองก่อน แล้วหาแนวร่วม คนที่มีหลักคิดที่แข็งแรงก็ดี ส่วนบางคนไม่ได้มีครอบครัวแข็งแรงก็ต้องเริ่มสร้างที่ตัวเอง แล้วหยุดโทษคนอื่น โทษคนอื่นมากๆ แล้วตัวเองไม่ผิดเลย ผิดจึงกลายเป็นถูกได้" 'โอปอล์' กล่าว และว่า ทุกวันนี้ไม่เคยรู้สึกว่าศีลธรรมหายไป เพราะยังรู้สึกดีกับจุดที่ยืนอยู่ จะอยู่บนโลกที่โหดร้ายอย่างไรให้มีความสุข ทำความดี อนาคตก็จะดีต่อไป อาจคิดแคมเปญ "คนไม่โกงคือคนเท่ห์" แล้วปลูกฝังไปเรื่อยๆ ในอนาคตอาจจะเป็นผลก็ได้
"จริงๆ แล้ว ในฐานะสื่อ ดารา คนชอบคิดว่าต้องเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ยอมรับเถอะว่าเป็นไปไม่ได้ ดาราก็เป็นคน ถ้าเรียนรู้ได้ว่าอะไรไม่ดี ก็แค่อย่าทำตาม เชื่อว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการเป็นตัวอย่างที่ดี แค่ทำให้ดู ให้รู้ว่าการไม่โกงก็สร้างตัวได้"