พบเด็กไทยรับสื่อ-เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต
โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ นำโด่ง ผลสำรวจปี 52 เจอเด็กมัธยมฯ - อุดมศึกษา มีคอมฯ ส่วนตัวถึง 44% มีมือถือใช้ 82% และใช้เวลากับสื่อทีวี -เทคโนโลยี รวมถึง 6-7 ชม./วัน
วันที่ 2 กันยายน สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) เปิดผลการวิจัยเกี่ยวกับสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนขึ้น เพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายของนักวิจัยและนักวิชาการที่มีผลการวิจัยเกี่ยวกับสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ณ คอนเวนชั่น ฮอลล์ 2 อาคาร D ชั้น 2 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ผลงานวิจัยที่น่าสนใจ อาทิ ผลการวิจัยเกี่ยวกับวิทยุเพื่อเด็กและเยาวชนของ สสดย. โดยอาจารย์มรรยาท อัครจันทโชติ กรรมการ สสดย. พบว่า สื่อวิทยุลดบทบาทลง ทั้งๆที่ความจริงเป็นสื่อที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับเด็ก เพราะจะไปกระตุ้นพัฒนาการทางความคิด รวมทั้งส่งเสริมจินตนาการได้ดีกว่าสื่ออื่นๆที่อาศัยการฟังและการดู ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ การรับสื่อวิทยุในรอบ 20 ปี พบว่า เด็กวัย 6-14 ปีเป็นกลุ่มที่รับฟังสื่อวิทยุน้อยที่สุด เหตุผลสำคัญ เพราะสถานีวิทยุจำนวนและสัดส่วนเวลาสำหรับรายการเด็กน้อยลง มีเพียงร้อยละ 1.45 เท่านั้น
ทั้งนี้ยังพบ ผู้ผลิตรายการวิทยุสำหรับเด็ก แม้มีความปรารถนาดีต้องการผลิตรายการเพื่อเด็ก แต่ผู้ผลิตอีกมากที่ยังไม่เข้าใจศาสตร์และศิลป์ของการจัดรายการวิทยุสำหรับเด็กมากนัก เช่น ตามหลักของการออกแบบรายการวิทยุประกอบกับทฤษฎีจิตวิทยาพัฒนาการเด็กแล้ว เด็กแต่ละช่วงวัยล้วนมีความคิด ความต้องการ ความสนใจที่แตกต่างกัน โดยจะเหมารวมว่า เด็กทั้งหมดเหมือนกัน ดังนั้นทำให้รายการวิทยุ ที่มุ่งผลิตเพื่อเด็ก แต่กลับเป็นรายการที่เด็กไม่ฟัง
พร้อมกันนี้ มีข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น สร้างยุทธศาสตร์เชิงรุกนำสื่อเสียงเข้าหาเด็กจากหลากหลายช่องทาง รณรงค์ให้พ่อแม่เห็นความสำคัญ กระตุ้นผู้บริหารวิทยุให้เห็นความสำคัญของรายการวิทยุสำหรับเด็ก และจัดตั้งกองทุนสนับสนุนผู้ผลิตรายการวิทยุสำหรับเด็ก เป็นต้น
สำหรับผลการวิจัยเกี่ยวกับสื่อเพื่อเด็กและเยาวชนย้อนหลัง 10 ปี โดยรศ.ดร.อุษา บิ้กกิ้นส์ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) พบว่า ยุคสมัยเปลี่ยน ความนิยมของสื่อเปลี่ยน จากหนังสือพิมพ์ มาสู่ยุคอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ และยุคอินเทอร์เน็ต รวมทั้งมัลติมีเดียในปัจจุบัน จะเห็นว่า สื่อมวลชน โดยเฉพาะโทรทัศน์ เป็นสื่อที่นักวิจัยส่วนใหญ่ให้ความสนใจอย่างมาก อาจเป็นเพราะความเชื่อในเรื่องอิทธิพลของสื่อที่มีต่อเด็ก
จากการศึกษา พฤติกรรมการเปิดรับสื่อของเด็กและเยาวชนและครอบครัว จากการสำรวจของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (2546) และโครงการวิจัยระยะยาวในเด็ก โดย พญ. จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ และคณะ (2546) พบว่า “ลักษณะการใช้โทรทัศน์เหมือนเป็นสิ่งแวดล้อมในบ้าน เปิดดูด้วยความเคยชิน เด็กส่วนมากดูรายการของผู้ใหญ่ และลักษณะการดูคือดูแทบทั้งวัน โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงเชื่อได้ว่า สื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์มีบทบาทต่อเด็กและเยาวชนและครอบครัวค่อนข้างสูง”
ขณะที่โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชน (Child Watch) สรุปพื้นที่สื่อในชีวิตเด็กไทย พบว่าเด็กและเยาวชนได้รับสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต โดยเฉพาะ โทรศัพท์มือถือหรือ คอมพิวเตอร์ จากการสำรวจ ปี พ.ศ. 2552 พบว่า เด็กมัธยมศึกษา ถึงอุดมศึกษามีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวประมาณร้อยละ 44 มีโทรศัพท์มือถือใช้ถึงร้อยละ 82 เด็กใช้เวลากับสื่อ (โทรทัศน์) และเทคโนโลยี รวมถึง 6-7 ชั่วโมงต่อวัน และมีการส่ง SMS และการโหลดเพลง ภาพ เกม ข้อความและข้อมูลต่างๆเพิ่มขึ้น
ซึ่งผลกระทบของสื่อและเทคโนโลยีต่อเด็กคือ การติดเกม มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เด็กเล่นเกมคอมพิวเตอร์หรือเกมออนไลน์เป็นประจำ เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 20.12 ในปี พ.ศ.2550 เป็นร้อยละ 26.79 ปี พ.ศ.2552 โดยใช้เวลาเฉลี่ยต่อวันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนร้านเกมจาก 16,077 แห่งในปี พ.ศ.2550 เป็น 25,398 แห่ง ใน ปี พ.ศ.2552
อ่านประกอบ เอกสารประกอบการสัมมนาผลการวิจัยเกี่ยวกับสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน