กรมธรณี เปิดตัวแผนที่เสี่ยงภัยระดับชุมชน นำร่อง 17 จังหวัดเหนือ-ใต้
อัตราส่วน 1:10,000 ระบุรายละเอียดร่องรอย-ขอบเขต-หมู่บ้านเสี่ยงภัย เพิ่มประสิทธิภาพเตือนภัย 31 อำเภอ 68 ตำบล รุกสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบครอบคลุมต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ เตรียมเผยแพร่ในพื้นที่ประสบภัยนครฯ-กระบี่ 27-28 มิ.ย.นี้
วันที่ 8 มิ.ย.54 นายอดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก และอุทกภัยขนาดใหญ่ ระหว่างวันที่ 24-31 มี.ค.ที่ผ่านมาในหลายจังหวัดทางภาคใต้ สร้างความสูญเสียเป็นจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิต 64 ราย โดยเสียชีวิตเนื่องจากดินถล่ม 14 ราย ในจ.นครศรีธรรมราช 2 ราย และกระบี่ 12 ราย
จากการวิเคราะห์สถานการณ์ดินถล่มในปี 2548 พบพื้นที่เสี่ยงภัย 51 จังหวัด 254 อำเภอ 692 ตำบล 2,371 หมู่บ้าน ต่อมาในปี 2553 ได้สำรวจพบพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มเติมใน 51 จังหวัด 323 อำเภอ 1,056 ตำบล 6,450 หมู่บ้าน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการจัดตั้งชุมชนขึ้นใหม่ในพื้นที่เสี่ยงภัย
นายอดิศักดิ์ กล่าวว่าขณะนี้กรมทรัพยากรธรณี ได้ดำเนินการคัดเลือกพื้นที่เสี่ยงภัยในระดับสูง เพื่อดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่มให้ครอบคลุมทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ประกอบด้วยพื้นที่ภาคใต้ 7 จังหวัด คือ ระนอง ชุมพร กระบี่ สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง และพื้นที่ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ และตาก
โดยมีการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยดินถล่มระดับชุมชน สำหรับวางแผนเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติดินถล่มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้มาตราส่วน 1: 10,000 ครอบคลุม 17 จังหวัด 31 อำเภอ 68 ตำบล
“แผนที่เสี่ยงภัยดินถล่มระดับชุมชน มีองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน ส่วนแรกแสดงรายละเอียดร่องรอยดินถล่มที่เกิดขึ้น ขอบเขตตำบลพร้อมสถานที่สำคัญ ขอบเขตพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ตำแหน่งหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ ตำแหน่งบ้านเสี่ยงภัย และสถานที่ปลอดภัยสำหรับจัดตั้งศูนย์อพยพชั่วคราว ส่วนที่สองจะแสดงตำแหน่งบ้านของเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่ม ตำแหน่ง จุดวัดปริมาณน้ำฝน และตำแหน่งจุดเฝ้าระวังธรณีพิบัติภัยบริเวณต้นน้ำ”
นายอดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่ม ให้ครอบคลุมอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งเดิมในเดือน มี.ค.มีเครือข่ายอยู่ 15,421 คน แต่ปัจจุบันเพิ่มอีก 966 รวม 16,387 คนแล้ว และจัดทำแผนการบูรณาการด้านการเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดิน ถล่มในระยะก่อนเกิดเหตุ โดยการวิเคราะห์ประเมินและเฝ้าระวังสถานการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตามวันที่ 27-28 มิ.ย.นี้ กรมฯจะลงพื้นที่เพื่อนำแผนที่เสี่ยงภัยชุมชนไปเผยแพร่ในพื้นที่ประสบภัยที่ จ.นครศรีธรรมราช-กระบี่ด้วย .