นักวิชาการแนะชาวนาต้องมีความรู้งานช่าง หวังดัดแปลงเครื่องทุ่นแรงลดต้นทุนผลิต
‘ประพาส ปิ่นตบแต่ง’ แนะชาวนาต้องเพิ่มความรู้ด้านงานช่าง หวังนำดัดแปลงกับเครื่องทุ่นแรงและลดต้นทุนการผลิต เกษตรกร 4 ภาค ชี้อาชีพทำนาจะยั่นยืนต้องเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวเอง
วันที่ 30 ส.ค. 2556 มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จัดงานสมัชชาวิชาการเกษตรกรรมยั่งยืน 2556 ณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ศาลายา วันที่ 2 โดยในเวทีเสวนา ‘นวัตกรรมการทำนาสู่วิถีนาข้าวที่ยั่งยืน’
นางดาวเรือง พืชผล ตัวแทนเกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ยโสธร กล่าวว่า นวัตกรรมต้องเริ่มจากการสร้างและจัดการที่ดินของตนเองให้ใช้ประโยชน์มากที่สุด การสร้างและการจัดการที่ดินที่ว่านี้ แบ่งเป็น 3 อย่างคือ 1.การจัดการดูแลตัวเองให้มีกิจกรรมทางการผลิตบนแปลงอย่างสม่ำเสมอ 2.การจัดการพืชผลทางการเกษตรในแปลงนาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับฤดูกาลและสภาพอากาศ 3.การจัดการให้แปลงนามีความหลากหลายของชนิดพืช
สำหรับการรักษาและการค้นหาสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมเพื่อปลูกในแต่ละพื้นที่ ในประเด็นนี้เครือข่ายเกษตรกรรมฯ ภาคอีสานได้ทดลองปลูกข้าวเบา (ข้าวที่ให้ผลผลิตเร็ว) 20 สายพันธุ์ เพื่อค้นหาสายพันธุ์ข้าวที่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีที่สุดในพื้นที่นาโคก จนพบ 1 ใน 2 สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตและเจริญเติบโตได้ดีที่สุดคือข้าวสายพันธุ์ที่เรียกเป็นภาษาพื้นถิ่นอีสานว่า ‘ข้าวดอหาฮี’
ด้านนางสุมณฑา เหล่าชัย ตัวแทนเกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ร้อยเอ็ด กล่าวถึงประสบการณ์การทำเกษตรแผนใหม่ในอดีตเคยล้มเหลว จนต้องหาวิธีปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต โดยเริ่มจากการรวมกลุ่มแล้วเริ่มค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ สิ่งสำคัญที่กลุ่มทำคือเรื่องเมล็ดพันธุ์ และประเด็นผู้บริโภค สิ่งที่ทิ้งไม่ได้เลยก็คือเรื่องกลุ่มหรือเครือข่าย ต้องทำไปพร้อมๆ กันจึงจะเกิดพลัง โดยวิธีการจัดการจัดการแปลงของตนเองจะต้องมีพันธุ์พืชหรือมีเมล็ดพันธุ์เป็นของตนเอง จากนั้นต้องคิดค้นวิธีการใหม่ ๆในการจัดการแปลงนา และเกษตรกรต้องสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง
นางธิดา คงอาสา ตัวแทนเกษตรกรจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ จ.พัทลุง กล่าวถึงประเด็นเกษตรกรและชาวนาภาคใต้ว่า ปัจจุบันจะเห็นว่าคนภาคใต้ทำนาน้อยลง ทั้งจำนวนผู้ทำนาและขนาดแปลงนา แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีชาวนาภาคใต้บางกลุ่มที่ยังทำนาอยู่ แต่ไม่ได้ทำนาเพื่อขายข้าว แต่เป็นการทำนาเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนของครอบครัว
ธิดา ยังกล่าวอีกว่า พื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่นาลอย คือเป็นพื้นที่ที่ระดับแปลงนาอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับน้ำ ดังนั้น พื้นที่ภาคใต้จึงเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการจัดการน้ำอย่างมาก เพราะเมื่อฝนตกน้ำจะไหลลงทะเลทั้งหมด ดังนั้น ชาวนาจึงเห็นความสำคัญต่อการจัดการระบบน้ำ และค้นหาเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่มาปลูก จากการทดลองปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ทำให้สรุปได้ว่า พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่มากที่สุดคือ ‘ข้าวเล็บนก’ ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นบ้านดั้งเดิมของภาคใต้
นายปฏิพัทธ์ จำมี ตัวแทนเกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน จ.สุรินทร์ กล่าวให้ความสำคัญในประเด็นที่ดินและสารเคมีว่า การปลูก การมี การอยู่ และการกิน ซึ่งต้องอยู่ให้ได้ ต้องมีรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว อย่างไรก็ตามที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ เกษตรกรจะไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนหากไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ด้วยตนเอง
ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้หันมาให้ความสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ และเป็นผู้ที่เริ่มรวมกลุ่มชาวนาคลองโยง (จ.นครปฐม) เพื่อทดลองทำนาอินทรีย์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งไม่มีความแตกต่างกันมากนักกับชาวนาภาคอื่นๆ ในช่วงเริ่มรวมกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ดร.ประภาส ให้ความเห็นเพิ่มเติมช่วงท้ายว่า “ความสามารถที่สำคัญของชาวนาซึ่งควรจะมีคือ ความสามารถด้านช่าง ที่จะสามารถดัดแปลงอุปกรณ์การเกษตรเพื่อใช้ทุ่นแรงและลดต้นทุนการผลิตได้ด้วย”
ขณะที่นายสุภชัย ปิติวุฒิ ตัวแทนกลุ่มชาวนาวันหยุด ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นเรื่องปรับเปลี่ยนแปลงเกษตรว่า กลุ่มเป้าหมายของการทำงานก็คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่สนใจทำนา เราตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เห็นความสำคัญและอยากจะกลับมาทำนา
“สิ่งที่เราทำอยู่มาจากการเฝ้าดูและสังเกตสภาวะแวดล้อมของแปลงนาแต่ละพื้นที่ ว่าสภาพพื้นที่เป็นอย่างไร แล้วทำนาให้ล้อกับสภาวะนั้นๆ เช่น ในแปลงนาที่มีผักตบชวา เลี้ยงปลาสลิด เนื่องจากปลาสลิดจะเป็นตัวทำลายรากของผักตบชวา” ตัวแทนชาวนาวันหยุด กล่าว .