ฟังแนวคิด ‘ต่อ ฟีโนมีน่า’ : ทำอย่างไร Idea คนไทยเปล่งประกายในเวทีโลก
เมื่อช่วงปี 2553 ภาพยนตร์โฆษณา ชุด 'ขอโทษประเทศไทย' เป็นที่รู้จักในนามโฆษณาที่ "ไม่ผ่านการเซนเซอร์" ด้วยเนื้อหาที่ปลุกจิตสำนึก เตือนสติ ปลุกพลังบวก เปลี่ยนประเทศไทย แต่ถูกแบนด้วยเกรงว่าจะเกิดความ 'แตกแยก' ขณะที่ยอดผู้ชมในเว็บไซต์ youtube ณ ปัจจุบันของโฆษณาชุดนี้ เกินล้านวิวไปแล้ว!!
"ผมเห็นรัฐบาลพูดเรื่องจีดีพี พูดเรื่องรถไฟรางคู่
แต่เรื่องออกซิเจนที่ใช้หายใจ ไม่มีเลย"
ความยาวกว่า 3 นาที ผ่านเสียงบรรยายของ 'ธนญชัย ศรศรีวิชัย' หรือ 'ต่อ ฟีโนมีน่า' ที่ทำหน้าที่ทั้งผู้บรรยาย และผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาชิ้นนี้ รวมถึงโฆษณาที่โด่งดังอีกหลายชิ้น อาทิ สมูทอี เบบี้ เฟซ โฟม, แพนทีน, กรุงเทพประกันภัย หรือโฆษณาหลายชิ้นที่ทำให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งหลายชิ้นได้รับการยอมรับ และได้รับรางวัลสิงโตเมืองคานส์ (Cannes Lion) ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดด้านโฆษณาของโลก
เรียกได้ว่าเขาเป็น 'ผู้นำไอเดีย' ในนามคนไทย ไปเปล่งประกายบนเวทีโลกมาหลายต่อหลายครั้ง...
และครั้งนี้ในงาน CIDI Designer Talk Series ครั้งที่ 11 ที่จัดโดยสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ ณ อาคาร CIDI world สุขุมวิท 101 'ต่อ ธนญชัย' ได้มาบอกเล่า ส่งต่อไอเดียในหัวข้อ "Thai Context to world class design ทำอย่างไร Idea คนไทยจะเปล่งประกายในเวทีโลก" ผ่านการสัมภาษณ์ พูดคุย และซักถามของนักศึกษาด้านการออกแบบของสถาบันฯ
'ไอเดีย' มาจากไหน
ทุกวันนี้การใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะที่ถูกวางกรอบไว้ มีชุดความคิดเดิมๆ ที่วางไว้ การจะหลุดจากกรอบความคิดนี้ ผมเลยใช้วิธีออกเดินไปเรื่อยๆ ...การออกเดินทำให้เห็นชีวิตจริง สะดุดอะไร ก็เก็บได้ทันที
การเดินยังทำให้เห็น ได้ยิน จากนั้นจะวิเคราะห์ลักษณะนิสัย ความแตกต่าง เกิดความเชื่อมโยง ที่ไม่ว่าจะเป็นนักออบแบบ หรือสถาปนิกก็จะมองเห็น เชื่อมโยงได้
"ผมยังต้องดูหนังวันละ 3 เรื่อง อ่านหนังสือเยอะมาก โดยเฉพาะด้านธุรกิจ การตลาด นั่นเพราะงานโฆษณาจะต้องมีความรู้ด้านธุรกิจ การตลาดและการทำภาพยตร์ ซึ่งผมไม่ได้เรียนมาทั้งสิ้น รวมถึงศึกษาประวัติศาสตร์ ที่เป็นตัวกำหนดให้เกิดพฤติกรรมในปัจจุบัน เพื่อให้รู้รากเหง้าความคิดของคน ศึกษาจิตวิทยา ให้เข้าใจคนดู เรื่องพวกนี้เกี่ยวกับงานโฆษณาทั้งสิ้น จึงต้องอ่านให้มาก เรียนรู้ให้มาก"
เริ่มต้นคิดงานอย่างไร?
สำหรับผมเวลาจะตั้งธงชีวิต จะคิดว่าถูกหรือเปล่า ติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกเสียก่อน เช่น หากตั้งว่าทำงานเพื่อหวังชื่อเสียงเป็นการเริ่มต้นที่ผิด
แต่ถ้าตั้งว่า ทำแล้วอยากให้งานดีขึ้น อยากทำให้งานดีที่สุด มีคุณค่ามากที่สุด เป็นการเริ่มต้นที่ถูก และเมื่อตั้งธงแบบนี้แล้ว เรื่องรางวัลก็จะไม่เกี่ยว
ทำอย่างไร? 'ไอเดียคนไทย' จะได้รับการยอมรับในเวทีโลก
ผมว่า... สิ่งที่ต่างชาติเขาชอบ คือ วิธีคิด และวิธีมองโลกในแบบคนไทย เขาต้องการเห็นความเป็นมนุษย์ในแบบของเรา
สิ่งที่ปิดกั้นไอเดียของคนไทยคืออะไร?
จริงๆ แล้ว คนไทยเก่งมากนะ เพียงแต่ว่า เรามองเห็นตัวเองมากน้อยแค่ไหน?
"เวลามองสิ่งรอบตัว มองความเป็นไทย เรามองเห็นอะไร
เมื่อมองน้ำพริก เราเห็นความต่ำต้อยของชนชั้น หรือมองเห็นกุศโลบายในการกินผักสด
เมื่อมองผ้าขาวม้า เราเห็นสัญลักษณ์ของคนจน หรือเห็นความฉลาดของคนไทยที่สร้างผ้าขาวม้าให้สามารถช็ดถูบ้านได้ รองนอนได้ ทำได้แม้กระทั่งแขวนคอตาย"
ผมได้ไอเดียเยอะมากจากคนที่ไม่มีเงิน ผมว่า... คนเราเมื่อเกิดความลำบากขั้นขีดสุด จะใช้ creativities สูงที่สุด ขุมพลังของไอเดียหลายครั้งมาจากคนที่ลำบากที่สุด
จะเห็นว่า เมื่อเดินไปตามสลัมจะเห็นไอเดียมากมาย มีคนใช้ป้ายหาเสียงมาทำเป็นฝาบ้าน ปลูกผักริมรางรถไฟ จะได้เห็นอะไรที่น้อยที่สุด แต่ฉลาดที่สุด
แต่ผมกลับไม่เห็นอะไรที่ฉลาดที่สุดในหมู่คนที่มีความรู้!!
"มีแต่ตึกสูงใหญ่ที่มาจากการถล่มภูเขา ผมไม่แน่ใจนะ บางทีผมก็คิดว่าหรือเราควรจะมีคนจนเยอะๆ"
การออกแบบที่ดี ควรเป็นอย่างไร?
ดีไซน์ที่ดีต้องช่วยโลก ไม่ใช่ทำลายโลก สำหรับผม ผมมองเห็นความงามจากผ้าขาวม้านะ แต่ผมไม่เห็นว่า ส.ส.ในรัฐสภา จะช่วยอะไรโลกเลย จากการเปิดแอร์ และใช้นาฬิกาเรือนละ 70,000 บาท
แนะนำเทคนิคการทำงานที่ให้โดนใจ
'เทคนิค' คิดงานให้ออกมาดีของผมจะนึกถึงคนดู หากเป็นดีไซน์เนอร์ นึกถึงคนใช้ว่ารู้สึกอย่างไร เป็นสถาปนิกนึกถึงประชาชนที่อยู่โดยรอบ นึกถึงสภาพแวดล้อม สิ่งแวดล้อม ลืมตัวเองไปชั่วขณะ เพราะส่วนมากผู้กำกับ ดีไซเนอร์ หรือสถาปนิกจะมีอัตตาสูง ตัวกูของกู คิดว่าสมองเยอะไม่ใช่ว่ามี
เน้นย้ำเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ
หลายคนมองว่า สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ ออกซิเจนอยู่ใกล้เราแค่ปลายจมูก ผมเห็นรัฐบาลพูดเรื่องจีดีพี พูดเรื่องรถไฟรางคู่ แต่เรื่องออกซิเจนที่ใช้หายใจไม่มีเลย
"ไม่มีออกซิเจนเราตาย แต่ไม่มีรถไฟรางคู่เราไม่ตายนะ ผมอาจจะดูเป็นพวกอนุรักษ์ งี่เง่า แต่ถ้าเราไม่มีออกซิเจน เราตายนะ ผมก็พูดอย่างเดิมซ้ำๆ แบบนี้ ผมว่าเราควรจะคุยในสิ่งที่ควรคุย และทำในสิ่งที่ควรจะทำ ลูกหลานจะต้องมีออกซิเจน เราต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เมื่อรัฐบาลทำไม่ได้ ผมก็ทำเอง"
เรื่องสิ่งแวดล้อม จะปรับใช้กับไอเดียอย่างไร?
อย่างงานโฆษณา นอกจากสร้างความสนุกให้คนดูแล้ว ต้องสร้างประโยชน์และคุณค่าให้คนดูด้วย ฉะนั้น งานออกแบบที่ทรงคุณค่า ต้องไม่ใช้อนุเสาวรีย์ของคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องทำให้เกิดประโยชน์กับคนทั้งหมด ไม่ควรเป็นการออกแบบที่เชิดชูนักออกแบบคนเดียว
ทำอย่างไร จึงได้รับรางวัลติดต่อกันหลายๆ ปี
ที่ได้รางวัล ไม่ใช่เพราะผมเก่ง แต่ผมทำงานหนัก 7 วันไม่ได้หยุด ดูหนังวันละ 3 เรื่อง เพื่อเรียนรู้ วิเคราะห์ กินนอนอยู่บนโต๊ะทำงาน หากใครทำอย่างผม ก็คงต้องได้รางวัล แต่ไม่ใช่เพราะผมคนเดียว งานที่ดีเพราะมีทีมงานด้วย
เนื่องจากผมต้องศึกษา ทำความเข้าใจมนุษย์ แยกแยะความคิดมนุษย์ จึงได้ศึกษาชุดความคิดอภิปรัชญา ทำให้มองภาพต่างๆ ได้ชัดขึ้น เห็นเหตุ เห็นผล
"วันที่ผมได้รางวัล ผมเลยไม่ตื่นเต้น เพราะรู้สึกว่ารางวัลเป็นแค่เนื้องอกชนิดหนึ่ง ไม่ได้มีค่า รุงรังชีวิต เมื่อสมองไม่สนใจเรื่องรางวัล สนใจแต่เรื่องงาน งานก็จะออกมาดีเอง"
โอกาสของคนไทย มีอีกแค่ไหนในเวทีโลก
โอกาสจะมาต่อเมื่อมีของ แต่การฝึก การเคี่ยวกรำตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญกว่า เพราะโอกาสคือช่วงจังหวะเวลาที่ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ แต่การเตรียมพร้อมของเราต้องพร้อมทุกวินาที
ทำอย่างไรไอเดียจะแตกต่าง
"Mother of creativities is a problem"
แม่ของความคิดสร้างสรรค์มาจากปัญหา เพราะมีปัญหาจึงเกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดทางเลือก เกิดทางออก
"ลักษณะของปัญหาในโลกจะมีลักษณะเฉพาะ และลักษณะเฉพาะของปัญหานี่เองที่ทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะ และลักษณะเฉพาะนี้เองที่เรียกว่า 'ความแตกต่าง' ฉะนั้น อย่าไปปักธงผิดว่า จะเริ่มต้นที่สร้างความแตกต่าง เพราะความแตกต่างมาทีหลัง แต่การวิเคราะห์ปัญหาอย่างท่องแท้ ให้รู้ราก รู้เหตุ รู้วิธีแก้ไขให้ดีที่สุด ประหยัดที่สุด มีคุณค่าที่สุดสำคัญกว่า เมื่อคิดในสิ่งที่ดีและมีคุณค่าจะเกิดความแตกต่างเอง"
จริงๆ แล้วความแตกต่างเป็นเรื่องเล็กมาก เมื่อเทียบกับการสร้างงานที่แก้ปัญหาได้ดีที่สุด
นักสร้างไอเดียเตรียมพร้อมอย่างไรกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
เมื่อ เออีซี มาถึง หากเรายังผลิตสินค้าวิ่งตามตลาด ยังไงก็สู้ไม่ได้ !
โลกยุคหน้าต้องทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ ต้องเป็นตัวเรา มาจากจิตวิญญาณ เป็นเลือดเป็นเนื้อ เป็นความคิดของเรา ต้องย้อนกลับไปค้นหาตัวเอง
เรามองเออีซี เห็นแต่สถานการณ์ที่น่ากลัว
แต่สิ่งเดียวที่เราลืมไป คือ ตัวเราเอง เราถนัดอะไร รักอะไร ชอบอะไร...