มูลนิธิชีววิถีแอบหวั่นบันได 3 ขั้น ‘ลด ละ เลิก’ ต้นทุนการผลิตข้าวสำเร็จยาก
‘วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ’ ชี้ไทยแชมป์เอเชียใช้สารเคมีในนาข้าว หนุน‘ลด ละ เลิก’ บันได 3 ขั้น ลดต้นทุนการผลิต แต่แอบหวั่นสำเร็จยาก นักวิชาการแนะ ‘ทฤษฎีโรคระบาด’ ส่งเสริมวัด-โรงเรียนปลูกผักอินทรีย์อย่างยั่งยืน
เร็ว ๆ นี้ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จัดงานสมัชชาวิชาการเกษตรกรรมยั่งยืน 2556 ณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ศาลายา โดยในเวทีเสวนา ‘เกษตรกรรมยั่งยืน:การดำรงอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง’ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงการเปิดกรอบเสรีการค้าอาเซียนว่า เมื่อใดที่รัฐบาลยกเลิกโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นโครงการประกันรายได้ผลผลิตหรือรับจำนำข้าว เกษตรกรจะดำรงชีพด้วยความยากลำบากในระบบการผลิตที่มีการลดภาษีเป็นศูนย์
“หลายคนทราบดีผลผลิตข้าวจากเวียดนามมีประมาณ 800 ก.ก./ไร่ ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยถึง 50% ขณะที่ผลผลิตข้าวไทยปัจจุบันมีสัดส่วนเพียงครึ่งหนึ่งของเวียดนาม อีกทั้งยังมีต้นทุนสูงกว่ามาก ทำให้เป็นปัจจัยต่อราคาข้าวของประเทศเพื่อนบ้านถูกกว่า ส่งผลถึงลูกค้าไม่ซื้อข้าวจากไทย” ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าว และมองว่า ไทยจะไม่สามารถรักษาเสถียรภาพการผลิตข้าวได้ หากไม่มีการปรับตัวของกลไกทั้งระบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละประเทศ ดังเช่น ฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียที่เลือกจำกัดกำแพงภาษี 20-30% ในสินค้าประเภทข้าว เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
พร้อมกันนี้ นายวิฑูรย์ ได้เสนอทางออก คือ ทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนด้วยการส่งเสริมลดต้นทุนการผลิต ซึ่งข้อมูลระบุว่า ไทยมีการใช้สารเคมีในนาข้าวมากที่สุดของทวีปเอเชีย และหากเปรียบเทียบกับแหล่งปลูกข้าวสำคัญอย่างอินเดียและจีนปัจจุบันจะเห็นชัดว่า ต้นทุนการผลิตของไทยยังสูงอยู่ จึงไม่สามารถจะอยู่รอดได้
ส่วนนโยบายนโยบายบันได 3 ขั้น ‘ลด ละ เลิก’ ของกรมการข้าว เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวของรัฐบาลนั้น ผอ.มูลนิธิชีววิถี แสดงความเห็นด้วย แต่ยังหวั่นว่าการขับเคลื่อนนโยบายในรูปแบบราชการให้ประสบความสำเร็จอาจเป็นเรื่องยากอยู่
สถานการณ์พันธุกรรมในปัจจุบัน นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ในวันที่ 16-20 ก.ย.นี้จะมีการเจรจา FTA Thai-EU รอบ 2 ขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดการยกเลิกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ซึ่งจะมีผลต่อเกษตรกรไม่มีสิทธิเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อหรือแลกเปลี่ยนกันได้ ภายใต้การผูกขาดของบรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ
“น่าเสียดายที่ผู้ดำเนินการเรื่องนี้มิใช่ EU ฝ่ายเดียว แต่ยังมีบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน), มอนซานโต้ และนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้เตรียมการยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ด้วย หากกลไกดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ระบบทางเลือกของเกษตรกรที่จะเข้าถึงทรัพยากรจะเปลี่ยนมือไปยังบริษัทขนาดใหญ่ทันที” นายวิฑูรย์ สรุป
ด้านรศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล กล่าวถึงการต่อสู้ปัญหาเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับการผูกขาดพันธะสัญญาพันธุ์พืช รวมถึงการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ยึดแนวทางเกษตรกรรมที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับคนในสังคม
ทั้งนี้เสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนภาคพลเมือง ‘ทฤษฎีโรคระบาด’ โดยหนุนเสริมให้วัด โรงเรียน สถานที่ราชการ รวมถึงสถานที่อื่น ๆ ทำแปลงปลูกผักปลอดสารพิษ เพื่อให้เกิดการขยายตัวเหมือนโรคระบาด จนทำให้ผู้ผลิตกับผู้บริโภคเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยไม่จำเป็นต้องเรียกร้องเชิงหลักการ แต่ใช้รูปธรรมเป็นตัวขับเคลื่อนแทน
ขณะที่นายอธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร WAY กล่าวถึงการรุกคืบของอุตสาหกรรมอาหารของบริษัทบางแห่งปัจจุบันทำให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่ไม่หลากหลาย ส่งผลให้วัฒนธรรมการกินเปลี่ยนไป แต่เกษตรอินทรีย์กลับมีจุดแข็งตรงที่มีความหลากหลายของอาหาร อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การเข้าถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้นค่อนข้างยาก ด้วยเหตุผลราคาแพงและไม่มีช่องทางจำหน่ายอยู่ ทำให้คนชั้นล่างไม่สามารถเข้าถึงการบริโภคได้