‘ดร.อัมมาร’ ชี้แทรกแซงราคาสินค้าเกษตรไม่ยั่งยืน หวั่นซ้ำรอย ‘จำนำข้าว’ ทำศก.พัง
‘ดร.อัมมาร’ ชี้แทรกแซงราคาสินค้าเกษตรไม่ยั่งยืน หวั่นซ้ำรอย ‘จำนำข้าว’ ทำเศรษฐกิจพัง ยันไทยยังต้องพึ่งพิงตลาดโลก หากปฏิเสธจะต้องหาทางออกที่ชัดเจนให้นำพาแข่งขันในอนาคตได้
วันที่ 29 ส.ค. 2556 มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จัดสมัชชาวิชาการเกษตรกรรมยั่งยืน 2556 ณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ศาลายา โดยศ.พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ปาฐากถาพิเศษ ‘อนาคตของภาคเกษตรกรรมไทยในสถานการณ์สากล’
ดร.อัมมาร เริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า เกษตรกรรมเป็นภาพเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด แบ่งเป็น 2 มิติ คือ 1. แบบพาณิชย์ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน ทำให้เกิดความรุนแรงกับธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นมนุษย์จึงต้องพยายามปรับตนเองให้สอดคล้องกับธรรมชาติ 2.แบบต่อสู้กับธรรมชาติ โดยมีข้อแม้ว่าจะให้เหมือนเดิมในสภาพธรรมชาติคงเป็นไปไม่ได้ แต่ควรสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืนเพื่อไม่ให้ธรรมชาติลุกขึ้นมาสร้างความรุนแรงกับมนุษย์อีก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นได้ชัดคือโครงสร้างอายุของเกษตรกรไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก จนนำมาสู่การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชั้นภาคเกษตรกรรมช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยจากการศึกษาจำนวนแรงงานในภาคเกษตรที่ทำงานมากกว่า 20 ชั่วโมง/สัปดาห์ แยกตามอายุ ปรากฏว่า คนที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี มีสัดส่วนการทำอาชีพเกษตรกรรมน้อยลง เนื่องจากอยู่ในวัยศึกษา ซึ่งถามว่าอีก 10 ปีต่อไปนั้น คนกลุ่มนี้จะกลับมาทำเกษตรกรรมหรือไม่ คำตอบคือมีนัยยะว่า ไม่กลับมา
นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า เมื่อแรงงานเกษตรกรรมน้อยลง จึงต้องหันมาพึ่งพิงเครื่องจักรกลทางการเกษตรแทน จนอาจเป็นส่วนหนึ่งให้เกิดสภาวะโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ซึ่งปัจจุบันได้มีการศึกษาค่อนข้างมาก โดยยังคงเป็นข้อถกเถียงในแวดวงนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาว่า โลกร้อนจากเกษตรกรรมจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามปัญหาทางธรรมชาติทั้งหมดมนุษย์ยังคงต้องรับสภาพต่อไป
“ที่ราบสูงทิเบตซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำสายสำคัญของทวีปเอเชีย รวมถึงแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านไทยได้สร้างพื้นที่ผลิตข้าวที่สำคัญของโลก แต่เมื่อน้ำแข็งเกิดการหลอมละลายเร็วกว่าปกติ จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการเพาะปลูก” ศ.พิเศษ ดร.อัมมาร กล่าว และยกตัวอย่างเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดภัยแล้งในไทย จนนำไปสู่การแกว่งของราคาผลผลิตสินค้าเกษตรและจะมีผลต่อเนื่องในอนาคตด้วย
"เมื่อเอ่ยถึงความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร จะเห็นว่าไทยจำเป็นต้องผูกติดราคาเกษตรกรรมกับตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้รัฐบาลจะพยายามดึงสินค้าบางชนิดออกจากตลาดโลก ดังเช่น โครงการรับจำนำข้าว แต่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งจะไม่มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ"
ศ.พิเศษ ดร.อัมมาร กล่าวอีกว่า โดยทั่วไปถ้าพูดถึงสภาวะโลกร้อน แนวโน้มของราคาสินค้าเกษตรจะลดลงในระยะยาว แม้ความต้องการอาหารจะเพิ่มมากขึ้น สุดท้ายราคาก็ลดลงมาตลอด เพราะผลิตผลของภาคเกษตรกรรมมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่กลับพบว่ามนุษย์มีความจุในการบริโภคอาหารเท่าเดิม
“กรณีของข้าวถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ไทยและประเทศอื่นมีปริมาณบริโภคข้าวต่อคนต่อปีลดลง เป็นเวลานานแล้ว เพราะเราเลือกที่จะบริโภคข้าวประเภทเดียว และอาหารที่บริโภคแม้จะมีความหลากหลายและราคาสูงขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะคุณภาพดีขึ้น”
นอกจากราคาสินค้าเกษตรจะผูกพันกับสภาวะโลกร้อนแล้ว ศ.พิเศษ ดร.อัมมาร กล่าวว่า จะผูกพันกับราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย ซึ่งของไทยที่ผูกพันทางตรง คือ น้ำมันปาล์มและน้ำตาล ส่วนทางอ้อม คือ ยางธรรมชาติ ข้าวโพด และข้าวก็ติดร่างแหไปด้วย ซึ่งหากสังเกตการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าเกษตรครั้งสุดท้ายก่อนเริ่มโครงการรับจำนำข้าว ในปี 2551 เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านราคาข้าวอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามมองว่าราคาสินค้าเกษตรจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ
ช่วงท้ายศ.พิเศษ ดร.อัมมาร กล่าวด้วยว่า ขอฝากข้อคิดไว้ “เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาสินค้าเกษตรจะไม่พึ่งพิงตลาดโลก แต่หากจะปฏิเสธจะต้องมีทางออกที่ชัดเจน จนสามารถนำพาอาชีพเกษตรกรรมให้แข่งขันกับกระแสโลกาภิวัฒน์และสภาวะโลกร้อนไปด้วยกันได้” .