ชาวบ้านภาคใต้เสนอ “จัดการภัยพิบัติ” เป็นวาระการเมือง
เวที 60 วันภัยพิบัติภาคใต้ สะท้อนราชการช่วยเหลือไม่เต็มที่-อืดอาดขาดช่วง ผอ.สำนักบรรเทาทุกข์ฯ ชี้ความหวังดีรุมขย้ำชุมชน-สังคมไทยไม่เคยสรุปบทเรียน "หมอบัญชา" แนะรัฐแก้ปัญหาเร่งด่วนให้ชาวบ้านมีที่อยู่-ทำกินก่อน
สืบเนื่องจากเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วม ดินโคลนถล่มใน 9 จังหวัดภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง สงขลา ฯลฯ กระทบ 5,086 หมู่บ้าน 622,512 ครัวเรือน มีผู้ได้รับผลกระทบ 2,071,929 คน บ้านเรือนเสียหายมากกว่า 1,200 หลังคาเรือน พื้นที่สวนไร่นาเสียหายกว่า 1.3 ล้านไร่
วันที่ 7 มิ.ย. 54 ที่บ้านพักชั่วคราวห้วยเนียง อ.เขาพนม จ.กระบี่ เครือข่ายผู้ประสบภัย อ.เขาพนม, เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิและสิทธิชุมชน, คณะกรรมการปฏิรูป มูลนิธิชุมชนไทย ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัด “เวที 60 วันบทเรียน การจัดการภัยพิบัติกับนโยบายทางการเมือง” โดย พลโท.นพ.อำนาจ บาลี ผอ.สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ปาฐกาการจัดการภัยพิบัติโจทย์ท้าทายของมนุษยชาติ ว่าสังคมไทยไม่ได้เกิดการเรียนรู้จากบทเรียนภัยพิบัติที่ผ่านมา ทำให้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า การแก้ไขเหมือนไฟไหม้ฟาง เช่น เมื่อกรณีเขาพนม กี่ร้อยองค์กรทั้งในและต่างประเทศเข้ามารุมขย้ำช่วย ไม่เว้นแม้แต่สื่อ
“เงินที่ผ่านกาชาดไปช่วยสึนามิ เฮติ 2-3 ร้อยล้านบาท แต่เขาพนมมีเท่าไร นี่เป็นความท้าทายจิตสำนึกของคนไทยและสื่อไทยว่าจริงๆ แล้วสังคมได้มองทะลุถึงกันอย่างไรบ้าง”
พลโท.นพ.อำนาจ กล่าวต่อว่าการเตรียมพร้อมทั้งก่อน ขณะเกิดหรือหลังเกิดเหตุยังไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานที่ต้องเตรียมอุปกรณ์ บุคลากร หรือชุมชนเองยังเลือกที่จะปลูกบ้านริมเขา ยังตัดต้นไม้ แม้ศูนย์เตือนภัยแจ้งเตือนแล้วยังไม่เชื่อ เมื่อเกิดเหตุจึงร้องหาคนช่วย เป็นโจทย์แรกที่ชุมชนต้องคิดใหม่ด้วยว่าต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน อย่าหวังแต่กับคนอื่น
“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมาถ่ายทอดให้เขาได้ไปตีฆ้องร้องป่าว รวมตัวกันทำเข้มแข็งอย่าเหยาะแหยะ กัดแล้วอย่าปล่อย รู้ให้ได้ว่าชุมชนต้องการอะไร ชุมชนก็ไม่ใช่รับทุกสิ่งที่ยัดเยียด ต้องรู้จักพอ”
ผอ.สำนักงานบรรทุกข์ฯ กล่าวอีกว่าเรื่องการฟื้นฟูบูรณะจากภัยพิบัติ ภาครัฐต้องเป็นตัวตั้ง พระเอกคือผู้ว่าราชการจังหวัดต้องจัดการให้หน่วยงานต่างๆลงไปดูแล พร้อมๆกันนี้ชุมชนก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วย
ทั้งนี้มีวงเสวนา “60 วันบทเรียนการจัดการภัยพิบัติกับนโยบายทางการเมือง” โดยนายทวีศักดิ์ ศรีมุข คณะกรรมการเครือข่ายผู้ประสบภัย อ.เขาพนม กล่าวว่า 2 เดือนมาแล้วนับจากเกิดภัยพิบัติที่เขาพนม ปัญหาคือราชการช่วยเหลือชาวบ้านไม่เต็มที่ การฟื้นฟูไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทุกวันนี้ชาวบ้านจำนวนมากยังไม่มีที่อยู่ ไม่มีอาชีพทำกิน และกระบวนการรัฐก็บีบบังคับให้ชาวบ้านยังอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยการอ้างระเบียบให้ต้องรื้อถอนบ้านหลังเก่าที่อยู่มาตั้งแต่สมัยปู่ย่า เพื่อแลกกับบ้านหลังใหม่ที่รัฐจะสร้างให้
นพ.บัญชา พงษ์พาณิชย์ นักวิชาการและอาสาสมัครสึนามิ กล่าวว่าหากดูจากบทเรียนของสึนามิและที่เขาพนม สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือที่อยู่ที่ทำกินก่อนเป็นอันดับแรก ราชการน่าจะจัดสรรที่ดินให้ก่อน ส่วนที่จะกันเขตป่าหรือเหตุผลอื่นก็ค่อยมาพบกันตรงกลาง เจรจาต่อรองกันให้ชาวบ้านช่วยดูแลรักษาป่า ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ที่ขัดแย้งเพราะต่างคนต่างทำตามกระบวนการของตน ไม่ตั้งโจทย์ใหญ่ร่วมกันว่าจะเติมเต็มส่วนที่ทำไม่ได้อย่างไร
“อเมริกาเป็นต้นแบบการจัดการภัยพิบัติ คิดและสร้างระบบใหม่หมด และที่พิสูจน์แล้วก็คือแผนเดียวจากส่วนกลางทำอย่างไรก็ล่ม ไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้นที่ลืมไม่ได้คือพี่น้องต้องกลับไปคิดว่าจะเตรียมรับมืออย่างไรทั้งก่อน ขณะเกิดและหลังเกิดภัย”
นพ.บัญชา กล่าวอีกว่าต้องผูกมิตรกับทุกฝ่ายที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แม้ว่าการทำงานของแต่ละส่วนจะมีปัญหา แต่อย่างน้อยทุกส่วนก็มีน้ำใจ รวมทั้งอย่าไปทำลายพลังสื่อ และที่สำคัญที่สุดชาวบ้านต้องเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง
นายไมตรี กงไกรจักร เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ กล่าวว่าหากชุมชนจัดการกันเองยังไม่ได้ถือว่ายังเสี่ยง ปัญหาใหญ่ของขบวนการจัดการภัยพิบัติจากบทเรียนที่ผ่านมาคือราชการและชาวบ้านไม่ได้คุยกัน ต่างคนต่างทำ และถึงจะมีแผนที่ดีแต่ชาวบ้านไม่รับรู้ไม่เข้าใจก็ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ
“จริงๆเรามีพระราชบัญญัติการจัดการภัยพิบัติ แต่ไม่มีใครพูดถึง เอาง่ายๆว่าชาวบ้านรู้หรือเปล่า เกิดเหตุคราวก่อนแทนที่จะใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ซึ่งก็เขียนชัดหมดทั้งอำนาจหน้าที่ การช่วยเหลือ แต่ก็ยังตั้งคณะกรรมการอำนวยการติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) เป็นเรื่องที่น่าแปลก”
นายไมตรี ยังกล่าวว่า ขณะนี้มีกระแสการเมืองที่แต่ละพรรคกำลังหาเสียง น่าจะช่วยกันคิดว่าจะดึงเรื่องจัดการภัยพิบัติเสนอเป็นนโยบายรัฐบาลหน้าให้จริงจังได้อย่างไร ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดการที่เป็นปัญหา ต่างฝ่ายต่างทำ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ไม่ปล่อยให้เป็นการจัดการโดยรัฐอย่างเดียวซึ่งล้าสมัยไม่ทันการไปแล้ว
พล.ร.ต.ถาวร เจริญดี ผู้เชี่ยวชาญศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ กล่าวว่าประชาชนต้องกลับมามองตัวเอง เพราะราชการช่วยไม่ได้ทั้งหมดทุกพื้นที่ เนื่องจากยังติดขัดกฏระเบียบต่างๆ ทั้งยังเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้งเป็นผลให้เปลี่ยนนโยบาย การจะทำอะไรค่อนข้างลำบาก ดังนั้นชาวบ้านและประชาสังคมต้องมีบทบาทหลัก
“หน่วยงานก็อยากช่วยเหลือต่อเนื่อง แต่ก็ติดขัดอย่างที่บอก ถ้าให้รื้อต้องไปรื้อตั้งแต่ต้นทาง คือกฎกติกาต่างๆ อีกอย่างคือการแจ้งเตือน เราเองทำไม่ได้ทั้งหมด ต้องอาศัยการเรียนรู้จากชุมชนด้วย ทั้งหมดขึ้นอยู่กับขั้นตอนว่าจะทำงานกันอย่างไร” พล.ร.ต.ถาวร กล่าว .