แรงงานเสนอตั้งองค์กรอิสระคุมกองทุนประกันสังคม 8 แสนล้าน
อนุ กก.กลั่นกรองฯ สปส.ถกเพิ่มสิทธิประโยชน์ใหญ่ ยืนยันไม่อืด มิ.ย.เห็นผล ด้าน กก.สมานฉันท์แรงานฯ เสนอปรับโครงสร้างบริหารกองทุนประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ แรงงานมีส่วนร่วมเพื่อประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ที่ประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม(สปส.) มีการพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการแพทย์ตามที่คณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดสปส.) เห็นชอบในหลักการก่อนหน้านี้ โดยนายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการ สปส.ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ยืนยันว่าจะมีความคืบหน้าแม้ว่าจะไม่สามารถพิจารณาได้ทันทุกรายการ และจะพยายามทำให้เสร็จสิ้นภายใน มิ.ย.นี้
สำหรับวาระการพิจารณา อาทิ 1.การรับสิทธิโรคร้ายแรงที่ต้องรักษาต่อเนื่องตามความจำเป็น 2.เจ็บป่วยฉุกเฉินรับบริการในสถานพยาบาลนอกเหนือที่ลงทะเบียนได้ไม่จำกัดจำนวน 3.เพิ่มสิทธิทันตกรรม 4.เพิ่มสิทธิจ่ายยาต้านไวรัสเอชไอวี 5.เพิ่มยาอะทาซานาเวียร์ในบัญชียา 6.เพิ่มสิทธิจ่ายยากดภูมิและสิทธิการเปลี่ยนไตแก่ผู้ป่วยที่เป็นไตวายเรื้อรังก่อนการเป็นผู้ประกันตน 7.ปรับราคากลางยารักษาโรคไตให้ต่ำลง 8.สิทธิประโยชน์ผู้ป่วยมะเร็งอีก 7 รายการ
นายปั้น กล่าวว่า จะนำข้อสรุปที่ได้เข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปส.วันที่ 21 มิ.ย.นี้ เชื่อว่าภายในเดือน มิ.ย.ผู้ประกันตนจะได้รับการเพิ่มสิทธิประโยชน์อย่างแน่นอน ส่วนข้อกังวลว่าบอร์ด สปส.ฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างบางส่วนจะหมดวาระในเดือน มิ.ย.มั่นใจว่าจะไม่กระทบการพิจารณาปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์อย่างแน่นอน
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ กล่าวว่า ตัวเลขค่าใช้จ่ายกรณีเพิ่มสิทธิที่จะเสนอให้อนุกรรมการกลั่นกรองสิทธิ ประโยชน์พิจารณาจะยังเป็นตัวเลขเดิมตามที่เคยเสนอบอร์ด สปส.ไปก่อนหน้านี้คือ 200 ล้านบาทสำหรับการเพิ่มสิทธิโรคไตวายเรื้อรัง 310 ล้านบาทสำหรับการเพิ่มสิทธิแก่ผู้ทุพพลภาพ และอีกเดือนละ 10 ล้านบาทสำหรับการเพิ่มสิทธิรักษามะเร็ง
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลขรายจ่าย แต่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองสิทธิประโยชน์ จะพิจารณาในภาพรวมคือดูทั้งรายรับและรายจ่ายว่ามีความสมดุลในระยะยาวหรือไม่
ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เสนอให้ปรับโครงสร้างการบริหารเงินกองทุนประกันสังคม ให้มีฐานะเป็นองค์กรอิสระ และให้กลุ่มแรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาอยู่ภายใต้กระทรวงแรงงาน มีเงินกองทุนกว่า 8 แสนล้านบาท แต่สมาชิกประกันสังคมกลับไม่ได้รับสวัสดิการ และการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐานเท่าที่ควร.