เมื่อ "กำนันอดีตพูโล" พูดถึง "บีอาร์เอ็น"
แม้เหตุผลของการตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนอย่าง "บีอาร์เอ็น" ของวัยรุ่นที่ชายแดนใต้ในปัจจุบันจะถูกบอกเล่าผ่านสื่อมาแล้วหลายครั้ง แต่เรื่องราวลักษณะนี้ก็ยังน่าสนใจอยู่เสมอ
เพราะด้านหนึ่งย่อมเป็นดั่งกระจกสะท้อนให้ "รัฐบาลไทย" ทราบว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เหตุใดผู้คนจำนวนไม่น้อยถึงยอมเสี่ยงตาย ยอมลำบาก เพื่อต่อสู้รับใช้อุดมการณ์หรือความเชื่อแบบนั้น
และยิ่งเป็นประสบการณ์ของคนที่ผ่านยุคสมัยแห่งการต่อสู้ รวมทั้งเฝ้ามองสถานการณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่าง มาหามะ เจ๊ะแหม กำนัน ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเข้าร่วมกับขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนนาม "พูโล" ขณะที่ปัจจุบันเขากลับใจมาอยู่ข้างรัฐ พร้อมประกาศต่อสู้กับขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนทุกรูปแบบด้วยแล้ว...เรื่องราวของเขายิ่งน่าสนใจ
"ผมเคยเป็นทหารเกณฑ์มาก่อน เมื่อปลดประจำการณ์ก็กลับมาทำสวนกับครอบครัวที่บ้านกาเด็ง ต.กาลิซา ทำสวนได้ไม่นาน แกนนำพูโลระดับพื้นที่รายหนึ่งก็ชักชวนเข้าร่วมอุดมการณ์ ช่วงนั้นผมยังเป็นวัยรุ่น มีความอยากรู้อยากเห็น จึงตัดสินใจเข้าร่วม เหตุผลหลักๆ ก็เพื่อให้เพื่อนๆ ในกลุ่มยกย่องสรรเสริญ ไปไหนมาไหนก็สามารถเบ่งได้"
มาหามะ เล่าว่า เมื่อเข้าร่วมกับขบวนการฯแล้ว หัวหน้ากลุ่มได้สอนให้มีแนวคิดเรื่องรัฐปาตานี ปลุกจิตใจให้มีความรู้สึกต้องแย่งชิงแผ่นดินจากรัฐไทยกลับมาให้ได้ พร้อมทั้งให้ฝึกอาวุธเพื่อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ
"ผมเคลื่อนไหวในแถบ อ.แว้ง จ.นราธิวาส เคยลอบยิงตำรวจ ทหารมาแล้วหลายราย วิธีการก่อเหตุก็มีลักษณะคล้ายๆ กับแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบในปัจจุบัน"
แต่แล้วการต่อสู้ของ มาหามะ ก็มาถึงจุดเปลี่ยน...
"หลังจากผมใช้ชีวิตกับขบวนการนานกว่า 6 ปี ผมก็คิดว่านี่มันไม่ใช่ เพราะชีวิตผมช่วงนั้นต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ บางวันไม่ได้หลับไม่ได้นอน ไม่ได้เจอหน้าพ่อแม่ ชีวิตในขณะนั้นลำบากมากๆ ถูกทางการประกาศไล่ล่า ต้องหลบหนีอยู่ตลอดเวลา จึงรู้สึกว่าเข้าร่วมขบวนการแล้วไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับตัวเรา แต่ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจ"
"กระทั่งวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกสำนึกผิด คือเขาสั่งให้ผมไปยิงชาวบ้านที่ไม่มีอาวุธและไม่มีทางต่อสู้ ผมก็ลงมือทำตามคำสั่ง แต่มารู้ทีหลังว่าเป้าหมายเป็นผู้บริสุทธิ์ เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมเสียใจมาก และตำหนิตนเองว่าทำไปได้อย่างไรทั้งที่เขาไม่ได้ทำอะไรเราเลย จากนั้นเมื่อมีคำสั่ง 66/23 (คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23) ให้ผู้ที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐวางอาวุธเพื่อเข้าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ผมจึงตัดสินใจออกจากป่าเพื่อมอบตัว"
ไม่ใช่แค่ล้างมือจากขบวนการฯเท่านั้น แต่ภายหลังออกจากป่า มาหามะ ได้เบนเข็มเข้าสู่การเมืองระดับท้องถิ่น กระทั่งได้ดำรงตำแหน่ง กำนัน ต.กาลิซา ซ้ำยังประกาศจุดยืนว่าจะต่อสู้กับขบวนการฯทุกรูปแบบด้วย
"หลังจากมอบตัวผมได้ประกาศจุดยืนว่าถ้ากลุ่มแนวร่วมแบ่งแยกดินแดนมาก่อเหตุหรือผ่านตำบลที่ผมอาศัยอยู่ ผมจะขอสู้กับขบวนการฯจนสุดชีวิต"
อดีตสมาชิกพูโล ยังกล่าวถึงกลุ่มบีอาร์เอ็นซึ่งเป็นขบวนการหลักที่เคลื่อนไหวต่อสู้กับรัฐบาลไทยอยู่ในปัจจุบันว่า ในอดีตบีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มเล็กๆ และไม่ค่อยมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพูโลเท่าใดนัก เพราะมีแนวคิดแตกต่างกันหลายอย่าง แต่สำหรับปัจจุบันดูเหมือนทั้ง 2 กลุ่มจะมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น
"ฮัสซัน ตอยิบ (แกนนำคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็น) สมัยก่อนแทบไม่มีใครรู้จัก แต่ปัจจุบันกลับมีชื่อเสียงโด่งดัง จึงรู้สึกงงๆว่าทำไมต้องไปเจรจากับ ฮัสซัน ตอยิบ ด้วย ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่มีหลายมิติ แต่ผมไม่อยากพูดอะไรมาก เพราะมีกลุ่มการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง"
เขากล่าวอีกว่า แนวร่วมบีอาร์เอ็นในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่คึกคะนอง อยากรู้อยากเห็น จึงเข้าร่วมกับขบวนการฯ ยิ่งใครทำร้ายฝ่ายตรงข้ามหรือเจ้าหน้าที่รัฐได้ก็จะได้รับการยอมรับนับถือจากกลุ่มวัยรุ่นด้วยกัน ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนพูดถึง
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วัยรุ่นเข้าร่วมขบวนการฯคือเรื่องยาเสพติด โดยขบวนการฯจะนำมาเป็นตัวล่อเพื่อดึงเยาวชนให้จำยอมเข้าร่วม
"ประเด็นนี้ทำให้ผมคิดประกาศปราบยาเสพติดทุกชนิด โดยจะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจปัสสาวะวัยรุ่นทุกคนในตำบล หากพบว่าปัสสาวะสีม่วง หรือมีสารเสพติดในร่างกายก็จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปบำบัดทันที"
เขายังเสนอว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่จะปกป้องไม่ให้กลุ่มวัยรุ่นเข้าร่วมขบวนการฯ คือสถาบันครอบครัว โดยพ่อแม่ต้องเอาใจใส่ดูแลบุตรหลานของตนอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่หลงผิดเข้าไปร่วมกับขบวนการฯ
"ที่กาลิซาทุกวันนี้ประชาชนทุกกลุ่มร่วมมือกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา และชาวบ้านทุกครัวเรือน เราได้ร่วมกันประกาศต่อสู้กับขบวนการก่อความไม่สงบ พวกเรารู้ดีว่าต้องยืนหยัด เพราะลุกขึ้นสู้แล้วจะถอยไม่ได้ ถ้าวันไหนเราถอยแค่ก้าวเดียววันนั้นเราจะพบกับความพ่ายแพ้ทันที"
"ผมเคยถูกแนวร่วมก่อความไม่สงบดักยิงมาแล้วครั้งหนึ่ง เหตุการณ์ครั้งนั้นคือผมเข้าไปห้ามคนที่จะเข้าร่วมกับขบวนการฯ ซึ่งเขาเป็นคนในตำบลใกล้เคียง ผมบอกว่าอย่าไปยุ่งเลย แต่เขาก็ไม่เชื่อ ผมจึงท้าว่าถ้าเข้าไปยุ่งเรามายิงกันเลยดีกว่า พอพูดจบผมก็ขับรถกลับบ้าน ปรากฏว่าระหว่างทางก็ถูกดักยิงจนได้รับบาดเจ็บที่แขน จังหวะนั้นผมชักปืนยิงสู้จนแนวร่วมล่าถอย ถ้าวันนั้นผมไม่สู้ป่านนี้คงตายไปแล้ว"
มาหามะ กล่าวด้วยว่า ชาวบ้าน ต.กาลิซา ร่วมมือกันเป็นอย่างดี โดยทุกหมู่บ้านจะจัดชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ขึ้นมา ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐเดือนละ 20,000 บาท และเงินทั้งหมดจะมอบให้ชุด ชรบ.ไปบริหารจัดการกันเอง นำไปซื้อกาแฟหรืออาหารต่างๆ มากินร่วมกัน และจะมีการประชุมหารือกันแทบทุกเดือน เวลาประชุมจะมีชาวบ้านในตำบลแทบทุกหลังคาเรือน ซึ่งมีอยู่กว่า 1 พันคนเข้าร่วม
"ผมเคยบอกกับผู้ใหญ่บ้านใน ต.กาลิซา ทุกหมู่บ้าน และ ชรบ.ทุกคนว่าใครแก้ปัญหาในหมู่บ้านไม่ได้ หรือปล่อยให้มีแนวร่วมเคลื่อนไหวในหมู่บ้านก็ควรเขียนใบลาออกจากตำแหน่ง เพราะยังมีอีกหลายคนที่เขาพร้อมจะทำหน้าที่และแก้ปัญหา"
ท้ายสุดอดีตสมาชิกพูโลซึ่งปัจจุบันเป็นกำนัน ต.กาลิซา ได้ฝากข้อความไปถึงแนวร่วมก่อความไม่สงบที่เคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงอยู่ในพื้นที่ว่า ขอให้เปลี่ยนใจกลับมาร่วมพัฒนาหมู่บ้านเหมือนคนอื่นๆ ดีกว่า เพราะนั่นคือหนทางสู่สันติภาพที่ดีที่สุด!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : มาหามะ เจ๊ะแหม ในเครื่องแบบกำนันเต็มยศ