"เอกชัย ศรีวิลาศ" กับตัวอย่าง "เรื่องเล่า" ทำให้ชาวบ้านเกลียดรัฐ
บนเวทีราชดำเนินเสวนาเรื่อง "เป้าหมายสุดท้ายของบีอาร์เอ็นกับกระบวนการสันติภาพ" เพื่อนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับองค์กรบีอาร์เอ็นของ จิราพร งามเลิศศุภร นักวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ส.ค.2556 นั้น นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคนได้ร่วมกันแชร์ประสบการณ์และให้ข้อเสนอแนะต่อผู้วิจัย
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า วันนี้ประชาชนในพื้นที่เป็นฝ่ายบีอาร์เอ็นมากกว่า 50% แล้ว สามารถควบคุมมวลชนได้พอสมควร การก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ จึงสามารถทำได้ง่าย ทั้งที่รัฐเองทำงานแก้ไขปัญหามาเกือบ 10 ปี แต่มวลชนกลับไปอยู่ฝ่ายบีอาร์เอ็นมากขึ้น
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้มวลชนไม่หันมาเป็นฝ่ายรัฐ เพราะมีกระบวนการสร้างความเกลียดชังและความหวาดระแวงอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่เด็กๆ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความไม่ดีของเจ้าหน้าที่รัฐมากมาย ไม่ใช่แค่เรื่องประวัติศาสตร์อย่างเดียวเท่านั้น ทั้งยังมีวิธีการต่างๆ ที่สร้างความเชื่อในเรื่องเหล่านี้อย่างแนบเนียน เช่น ครูที่เป็นคนของฝ่ายต่อต้านรัฐนำแอปเปิ้ลผลสวยๆ มาฝากลูกศิษย์ พอเด็กๆ ได้รับประทานก็อร่อยและติดใจ ขอให้ครูนำมาให้อีก พอวันรุ่งขึ้นผลไม้ที่ครูนำมาฝากกลายเป็นกล้วยซึ่งเด็กๆ เคยกินจนเบื่อ พอถามครูว่าทำไมถึงไม่มีแอปเปิ้ล ครูก็บอกว่านำแอปเปิ้ลมาให้แล้ว แต่พอผ่านด่านตรวจของทหาร เจ้าหน้าที่ก็ยึดเอาไป แล้วให้กล้วยกลับมาแทน วิธีการแบบนี้ทำให้เด็กฝังใจไม่ชอบเจ้าหน้าที่ เป็นต้น
ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีฯ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวต่อว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นใช้ 5 ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนองค์กรและควบคุมมวลชน คือ 1.ยุทธศาสตร์ประชากร จะมีการตรวจสอบจำนวนผู้สนับสนุนว่ามีเท่าไหร่ อยู่ที่ไหนบ้าง และพยายามเพิ่มจำนวนตลอดเวลา 2.ยุทธศาสตร์สังคม เน้นการปลูกฝังความคิดความเชื่อผ่านโรงเรียนปอเนาะ และเน้นให้ประกอบอาชีพในชุมชนเพื่อไม่ให้คนออกนอกชุมชน 3.ยุทธศาสตร์การเงิน มีการตั้งกองทุน เก็บเงินสมาชิกวันละ 1 บาทเพื่อเป็นทุนในการต่อสู้ และมีเงินทุนจากทั้งในและต่างประเทศสนับสนุน 4.ยุทธศาสตร์การข่าว มีการหาข่าวหลายด้าน และเป็นการข่าวที่มีประสิทธิภาพมากกว่าทางการเสียอีก และ 5.ยุทธศาสตร์การเข้าถึงมวลชน มีการพูดคุยสื่อสารกับมวลชนตลอดเวลา
พล.อ.เอกชัย ยังกล่าวถึงการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ว่า แม้จะรู้กันดีว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นถูกบีบบังคับจากรัฐบาลมาเลเซียให้มาพูดคุยกับรัฐบาลไทย แต่ต้องยอมรับว่าการจัดการเกี่ยวกับการพูดคุยของบีอาร์เอ็นทำอย่างเป็นระบบมากกว่าฝ่ายไทยเสียอีก ทั้งๆ ที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีชุดความรู้ในการพูดคุยสันติภาพทั้งคู่
"ก่อนการพูดคุยแต่ละครั้ง จะมีการประชุมสภาบีอาร์เอ็น มีการกำหนดประเด็นที่จะพูดคุย มีการกำหนดตัวบุคคลเข้าร่วมพูดคุย และหลังจากพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทยแล้ว ต้องนำประเด็นกลับไปรายงานต่อสภาภายใน 24 ชั่วโมง จะได้กำหนดแนวทางการพูดคุยหรือการให้ข่าวต่อไป ผิดกับฝ่ายไทยที่ไม่มีการเตรียมการ ไม่มีการประชุมกันก่อน ตัวบุคคลที่จะไปร่วมโต๊ะพูดคุยก็รู้ล่วงหน้าไม่กี่ชั่วโมง ประเด็นที่จะพูดคุยก็ไปทราบกันบนโต๊ะประชุมนอกรอบก่อนการพูดคุย พอพูดคุยเสร็จก็เก็บข้อมูลไว้กับตัว ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และไม่มีการกลับมาคุยกันอีกด้วย"
ด้าน ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวว่า ควรทำให้สังคมเกิดความเข้าใจความขัดแย้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปเรื่อยๆ เพราะความขัดแย้งเกิดมาเป็นร้อยปีแล้ว และปัญหาความขัดแย้งที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นกระบวนการปกติของการสร้างรัฐชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ส่วนเรื่องการพูดคุยสันติภาพนั้น เห็นว่าต้องคุยต่อแน่นอน เพราะในการศึกษาเกี่ยวกับความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงกว่า 300 กลุ่มทั่วโลก มีเพียง 7 กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงแล้วชนะ นอกนั้นยุติได้เพราะหันหน้าคุยกันทั้งสิ้น
"การพูดคุยซึ่งผมใช้คำว่า 'สันติสนทนา" ที่ได้ดำเนินการไปแล้วเป็นการลดความชอบธรรมของการใช้ความรุนแรง ผมเห็นว่าสันติสนทนาเป็นอาวุธสำคัญซึ่งหน่วยงานของรัฐและสังคมจำเป็นต้องมีบทสนทนาในเรื่องนี้ให้มากกว่าปัจจุบัน" ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว