‘ยุคล’ ชงครม.อนุมัติงบ 5.6 พันล้านเยียวยาปัญหายางพารา -ยันไม่แทรกแซงราคา
‘รมว.เกษตรฯ’ เผยมติคณะอนุฯ แก้ไขปัญหาราคายางอนุมัติงบ 5.6 พันล้าน ช่วยเหลือทั้งระบบปี 57 ยันไม่มีนโยบายแทรกแซงราคา หวั่นบิดเบือนตลาด ‘กรณ์ จาติกวณิช’ โพสต์เฟซบุ๊คตั้งคำถามตรรกะความคิดแก้ปัญหายาง-ข้าว
วันที่ 28 ส.ค. 56 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยมติคณะอนุกรรมการกลั่นกรองเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เห็นชอบเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติในการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 ทั้งนี้ในส่วนของวงเงินงบประมาณเห็นควรให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบกลางในการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 5,628 ล้านบาท
หากดำเนินการแล้ววงเงินไม่เพียงพอให้เสนอครม. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และเห็นควรมอบหมายให้คณะกรรมการยางธรรมชาติรับไปศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์และคาดการณ์ราคายางพาราในช่วงที่เหลือของปี เพื่อประกอบการพิจารณาความจำเป็นที่ต้องมีมาตรการเสริมเพิ่มเติมจากแนวทางระยะสั้นและระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราในประเทศ
“งบประมาณ 5,628 ล้านบาท จะนำมาอุดหนุนราคาปุ๋ยแก่เกษตรกรสำหรับปลูกยางไม่เกิน 10 ไร่ จำนวน 980,000 ราย เป็นเงินชดเชย 1,250 บาท/ไร่”
เมื่อถามว่ามติดังกล่าวจะมีส่วนยกระดับราคายางพาราได้มากน้อยเพียงใด รมว.กษ. กล่าวว่า ไทยไม่สามารถกำหนดราคาเอง ตราบใดที่ยังคุมตลาดโลกไม่ได้ เพราะฉะนั้นราคายางในประเทศจึงผูกพันกับตลาดโลกแน่นอน ซึ่งจะเห็นว่า ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่มีผลผลิตมากอันดับต้นในโลก ไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคา หากแต่เป็นสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีน ที่เป็นผู้กำหนดราคาตลาดแทน
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดเสถียรภาพราคายางพาราจะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต และระบบตลาดต้องเข้มแข็งภายใต้การขับเคลื่อนของสถาบันเกษตรกรเพื่อให้ยางพารามีคุณภาพสูง ด้วยการตั้งโรงงานแปรรูปเบื้องต้น เชื่อมโยงกับตลาดในประเทศ อีกทั้งให้โค่นต้นยางพาราที่มีอายุเกิน 25 ปี เพื่อเปลี่ยนมาปลูกพืชชนิดอื่นแทน ดังเช่น มาเลเซียที่เปลี่ยนจากการปลูกยางพาราเป็นปาล์มน้ำมัน
เมื่อถามอีกว่าหากไทยมีการโค่นยางพาราแล้ว อินโดนีเซียและมาเลเซียจะยินดีลดปริมาณยางพาราด้วยหรือไม่ ยุคล กล่าวว่า ไม่สนใจว่าประเทศเหล่านั้นจะมีนโยบายทิศทางเดียวกัน แต่ไทยจำเป็นต้องเอาตัวรอดก่อน เนื่องจากเราปลูกยางพารามากที่สุด ยิ่งอนาคตลาว กัมพูชา และจีน จะมีการปลูกยางเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้เกษตรกรไทยเดือดร้อนได้ หากยังไม่บริหารจัดการให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศ
“วันนี้รัฐบาลจะไม่ลงไปแทรกแซงการรับซื้อยางพารา ซึ่งการเข้าแทรกแซงนั้นจะทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกว่าเราเข้าไปบิดเบือนตลาด และจะทำให้มีสต๊อกยางในมือรัฐบาลมากจนไม่สามารถขายได้” ยุคล ยืนยัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) ได้โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค ‘Korn Chatikavanij’ ต่อกรณีดังกล่าว โดยพยายามตั้งข้อสังเกตไปถึงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของรมว.กษ.ว่า...
1. “ประเทศไทย ไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคายาง” (อ้าว แล้วทีข้าว เราเป็นคนกำหนดราคาหรือครับ)
2. “เราใช้เงินไปแล้ว 20,000 ล้านบาท ซื้อยางราคาสูงกว่าตลาดที่ 120 บาท แต่ไม่สามารถดึงราคาตลาดโลกขึ้นมาได้” (แล้ว 700,000 กว่าล้านบาท ที่ซื้อข้าวที่ 15,000 บาทนั้นดึงราคาตลาดโลกได้หรือครับ)
3. ท่านรัฐมนตรีถามว่า ถ้าชาวสวนยางยัง (ดื้อ) ที่จะเอาราคา 120 บาท เทียบกับราคาตลาด 74 บาท “ใครต้องจ่าย และจ่ายอีกนานเท่าไร” (มีคนถามคำถามเดียวกันกับการซื้อข้าวราคาแพงมาเป็นปีแล้ว แต่ท่านรัฐมนตรีไม่เคยตอบ)
4. “ยางที่ซื้อมาเก็บในสต็อกขายไม่ได้เพราะต่างชาติรู้ว่าเราจะขายเมื่อไร เขาจะทุบราคาทันที” (เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว รัฐบาลเข้าใจหรือยังว่าทำไมจึงขายข้าวในโกดังรัฐบาลไม่ได้) .