พบเด็กติดพนันงอมแงมเกิน 2 ล้านคน นักวิชาการจี้ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ
นักวิชาการพบสถิติเยาวชนเล่นการพนันมากกว่า 2 ล้านคน ผลวิจัยระบุผู้มีปัญหาการพนัน 1 คนมีคนได้รับผลกระทบ 8 คน เสนอยกระดับปัญหาการพนันเป็นวาระแห่งชาติ แนะให้ สธ.พัฒนาแผนดูแลในระยะยาว จี้ ก.ศึกษาบรรจุหลักสูตรปัญหาการพนัน
เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ จัดเวทีโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพัฒนาแนวทางการพัฒนาการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมในการลดผลกระทบจากการพนัน เพื่อหาทางออกและข้อเสนอแนะให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขและป้องกันเยาวชนที่จะเข้าสู่วงจรของการพนัน
โดยที่คณะเศรษฐศาสตร์ ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจสถิติสถานการณ์ของการเล่นพนัน พบว่าประชาชนกว่าร้อยละ 75 ในประเทศไทย เคยเล่นการพนัน โดยสถิติที่น่าตกใจคือมีเยาวชนอายุน้อยกว่า 24 ปี เล่นพนันกว่าร้อยละ 4 หรือเกือบ 2 ล้านคน จากการศึกษาทางการแพทย์ พบเหตุผลอย่างชัดเจนว่า การที่เด็กและเยาวชนเริ่มเล่นพนันตั้งแต่อายุยังน้อยจะมีโอกาสติดพนันสูงกว่าเมื่อเล่นการพนันในอายุมากขึ้น
ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน นำเสนองานวิจัยโดยกล่าวถึง บทสรุปการศึกษาการป้องกันและแก้ปัญหาการพนันในเด็กและเยาชนในต่างประเทศ ซึ่งได้ทำการศึกษาใน 5 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กและเยาวชนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงสูงในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนัน
"ผู้ที่มีปัญหาการพนันอย่างรุนแรงส่วนใหญ่เริ่มเล่นการพนันได้ตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากนี้เด็กและเยาวชนยังมีอัตราการติดการพนันได้อย่างถูกกฎหมายในหลายรูปแบบถึงร้อยละ 3 ซึ่งสูงกว่าผู้ใหญ่ 2-4 เท่า และพบว่ามีผู้ปกครองเพียงร้อยละ 5 ที่พยายามจะห้ามบุตรหลานจากการเล่นการพนัน" ดร.ธีรารัตน์ กล่าว และว่า ด้วยเหตุปัจจัยที่คล้ายคลึงในหลายประเทศจึงทำให้เกิดมาตรการในการป้องกันและการแก้ปัญหาในเด็กและเยาวชนในต่างประเทศหลายประการ ดังนี้
1.การกำหนดให้การแก้ปัญหาการพนันโดยใช้แนวทางบริการสาธารณสุข (public health service approach) โดยหลายประเทศมองปัญหาการพนันตรงกันว่าไม่ใช่เป็นแค่เพียงปัญหาสุขภาพของตัวบุคคลและครอบครัวเท่านั้น แต่มองว่าปัญหาการพนันเป็นปัญหาของชุมชนโดยรวม เช่นเดียวกับปัญหาสาธารณสุขอื่นๆ
2.การกำหนดให้ปัญหาการพนันเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชน และทำให้เกิดการพนันอย่างรับผิดชอบ ซึ่งหลายประเทศได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนที่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนด้วยการประกาศเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งยังสร้างแรงจูงใจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพนันและเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนร่วมสมัครใจนำเสนอกิจกรรมรณรงค์ เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันอย่างเป็นรูปธรรม และประเมินผลได้
3.ความเข้มงวดในการกำหนดอายุขั้นต่ำเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนเล่นพนัน โดยการบังคับใช้กฎหมายเป็นช่องทางหนึ่งที่หลายประเทศได้นำมาใช้กำกับดูแลการพนันในเด็กและเยาวชน อาทิ กฎหมายการพนันปี ค.ศ.2003 ของประเทศนิวซีแลนด์ ได้มีข้อกำหนดที่เข้มงวดกว่ากฎหมายฉบับเก่า เช่น การกำหนดอายุขั้นต่ำให้เด็กและเยาวชนอายุไม่น้อยกว่า 18 ปี ถึงจะสามารถเล่นเครื่องเล่นเกมอิเล็กทรอนิกส์ได้
4.การจัดสรรทุนเพื่อสนับสนุนโครงการปัญหาการพนันหลากหลายรูปแบบ โดยประเทศนิวซีแลนด์มีการเก็บภาษีการพนันจากกำไรของผู้ประกอบกิจการการพนันหลัก 4 ประเภท คือ เครื่องเล่นเกมในผับและสโมสร คาสิโน คณะกรรมการการแข่งพนัน และคณะกรรมการล็อตเตอรี่แห่งนิวซีแลนด์ เพื่อเข้ากระทรวงสาธารณสุข และนำมาจัดสรรให้กับมูลนิธิเพื่อปัญหาการพนันแห่งนิวซีแลนด์ โดยจะมีการบำบัดเยียวยาปัญหาการพนันกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ และให้คำปรึกษาอย่างเป็นความลับกับผู้มีปัญหาการพนันและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการพนันของผู้อื่นโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
5.การบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนรู้เท่าทันปัญหาการพนัน โดยประเทศต่างๆ เหล่านี้ได้มีการบรรจุปัญหาการพนันเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาตอนปลาย โดยมีการบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการศึกษาที่มีอยู่ อาทิ วิชาคณิตศาสตร์ สังคมศึกษา สุขศึกษา และเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากปัญหาพนันเป็นปัญหาของชุมชนโดยรวม โดยมีผลการวิจัยของสหราชอาณาจักรที่พบว่าในทุก 1 คนของผู้มีปัญหาการพนันจะมีคนที่ได้รับผลกระทบ 8 คน เช่นเดียวกับปัญหาสาธารณสุขอื่นๆ เช่นปัญหายาเสพติดและปัญหาสุรา
ดร.ธีรารัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการจัดการปัญหาการพนันในประเทศไทย ควรแบ่งการแก้ปัญหาเป็น 3 ระยะ โดยระยะต้น จะต้องทำการสำรวจสถานการณ์ปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึงพร้อมทั้งรณรงค์ให้สังคมตระหนักรู้ผ่านสื่อและกิจกรรมต่างๆ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างพื้นที่สีขาวเพื่อเป็นทางออกให้เด็กและเยาวชนได้มีกิจกรรมที่ห่างไกลจากการพนันด้วย
ในระยะกลาง รัฐควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจนให้เห็นถึงการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชน โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติและกำหนดให้ปัญหาการพนันเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจังก่อน โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พัฒนาแผนระดับชาติในการแก้ปัญหาการพนัน
ส่วนในระยะยาว ประเทศไทยควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการแก้ปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนเป็นการเฉพาะ โดยนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการดำเนินการมาใช้ในการรณรงค์สร้างการตระหนักรู้ให้แก่สาธารณชนเพื่อให้เห็นถึงปัญหาและอันตรายของการพนัน การเยียวยารักษา รวมถึงสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ผ่านงานวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ และกระทรวงศึกษาธิการของไทยควรจัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพนันและปัญหาการพนันเป็นหลักสูตรในโรงเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายเป็นต้นไป
ซึ่งเป้าหมายของหลักสูตรต้องทำให้นักเรียนมีความรู้และความเข้าใจเรื่องการพนันอย่างเป็นจริง และมีเหตุผลมากขึ้น เน้นให้เห็นถึงอันตรายที่มากับการพนัน และสร้างทักษะในการตัดสินใจเชิงบวก และรับรู้ถึงบริการความช่วยเหลือต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อให้บริการแก่ผู้มีปัญหาการพนัน
ทั้งนี้ อยากให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันผลักดันให้เกิดการเล่นพนันอย่างรับผิดชอบ (Responsible Gambling) อย่างแท้จริง เพราะแม้เราจะไม่สามารถขจัดการพนันให้หมดไปจากสังคมได้ก็ตาม แต่หากเกิดการเล่นพนันอย่างรับผิดชอบก็จะช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในสังคม