ศก.ชะลอตัว SME กว่าครึ่งหันพึ่งบัตรเครดิต - สินเชื่อนอกระบบ แก้สภาพคล่องระยะสั้น
ศูนย์วิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลวิจัย “SMEs หนีตายเศรษฐกิจถดถอย (ทางเทคนิค)” ชี้ชัดภาวะศก.ชะลอตัวกระทบ SMEs ค่อนข้างรุนแรง ระบุแม้รัฐเร่งเบิกจ่ายเงิน ประโยชน์ก็ตกกับSMEsไม่มาก แถมใช้ระยะเวลานาน
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) เปิดเผยผลการวิจัยเรื่อง ““SMEs หนีตายเศรษฐกิจถดถอย (ทางเทคนิค)” โดยการวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาการปรับตัวของผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 713 ราย จาก 16 จังหวัด ทำการเก็บข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ตั้งแต่วันที่ 10 - 22 สิงหาคม 2556ที่ผ่านมา
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงผลการศึกษา พบว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวกระทบกับSMEs ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากมีทรัพยากรและความสามารถในการปรับตัวน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ โดย SMEs กว่าครึ่งระบุว่า การปรับลดราคาได้ผลน้อยกว่าที่คาดไว้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากการชะลดตัวทางเศรษฐกิจและปัญหาค่าครองชีพที่ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง
“แม้การลดต้นทุนจะเป็นแนวทางที่ได้ผลมากที่สุด แต่ก็มีข้อจำกัด SMEsไม่สามารถลดต้นทุนได้ตลอดไป ในที่สุดแล้วปัญหากำลังซื้อที่ลดลงและต้นทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ SMEs ต้องเจอกับปัญหาสภาพคล่องมากขึ้น”
ผอ.ศูนย์วิจัย มธบ. กล่าวอีกว่า ผลการศึกษายังพบ SMEs กว่าครึ่งต้องพึ่งพาบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อนอกระบบมาช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องระยะสั้น นอกจากจะสะท้อนถึงปัญหาสภาพคล่องที่รุนแรงขึ้นแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นว่า SMEs ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้
“นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงมหภาค เช่น การเร่งเบิกจ่ายเงินของภาครัฐ ได้ประโยชน์กับSMEsไม่มากนัก และใช้ระยะเวลานานกว่าประโยชน์จะตกถึงSMEs นโยบายกระตุ้นกำลังซื้อด้วยการเพิ่มเงินให้กับประชาชนในระยะสั้นได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นนโยบายที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งดูได้จากการที่ GDP ณ ราคาปีฐาน ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 มีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท และมีการเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.3 ล้านล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 แต่พอมาถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 GDP กลับลดลงมาเป็น 1.2 ล้านล้านบาทเหมือนเดิม" ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว และว่า จริงอยู่การเพิ่มขึ้นและลดลงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจของแต่ละไตรมาส แต่การที่ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้กลับลงมาอยู่ใกล้เคียงกับเมื่อ 18 เดือนก่อน แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตที่ไม่สดใสนัก
ทั้งนี้ สำหรับ ผลการวิจัยเรื่อง ““SMEs หนีตายเศรษฐกิจถดถอย (ทางเทคนิค)” จาการสอบถามสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2556) 8.5% ระบุว่าดีขึ้น 11.5% ทรงตัว 69.4% ชะลอตัวลง 10.2% ถดถอย และอีก 0.4% ตกต่ำ
และเมื่อให้ประเมินสถานะทางธุรกิจของตนเอง 10.3% ระบุว่า ยังขยายตัวได้ดี 30.8% ทรงตัว 33.2% เริ่มลำบาก 18.8% ลำบากมาก และอีก 6.9% เสี่ยงกับการปิดกิจการ แสดงว่ามีผู้ประกอบการSMEsที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงประมาณ 58.9% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมดที่ทำการสำรวจ
เมื่อให้ประเมินว่าปัจจัยต่อไปนี้ส่งผลต่อผลประกอบการในระดับใด (คะแนนเต็ม 10) พบว่า ภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีผลมากที่สุด ได้ 8.5 คะแนน อันดับสอง ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น 8.3 คะแนน อับดับสาม ต้นทุนการผลิต ได้ 8.1 คะแนน อันดับสี่ การแข่งขันในประเทศ ได้ 7.7 คะแนน อันดับห้า ภาวะเศรษฐกิจโลก ได้ 7.3 คะแนน
ส่วนแนวทางการปรับตัว พบว่า วิธีการที่ใช้มากที่สุด 5 อันดับแรก มีดังนี้ อันดับแรก การลดต้นทุนการผลิต 74.5% อันดับสอง การปรับขึ้นราคาสินค้า 69.7% อันดับสาม การปรับลดราคาสินค้า 69.2% อันดับสี่ การลดขนาดการผลิต 60.4% และอันดับห้า การใช้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อนอกระบบมาช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องระยะสั้น 57.7%
อ่านข้อมูลประกอบ:SMEs หนีตายภาวะเศรษฐกิจถดถอย