โอกาสที่ถูกปิดกั้นของผู้หญิงชายแดนใต้ ความจริงหล่นหาย ณ ปลายด้ามขวาน
"ท่ามกลางปัญหาความไม่สงบ ผู้หญิงหลายคนต้องสูญเสียสามี ต้องกลายเป็นหม้าย และทำให้เธอถูกมองเป็นของสาธารณะ"
เป็นความจริงของผู้หญิงชายแดนใต้ที่เล่าผ่าน นาซือเราะ เจะฮะ นักข่าวหญิงจาก อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งสามารถเรียกความสนใจจากผู้ฟังได้ไม่น้อย บนเวทีนำเสนอรายงานเรื่อง "การเสริมสร้างศักยภาพผู้หญิงในภาคใต้ของไทย" จัดโดยมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ที่สถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา
บนเวทีเล็กๆ ที่เปิดให้ทั้งผู้พูดและผู้ฟังได้สื่อสารถึงกันอย่างเป็นกันเองนั้น มีผู้หญิงมุสลิมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 คนร่วมบอกเล่าเรื่องราวของพวกเธอในบริบทของสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างยืดเยื้อยาวนาน ซึ่งผู้หญิงเป็นทั้งผู้ถูกกระทำและผู้ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังเรียกร้องโอกาสในการได้รับบทบาทที่เหมาะสมเพื่อช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ร้ายให้ดีขึ้นกว่าเดิม
เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องเผชิญ...
นาซือเราะ บอกว่า ตลอดหลายปีที่มีสถานการณ์ความรุนแรง ผู้ชายจำนวนไม่น้อยไม่สามารถอยู่ที่บ้านได้ บางส่วนต้องหนีไปมาเลเซีย บางส่วนต้องหลบซ่อนอยู่ตามป่าเขา และบางส่วนก็อยู่ที่กุโบร์ (สุสาน) ทำให้ผู้หญิงต้องรับบทหนัก ต้องทำมาหาเลี้ยงครอบครัวและดูแลลูกๆ ผู้หญิงต้องออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืดเพื่อไปกรีดยาง กว่าจะกลับมาก็สาย ลูกไปโรงเรียนหมดแล้ว กลางวันก็ต้องทำงานจนถึงค่ำมืด ทำให้ไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่าลูกไปโรงเรียนหรือไม่ ขณะเดียวกันเด็กๆ ก็ขาดการดูแลเอาใจใส่ กลายเป็นปัญหาสังคมตามมา โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด
"หลายครอบครัวไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร แม่ต้องให้เงินลูกไปซื้อยาเสพติดเพราะไม่อยากให้ลูกไปขโมยของของชาวบ้าน หรือถ้าลูกไปก่อเรื่อง แม่ก็ต้องตามไปชดใช้ บางรายสามีติดยา ต้องไปจ่ายหนี้แทนสามีที่ไปลักขโมยขี้ยางของคนอื่น บางครอบครัวผู้หญิงต้องไปทำงานรับจ้าง ต้องลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย สุดท้ายก็ถูกจับติดคุกอยู่นานเพราะไม่มีญาติไปเสียค่าปรับ"
นาซือเราะ ขยายความเรื่องผู้หญิงที่ถูกมองเป็น "ของสาธารณะ" ว่า ผู้หญิงหลายคนต้องสูญเสียสามีไปจากสถานการณ์ความรุนแรง ทำให้กลายเป็นหม้าย เมื่อเป็นหญิงหม้ายก็จะถูกมองเป็นของสาธารณะในสายตาของผู้ชาย โดยมักจะถูกผู้ชายแทะโลมทั้งด้วยวาจาและการกระทำ หลายๆ ครั้งก็ถูกผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นบังคับเพื่อให้มีความสัมพันธ์ด้วย ทำให้ผู้หญิงหลายคนจำยอมมีสามีใหม่ทั้งๆ ที่ไม่อยากมี หรือไม่ก็ย้ายออกจากหมู่บ้านไปหาที่อยู่ใหม่ เพื่อหลีกหนีจากปัญหาเหล่านี้
นาซือเราะ บอกด้วยว่า ผู้หญิงในพื้นที่อยากมีโอกาสในการเรียนรู้ มีการศึกษาที่ทันสมัย เพื่อก้าวให้ทันโลกและสังคมที่เปลี่ยนไป ทั้งยังต้องการโอกาสในการร่วมแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่โอกาสเหล่านี้ยังไม่มี ซ้ำยังขาดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดระบายเรื่องร้ายๆ ที่ตนเองต้องเผชิญ
ช่วยคนแต่กลับโดนหมาย พ.ร.ก.
นิธิมา ลามะ ครูจาก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ถ่ายทอดความรู้สึกของผู้หญิงในพื้นที่ว่า ไม่อยากให้มีสถานการณ์ความไม่สงบ เพราะไม่อยากดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวและหวาดระแวง ทำไมทุกฝ่ายไม่เปิดพื้นที่พูดคุยกันเรื่องความขัดแย้งแตกต่างโดยไม่ต้องฆ่ากัน
"บทบาทของฉันในพื้นที่ เนื่องจากสามารถพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว คนในหมู่บ้านจึงมักขอให้ไปช่วยพูดคุยเจรจากับเจ้าหน้าที่เวลาที่มีคนถูกจับ ไปๆ มาๆ ฉันกลับถูกเจ้าหน้าที่มองในแง่ลบ สุดท้ายก็โดนหมาย พ.ร.ก. (หมายเชิญตัวที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ซึ่งไม่ได้โดนแค่ตัวฉัน แต่โดนทั้งบ้าน ในหมู่บ้านโดนหมาย พ.ร.ก.กันเป็นร้อยคน บางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ไปรู้เมื่อขับรถผ่านด่านเจ้าหน้าที่แล้วโดนจับเพราะตรวจเลข 13 หลัก (เลขประจำตัวประชาชน) พบว่ามีหมาย พ.ร.ก."
ครูนิธิมา กล่าวด้วยว่า ยังมีผู้หญิงชายแดนใต้ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกมาก ไม่เฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่รวมถึงการเปิดโอกาสทางการเมือง การรับทราบรับรู้และร่วมแก้ปัญหาในเวทีระดับชุมชน ตลอดจนกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กำลังทำกันอยู่ด้วย
ขอมีส่วนร่วมจัดการปัญหาชุมชน
ขณะที่ มัสซีหยะ เด็งลา ผู้ใหญ่บ้านหญิงแห่งบ้านโลทู ต.ปล่องหอย อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี เรียกร้องให้เปิดโอกาสแก่สตรีในการเข้าไปเป็นกรรมการหมู่บ้าน กรรมการมัสยิด รวมทั้งกรรมการไกล่เกลี่ยชุดต่างๆ และกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่สำคัญต้องให้ผู้หญิงมีส่วนในการแก้ไขปัญหาการศึกษา ยาเสพติด และเยาวชน โดยผ่านกลไก 17 คนที่เป็นเหมือนเสาหลักในชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) เป็นต้น
"ผู้หญิงจะรู้ปัญหาดีทุกอย่าง เชื่อว่าถ้าเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าไปร่วมในกลไกเหล่านี้จะแก้ปัญหาได้ทั้งยาเสพติดและความมั่นคง แนวทางนี้ต้องทำทุกพื้นที่ ไม่ใช่ทำแค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น โดยผู้ที่ผลักดันต้องเป็นภาครัฐ เพราะมีพลังและงบประมาณที่จะดำเนินการได้"
เสริมพลังผู้หญิงอย่าทำแค่ฝึกอาชีพ
ชาเดียร์ มาฮาบาน ผู้หญิงอาเจะห์หนึ่งเดียวที่ร่วมในกระบวนการสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้งและการสู้รบบนแผ่นดินเกิดของเธอที่อินโดนีเซีย กล่าวว่า โครงการเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้หญิงส่วนใหญ่เน้นการเพิ่มทักษะการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ดูแลครอบครัว ซึ่งอาจเป็นเพราะประเทศหรือองค์กรผู้ให้ทุนมองผู้หญิงในภาพของแม่และภรรยา แต่จริงๆ แล้วผู้หญิงสามารถมีบทบาทอื่นๆ ได้ รวมทั้งผู้หญิงที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ทว่าที่ผ่านมาไม่มีการจัดตั้งระดมพลังของผู้หญิงในชุมชน ประกอบกับผู้หญิงมักขาดความเชื่อมั่น
"การฝึกทักษะอาชีพเป็นเรื่องดี แต่ต้องหาความสมดุลกับบทบาทอื่นด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อสถานะทางการเมืองและสังคม" ชาเดียร์ระบุ
ควรมีผู้หญิงใน กก.อิสลามฯ
ด้าน อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวเสริมว่า ในบริบทของความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ ยังมีผู้หญิงถูกทำร้าย ถูกป้ายสี หรือแม้แต่ถูกบังคับให้แต่งงาน จึงอยากให้มีนโยบายแห่งชาติว่าด้วยผู้หญิงในมิติของสันติภาพและความมั่นคง ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมี และผู้มีอำนาจในบ้านเมืองแทบไม่เคยให้ความสนใจ
"ประเทศไทยอนุญาตให้ใช้กฎหมายอิสลามเกี่ยวกับครอบครัวมรดกใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2489 (หมายถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489) หรือ 67 ปีมาแล้ว แต่ผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่จำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่ามีกฎหมายนี้ และไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้ การแบ่งมรดกเมื่อสามีหรือพ่อแม่เสียชีวิตก็ทำกันที่มัสยิด ผู้หญิงจำนวนมากทำสวนทำไร่ในที่ดินที่คิดว่าเป็นของตนเอง แต่จริงๆ แล้วเป็นชื่อคนอื่น"
"ดิฉันอยากให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด มีผู้หญิงเป็นกรรมการด้วย เพราะเวลามีกรณีหย่าร้าง ไม่มีใครกล้าเล่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวให้กรรมการที่เป็นผู้ชายฟัง เพราะถ้าเล่าก็จะถูกตัดบท บอกว่าเป็นเรื่องในบ้าน"
ทัศนะผู้ชาย..."ผู้หญิงต้องอยู่แต่ในครัว"
อังคณา ยังเล่าประสบการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึง "โอกาสที่ถูกปิดกั้น" ของผู้หญิงชายแดนใต้ ทั้งในเวทีระดับชาติและระดับภูมิภาคว่า ที่ผ่านมาบทบาทของผู้หญิงมลายูจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำกัดมาก ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไม่มีตัวแทนของผู้หญิงมลายูเข้าไปร่วมเลย
ขณะที่สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่รู้จักกันในนาม "สภาที่ปรึกษา ศอ.บต." นั้น ในช่วงของการยกร่างกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กฎหมาย ศอ.บต. (กฎหมายที่ตราขึ้นในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อรองรับการทำงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ก็ไม่ได้มีตัวแทนของผู้หญิงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสภาที่ปรึกษาฯเป็นการเฉพาะ มีแต่เข้าไปแทรกอยู่ในกลุ่มอื่นๆ เช่น สื่อ ภาคประชาสังคม ซึ่งเวลาคัดเลือกตัวแทนจริงๆ อาจไม่มีผู้หญิงได้รับโอกาสเลยก็เป็นได้ จึงมีการผลักดันในชั้นการพิจารณาร่างกฎหมายของวุฒิสภา กระทั่งกำหนดให้สภาที่ปรึกษาฯ ต้องมีตัวแทนจากผู้หญิงห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้จังหวัดละ 1 คนด้วย โดยมาจากการเลือกกันเองของผู้หญิงในพื้นที่
อย่างไรก็ดี เวลาประชุมสภาที่ปรึกษาฯ ตัวแทนของผู้หญิงก็ถูกจำกัดบทบาท มีครั้งหนึ่งที่ตัวแทนจากนราธิวาสเสนอว่าขอให้เพิ่มบทบาทของผู้หญิงในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ก็ถูกตัดบทจากผู้นำในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ชาย โดยบอกว่า "หน้าที่ของผู้หญิงอยู่ในครัว ออกไปข้างนอกทีไรก็หาผัวใหม่ทุกที" นี่คือตัวอย่างที่สะท้อนปัญหาและทัศนคติของผู้ชายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อผู้หญิง
"ดิฉันเคยคุยกับผู้หญิงในพื้นที่ เขาบอกว่าเลี้ยงลูกไม่เป็น ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ทำงานหนักทั้งชีวิตเพื่อหาเงินให้ลูก แต่หลายครอบครัวลูกหนีหายไปจากบ้านหลายปีโดยที่แม่ไม่รู้ว่าหายไปไหน มาเจอลูกอีกทีก็กลายเป็นศพเพราะยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ แม่หลายคนจึงเพิ่งรู้ว่าลูกไปเป็นสมาชิกขบวนการฯ ทำให้แม่โทษตัวเองว่าเลี้ยงลูกไม่เป็น ไม่สามารถหยิบยื่นอนาคตดีๆ ให้กับลูกได้" อังคณากล่าว
เพิ่มบทบาทผู้หญิงบนโต๊ะคุยสันติภาพ
ปิดท้ายด้วย นายมะรอนิง สาแลมิง รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานเปิดการเสวนาแทน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. เขากล่าวว่า เห็นด้วยที่สตรีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในบริบทของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และภาวการณ์ของผู้ชายในพื้นที่ที่อ่อนแอ เปราะบางต่อความขัดแย้ง และพูดคุยกันไม่ค่อยจะได้ สตรีน่าจะได้เข้าไปมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่มากกว่านี้ ทั้งบทบาทในคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด เพราะแม้ปัจจุบันผู้ที่อยู่ในคณะกรรมการเหล่านี้จะมีแต่ผู้ชาย แต่เบื้องหลังของคนเหล่านี้ก็คือสตรี ซึ่งก็คือแม่บ้าน คนที่บ้าน
ที่สำคัญในกระบวนการไกล่เกลี่ยพูดคุย ตลอดจนเวทีพูดคุยสันติภาพ การพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ น่าจะเปิดให้สตรีมีบทบาทในการชี้นำมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาด้วย
นี่คือบางส่วนเสี้ยวของความจริงที่หล่นหาย ความจริงจากชายแดนใต้ที่ไม่ค่อยมีใครได้พูดถึง!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ:
1 บรรยากาศบนเวทีเล็กๆ แต่เป็นกันเอง
2 สามสาวจากชายแดนใต้ถ่ายภาพร่วมกันที่สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทย (จากซ้ายไปขวา) นาซือเราะ มะซีหยะ และนิธิมา
อ่านประกอบ : เสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้ "ปาติเมาะ : ปัญหาใต้ไม่ได้มีแค่หยุดยิง-ถอนทหาร"