นักวิจัยมสธ. หวั่นบำเหน็จบำนาญอาจไม่พอ คุ้มกันชีวิตผู้สูงอายุ
นักวิจัยเผยฐานข้อมูลกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังแทบไม่มีการวิจัย พบถูกทอดทิ้ง-ไม่รู้มีสวัสดิการ จี้ปรับปรุงฐานข้อมูล เชื่อมโยงการทำงาน ทบทวน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ สู่การปฏิบัติจริง ส่งเสริมการออม ให้รู้จักบริหารความเสี่ยงลดภาระสังคมผู้สูงวัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo 2013) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 สิงหาคม ณ ศูนย์ประชุมบางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ มีหัวข้อการวิจัยที่น่าสนใจ ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ได้ให้ความสำคัญและศึกษาการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้สูงอายุ จนใกล้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต
โดย รศ.ดร.บุญทิพย์ สิริธรังศรี อาจารย์สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ทำวิจัยเรื่อง 'กลยุทธ์สู่ความสำเร็จในการอยู่ลำพังของผู้สูงอายุ' และเก็บข้อมูลจากผู้สูงอายุ ผู้ปฏิบัติงานกับผู้สูงอายุ ผู้บริหารที่ดูแลนโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ จนพบกลุ่มผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังจำนวนมาก ทั้งที่อยู่ตามลำพังบางเวลาและถูกทอดทิ้ง ขณะเดียวกัน ฐานข้อมูลผู้สูงอายุในกลุ่มที่อยู่ตามลำพังของประเทศไทยก็มีน้อยมาก และแทบไม่มีการทำวิจัยเรื่องนี้เลย
รศ.ดร.บุญทิพย์ กล่าวถึงการเก็บข้อมูล และพูดคุยกับผู้สูงอายุ สะท้อนว่า นโยบายเกี่ยวกับผู้สูงอายุในปัจจุบัน เช่น พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มีความครอบคลุมดีแล้ว แต่ไม่นำนโยบายสู่การปฏิบัติ เช่น สิทธิของคนแก่ หรือคนพิการที่ต้องมีรถยกขึ้นรถเมล์ ที่ไม่ได้รับความสนใจจัดอยู่ในนโยบายบริการของภาครัฐ
"ภาครัฐควรทบทวนนโยบายเหล่านี้สู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม สำหรับผู้สูงอายุมี 9 หน่วยงานใหญ่ที่เกี่ยวข้อง แต่การทำงานยังแยกส่วน ได้รับงบประมาณไป แต่มีนโยบายซ้ำซ้อนกัน แสดงว่าฐานข้อมูลผู้สูงอายุไม่ได้เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังมีฐานข้อมูลน้อยมาก และบางส่วนไม่ทราบว่าตนเองมีสวัสดิการใดรองรับบ้าง จึงถูกละเลย ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ต้องได้รับการพัฒนาให้ทันต่อสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสู่สังคมผู้สูงอายุ" รศ.ดร.บุญทิพย์ กล่าว และว่า ผู้สูงอายุในกลุ่มที่อยู่ตามลำพัง เป็นกลุ่มที่มีปัญหามากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่มีครอบครัวดูแล
"ในปัจจุบันการดูแล ช่วยเหลือผู้สูงอายุกลุ่มที่อยู่ตามลำพังมาจากระบบชุมชน กิจกรรมในชุมชน การตรวจสุขภาพจากอาสาสมัครประจำชุมชน ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการอยู่คนเดียวกระทบต่อสภาพจิตใจมากกว่าปกติ พบว่ามีประมาณ 6% ที่อยากฆ่าตัวตาย เป็นสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต สอดคล้องกับภาวะปัญหาสุขภาพจิต และภาวะซึมเศร้าที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น เรื่องความต้องการทางจิตใจจึงเป็นเรื่องที่ต้องจัดควบคู่กับสวัสดิการและความต้องการทางร่ายกาย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ"
การออม ภูมิคุ้มกันชีวิตผู้สูงอายุ
ขณะที่รศ.ดร.กาญจนี กังวานพรศิริ อาจารย์สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ผู้ทำวิจัย เรื่อง 'แนวทางและมาตรการส่งเสริมการออมของผู้สูงอายุ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง' ระบุว่า การที่ผู้สูงอายุมีอายุยืนมากขึ้นเป็นเรื่องที่ดี แต่จะต้องมีมาตรการรองรับที่ดีเช่นกัน เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อที่อาจสูงขึ้น จนบำเหน็จบำนาญหรือการดูแลจากครอบครัวอาจไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นความเสี่ยงจะมีปัญหาเรื่องการเงิน
"จากการวิจัยสะท้อนว่า เบื้องต้นจะต้องทำให้ผู้สูงอายุรู้จักวิธีการใช้จ่ายและบริหารความเสี่ยง เห็นว่าการออมเป็นเรื่องสำคัญ เป็นภูมิคุ้มกันชีวิต ในระยะสั้นส่งเสริมให้ผู้สูงอายุต้องรู้จักออม การใช้จ่าย ให้ได้รับรู้ข่าวสารทางข้อมูลการเงินมากขึ้น ส่งเสริมให้นำเงินที่มีอยู่ไปออกดอก ออกผลเพิ่มเติม ในระยะยาว ควรหาอาชีพเสริมให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากบำนาญหรือสวัสดิการที่ได้รับ ตามสภาพและความเหมาะสมหรือประสบการณ์ชีวิต"
ในระดับนโยบายนั้น รศ.ดร.กาญจนี กล่าวด้วยว่า สังคม ภาครัฐและภาคเอกชนควรให้ความสนใจผู้สูงอายุในเรื่องการเงินมากขึ้น พึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมามุ่งเน้นไปเรื่องสุขภาพ โดยอาจลดภาษีสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อให้ลดภาระด้านการเงินของสังคมได้ในระดับหนึ่ง