นักวิชาการจี้พีทีทีจีซี รับฟังปชช. แทนไล่ฟ้องปรามคนให้ข้อมูลน้ำมันรั่ว
นักวิชาการ ม.นเรศวร แนะพีทีทีจีซีอย่ากลัวเสียภาพลักษณ์เสีย หลังมีข่าวเข้าแจ้งความตำรวจ เอาผิดผู้ให้ข่าวเป็นเท็จแก่สื่อ กรณีน้ำมันดิบรั่ว ทำเสียชื่อเสียง ชี้แสดงความรับผิดชอบโปร่งใส ฟังข้อมูลทุกส่วน ดึงภาพกลับมาเอง
จากกรณีที่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี ในกลุ่มบริษัท ปตท. มอบอำนาจให้ผู้จัดการฝ่ายสิ่งแวดล้อม เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ไว้เพื่อเป็นหลักฐาน เพื่อขอให้พนักงานสอบสวนสืบหาผู้ให้ข่าวเป็นเท็จแก่สื่อมวลชนกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลทำให้บริษัทเสียหาย เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายนั้น
ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ หน่วยวิจัยเชิงบูรณาการด้านการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนและการนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราในกรณีดังกล่าวว่า โดยส่วนตัว เห็นว่า ความจริงบริษัทน่าจะรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ร้องเรียนหรือหน่วยงานต่างๆ แล้วนำไปตรวจสอบว่าจริงเท็จแค่ไหน หากผลการตรวจเป็นอย่างไรก็นำเอกสารมาชี้แจง หรือเปิดแถลงให้ประชาชนรับรู้
“ขณะนี้หาก พีทีทีจีซี กลัวว่าตัวเองต้องตกเป็นจำเลยของสังคมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็ไม่ต้องกลัว เพราะเป็นจำเลยอยู่แล้ว และไม่ต้องกลัวภาพลักษณ์จะเสียหาย”
ดร.ธนพล กล่าวอีกว่า การที่บริษัทออกมาประกาศจะดำเนินคดีต่อคนที่ออกมาให้ข้อมูล ยิ่งมองดูแล้ว ไม่โปร่งใส วันนี้สิ่งที่ พีทีทีจีซีต้องทำคือรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือผู้ที่ร้องเรียน ไม่ว่าข้อมูลจะจริงเท็จแค่ไหนก็ลงไปตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ตัวเอง เชื่อว่า ทำแค่นี้ถ้าโปร่งใสภาพลักษณ์ก็กลับมา อีกทั้งยังไม่ต้องไปเสียเวลาทำ CSR อีกด้วย
ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีเครื่องมือที่สามารถเข้ามาจัดการปัญหาจากการปนเปื้อนมลพิษ ยกตัวอย่างเช่น การมีกฎหมายการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ
ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นต้นแบบของหลายๆ ประเทศ ทันทีที่เกิดการปนเปื้อนของมลพิษ และมีการประเมินแล้วว่า ความเสี่ยงเกินจัดการนั้น รัฐบาลจะนำเงินในกองทุนฯ ซึ่งเก็บจากภาษีในกิจการที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง นำออกมาใช้ก่อน จากนั้นจึงมีการไล่ฟ้อง เรียกทุกบาททุกสตางค์ กลับเข้ากองทุนฯ พร้อมดอกเบี้ย
ส่วนที่ไต้หวัน ซึ่งดัดแปลงกฎหมายมาจากสหรัฐฯ กิจการที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านมลพิษ ต้องจ่ายภาษีเข้ากองทุนฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อน และหากประกอบกิจการแล้วส่งผลกระทบจนเกิดการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะนำเงินตรงนี้ออกมาใช้ และเมื่อมีการพิสูจน์แล้วว่า บริษัทนั้นๆ ทำผิดจริง จะมีส่วนลดให้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐฯ ที่บริษัทผู้ก่อให้เกิดมลพิษปนเปื้อนต้องจ่าย 100%
แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีเฉพาะตัวนี้ มีแต่กฎหมายเรื่องอากาศ ขยะ น้ำ แต่ก็พบปัญหาว่า ในกฎหมายหลายๆฉบับดังกล่าวนั้นจะต้องหาผู้ก่อมลพิษให้ได้