ลูกหนี้ยันไม่มีเจตนาโกง วอน กยศ.แก้ไขระบบ แจ้งชำระคืนให้ชัด
เจาะปัญหา วิกฤติกองทุนกยศ. โดนเบี้ยวหนี้อื้อ บรรดาลูกหนี้ ชี้ชัดต้องแก้ที่ระบบ การจัดส่งเอกสาร แจ้งการชำระคืน แบ่งเป็นงวด - รายเดือนให้ชัดเจน จ่ายตรง ปีไหนผิดนัดชำระบวกดอกเบี้ยเพิ่ม
กรณีวิกฤติปัญหาในกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ว่า ขณะนี้ถือว่าเข้าขั้นวิกฤติทางด้านวินัยของคนในชาติอย่างมาก ในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา เพราะการผิดนัดชำระหนี้ครั้งนี้เป็นเพราะเด็กนักเรียนนักศึกษามีค่านิยมที่ผิด หลังจากที่เห็นคนอื่นไม่ยอมชำระหนี้ตัวเองก็ไม่ชำระหนี้คืนตามไปด้วย
ขณะเดียวกันบางคนก็นำเงินไปซื้อสิ่งของหรือนำไปใช้อย่างอื่นแทนที่จะนำเงินมา ชำระหนี้คืน ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนหนี้ค้างชำระมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจำนวนหนี้ค้างชำระของนักเรียนนักศึกษาที่ครบกำหนดชำระหนี้แต่ไม่คืนมีมากถึง 25% ของจำนวนผู้กู้ทั้งหมด 4 ล้านราย หรือคิดเป็น 1 ล้านราย ขณะที่มีมูลหนี้ค้างชำระประมาณ 50,000 ล้านบาท จากวงเงินปล่อยกู้รวมทั้งสิ้นประมาณ 4 แสนล้านบาทนั้น
จากข่าวที่ผ่านมาได้กล่าวถึงความไม่มีวินัยของผู้กู้ถึงเรื่องความรับผิดชอบและกลายมาเป็นวัฒนธรรมชักดาบ จนกระทั่งกยศ.ต้องจัดโครงการ “พี่ช่วยน้อง” ขึ้นมานั้น สำนักข่าวอิศราได้สอบถามไปยังกลุ่มนักศึกษาที่เป็นลูกหนี้กยศ.ถึงสาเหตุของการไม่ชำระเงินคืนและการชำระล่าช้า
โดยน.ส.เอ (นามสมมติ) จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า หลังจากจบการศึกษาและมีงานทำยังไม่เคยได้รับจดหมายแจ้งเรื่องการชำระคืนใดๆ ทั้งสิ้นจากกยศ. ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ บ้านที่อาศัยอยู่เป็นที่เดียวกันกับที่เคยให้ข้อมูลไปในขั้นตอนการกู้ ซึ่งหลังจากจบการศึกษา กยศ.จะให้เวลาในการหางานทำหรืออยู่ในช่วงปลอดหนี้เป็นเวลา 2 ปี จึงจะทำการส่งเอกสารมายังที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน หลังจากนั้นหากผู้กู้ไม่ทำการชำระเงินในเวลา5ปี จะถูกฟ้องร้อง
“ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับเอกสารแจ้งใดๆ จึงไม่ได้ทำการชำระมาเป็นระยะเวลา 4 ปีแล้ว หลังจากนั้นจึงลองเข้ามาเช็คข้อมูลศึกษาดูในอินเตอร์เน็ตจึงรู้ว่า ต้องชำระอย่างไรที่ไหน ซึ่งหากผู้กู้ไม่ได้กระตือรือร้นหาข้อมูลเองจะไม่ทราบเลยว่าต้องดำเนินการอย่างไร ดังนั้นทางกยศ.จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดส่งเอกสารให้ทั่วถึง”
ขณะที่ น.ส.บี (นามสมมติ) ให้เหตุผลว่า จบการศึกษามาแล้ว 4 ปี ขณะนี้ก็มีงานทำมีรายได้ แต่ที่ยังไม่จ่ายเพราะกู้เรียนในจำนวนเงินที่น้อยและดอกเบี้ยไม่แพงมากจึงยังไม่จ่าย
“เอาไว้ใกล้ถึงเวลาตามที่กยศ.กำหนดไว้ค่อยไปดำเนินการจ่ายเนื่องจากดอกเบี้ยถูก โดยตั้งใจจะชำระคืนปีละ2 ครั้ง แต่ตอนนี้ไม่แน่ใจเช่นกันว่า ถูกคิดดอกเบี้ยชำระช้าไปเท่าไรแล้ว แต่ยืนยันว่าแม้จะชำระช้าแต่ก็จะจ่ายคืน”
ด้าน น.ส.มุจรินทร์ สิงห์จานุสงค์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า หลังจากจบการศึกษามาแล้ว2 ปี มีเอกสารไปที่บ้านต่างจังหวัด และเพิ่งจะทำการชำระไปปีแรก ซึ่งเป็นการให้ชำระเป็นรายปีและในปีต่อไปยอดในการชำระก็จะเพิ่มมากขึ้น อยากให้ทางกยศ.แก้ระบบของการชำระคืนให้แบ่งเป็นงวดรายเดือนอย่างชัดเจน ว่าต้องชำระเดือนละเท่าไร
น.ส.มุจรินทร์ ให้ข้อมูลอีกว่า ตอนที่ทำเรื่องกู้เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งรายละเอียดและวิธีการชำระเงินคืนให้ทราบจึงไม่มีข้อมูลรายละเอียดในเรื่องนี้ และหากไม่ได้รับเอกสารคงยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะต้องชำระอย่างไร ซึ่งคิดว่านี่อาจจะเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้กลุ่มลูกหนี้กยศ.ชำระเงินคืนช้าและยังไม่ชำระเงินคืน
ทั้งนี้น.ส.อรพรรณ สีตะริสุ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยไม่ได้แจ้งเรื่องการชำระคืนในขั้นตอนการทำเรื่องกู้ แต่แจ้งตอนช่วงใกล้จบการศึกษาสั้นๆ ว่า สามารถชำระคืนได้ที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา เพียงยื่นบัตรประชาชน สำหรับรายละเอียดการชำระคืนให้ไปสอบถามพนักงานธนาคารเอง
“ปัญหาของการไม่ชำระคืนที่ส่งผลวิกฤติต่อกองทุนกยศ.ขณะนี้ อาจมาจากสาเหตุที่ผู้กู้สามารถผลัดได้ คือปีนี้ไม่จ่ายปีหน้าค่อยจ่าย ผลัดไปเรื่อยๆจนบางทีเลยกำหนดแล้วต้องฟ้องร้อง”
ทั้งนี้ น.ส.อรพรรณ ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากตัวผู้กู้จะมีจิตสำนึกต่อส่วนร่วมแล้วอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องแก้ไขคือกยศ.ไม่ควรปล่อยให้มีการผลัดหนี้เช่นนี้ไปเรื่อยๆ หากในปีใดไม่จ่ายก็คำนวณดอกเบี้ยในการชำระล่าช้าในปีนั้นๆเลย ทุกคนจะได้กระตือรื้อร้น และมีเงินคืนกลับเข้ายังกองทุนกยศ.ทุกปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
-วัฒนธรรมชักดาบเงินกู้กยศ. สะเทือนแรง!! คุณธรรมความรับผิดชอบเด็กไทย
-ชักดาบเงินกู้ กยศ.ปธ.บัณฑิตไทยไม่โกงชี้อย่าโทษระบบ
-มจธ.เดินหน้า 'บัณฑิตไทยไม่โกง' ปลูกฝังค่านิยมไม่รับคนทุจริต