อ้อยไม่หวาน ข้าวเครียด ลิ้นจี่ไม่ออกดอก นักวิชาการคาดเกษตรกรอ่วม จี้รับมือโลกร้อน
ภาวะเรือนกระจกส่งผลอุณหภูมิโลกพุ่ง ดร.เดชรัต คาดอนาคตผลผลิตทางการเกษตรลดลงแน่ แนะเกษตรกรไทยรับมือ วิเคราะห์ ลดความเสี่ยง ปรับระบบนา จัดการน้ำ ดิน ปรับปรุงพันธุ์ ปลูกพืชหลายชนิดแทนปลูกพืชชนิดเดียว พร้อมทำประกันภัยพืชผล
เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การอ็อกแฟม ร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมเรื่อง "ทิศทางนโยบายด้านการปรับตัวต่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรรายย่อย" ณ ห้องมรกต โรงแรมวินเซอร์ สวีทส์ สุขุมวิท 20 กรุงเทพ
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ภาควิชาการเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงระดับปริมาณก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2556 ได้เพิ่มเกินระดับ 400 PPM ( parts per million) แล้ว คือระดับความเข้มข้นของก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ พุ่งทะลุเลย 400 ส่วนในล้านส่วน เป็นจุดสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ ระบุว่า ต้องรักษาไว้ให้ได้ หากไม่อยากให้อุณหภูมิโลกพุ่งขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส
“ภาพรวมหากอุณหภูมิโลกพุ่งเกิน 2 หรือ 4 องศา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศระดับต้นๆ ทั้งบังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และไทย รวมทั้งเราจะเห็นแนวโน้มการเกิดขึ้นของภัยพิบัติทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ล่าสุดปี 2554 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมเชื่อว่าสถิตินี้คงจะถูกทำลายในอนาคตได้อย่างไม่อยากนัก"
ดร.เดชรัต กล่าวอีกว่า ปริมาณก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศแตะ 400 PPM ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือและปรับตัวตั้งแต่วันนี้ มิเช่นนั้นความสูญเสียจะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนี้ไปเกี่ยวพันกับมิติเศรษฐกิจและสังคม อย่างเช่น กรณีเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 พบว่า ครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 78% มีการเตรียมตัวอย่างดี มีแค่ 22% เท่านั้นที่ไม่ได้เตรียมตัว ส่วนครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำสุด 51% ไม่ได้เตรียมตัวเลย ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้วผลกระทบจะตกอยู่ที่คนกลุ่มใดมากที่สุด
“ระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิของประเทศไทยสูงขึ้นประมาณ 1 องศา ปัญหาสำคัญไม่เฉพาะความรู้สึกของคนในเมืองที่รู้สึกว่าร้อน แต่มีผลกระทบต่อพืชด้วย มีข้อมูลของศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศฯ ที่ระบุว่า แนวโน้มอุณหภูมิของจังหวัดกาญจนบุรี ในหน้าร้อนจะสูงขึ้นอีก 2 องศา และอีก 13 ปี ข้างหน้าอุณหภูมิจะพุ่งสูงเกินกว่า 46 องศา” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร กล่าว และว่า นี่คือสิ่งที่ต้องเผชิญต่อไปในอนาคต เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศา หรือมากกว่า ซึ่งยังมีการคาดการณ์ว่า ในบริเวณที่เป็นละติจูดสูงๆ จะมีผลประโยชน์ด้านการเกษตรเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับเมืองไทยเขตร้อนจะมีผลผลิตทางการเกษตรลดลง 15-25%
ดร.เดชรัต กล่าวต่อว่า ปี 2555 มีข้อมูลที่น่าสนใจ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ผลผลิตอ้อยไม่หวาน เนื่องจากฤดูหนาวอุณหภูมิไม่ต่ำ พืชจึงไม่สร้างน้ำตาล นี่คือเรื่องใกล้ตัวแต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญ รวมถึงไม่มีคำเตือนเรื่องนี้ออกมาเลย หากอุณหภูมิไม่หนาว เกษตรกรต้องเตรียมตัวอย่างไร เมื่อเกษตรกรได้ค่า C.C.S. (ปริมาณของน้ำตาลที่มีอยู่ในอ้อย) ต่ำกว่า 10 เราจะได้ยินข่าวการประท้วงในหลายพื้นที่
ส่วน "ข้าว" สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ที่ฟิลิปปินส์ ได้ออกรายงานเตือนเมื่อปี 2555 ว่า ในช่วงที่ต้นข้าวออกรวง หากอุณหภูมิเวลากลางวันสูงกว่า 35 องศา เป็นเวลา 10 วัน ข้าวจะเกิดภาวะเครียดจนทำให้ผลผลิตลด 20-30 % เช่นเดียวกันกับ เวลากลางคืน ข้าวก็ต้องการอุณหภูมิที่ต่ำด้วยเช่นกัน หากกลางคืนมีอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศา เป็นเวลา 15 วันติดกันในช่วงนี้ ผลผลิตข้าวก็จะเสียหายได้ด้วย
ไม่ต่างกันกับ "ลิ้นจี่" ดร.เดชรัต กล่าวถึงผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศว่า ลิ้นจี่เป็นพืชที่ต้องการอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศา ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ถึงจะมีการออกดอกอ่อน เราจะเห็นว่า จำนวนวันที่จะมีอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาลดลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคิดต่อว่า จะทำกันอย่างไร รวมถึงลำไย ก็จะมีผลกระทบคล้ายๆ กันเกิดขึ้น
สำหรับการปรับตัวของเกษตรกรรายย่อยนั้น นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร กล่าวด้วยว่า ต้องดำเนินการใน 4 ขั้น คือ 1. วิเคราะห์ความเสี่ยง ดูใครเป็นกลุ่มที่เปราะบาง เกิดช่วงเวลาไหน 2.ลดความเสี่ยงลงให้ได้ เช่น ปรับระบบนา จัดการน้ำ ดิน และปรับปรุงพันธุ์ 3. กระจายความเสี่ยง แทนปลูกพืชชนิดเดียว จำเป็นต้องกระจายไปสู่หลายๆ แหล่ง โดยมีตลอดรองรับ และ 4.การจัดการความเสี่ยง ด้วยกระบวนการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข มีระบบประกันภัยพืชผลเกษตรกร เป็นต้น