เชื่อน้ำมันรั่วไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ‘นักวิชาการ’ จี้ ปตท.พูดความจริง วางแผนรองรับ
นักวิชาการจี้ ปตท.พูดความจริงใช้สารเคมี กรณีน้ำมันรั่ว ชี้มีผลกระทบระยะยาวต่อระบบนิเวศน์ ย้ำใช้เวลาฟื้นตัวนาน ไม่ใช่ 2 วันจบ เชื่อน้ำมันรั่วไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หนุนมีเจ้าภาพวางแผนรับมือในอนาคต ด้านชาวบ้านในพื้นที่ห่วงสัตว์น้ำมีสารตกค้าง ขอให้ตรวจสอบ อย่าโกหก
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ศูนย์ศึกษาวิภาวดี ม.รังสิต ร่วมกับ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia) สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (GSEI) วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ม.รังสิต สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร ม.รังสิต จัดเวทีสาธารณะ "คำถามที่ ปตท.ต้องตอบ... ก่อนที่ความจริงจะหายไปพร้อมกับคราบน้ำมัน"
โดยมีมล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร ม.รังสิต ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้เชี่ยวชาญนิเวศวิทยาแนวปะการัง คณะวิทยาศาสตร์ ม.รามคำแหง รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผอ.สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาฯ และนายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย และตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ผู้ได้รบผลกระทบ นางดุจหทัย นาวาพานิช ตัวแทนผู้ประกอบการรีสอร์ทบนเกาะเสม็ด และนายวีรศักดิ์ คงณรงค์ ตัวแทนสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง ร่วมให้ข้อมูล
จี้พูดความจริงเรื่องใช้สารเคมี ชี้กระทบระยะยาว
มล.กรกสิวัฒน์ กล่าวถึงการเก็บกู้คราบน้ำมันว่า วิธีการที่ใช้มีความสำคัญ สำหรับการเก็บกู้คราบน้ำมันของปตท.จะให้เห็นได้ว่า การใช้ทุ่นดักล้อมวงน้ำมันที่เห็นในภาพข่าว ไม่ได้เป็นไปเพื่อการเก็บกู้ แต่เป็นการกั้นเพื่อฉีดพ่นสารเคมี ซลิกกอน (Slickgone NS) ตามการขออนุญาตใช้สารเคมีจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เพียง 5,000 ลิตร แต่รายงานจากกระทรวงทรัพย์ฯ ไปยังเลขาครม.วันแรกได้ใช้ไปแล้ว 32,000 ลิตร และยังมีใช้หลังจากรายงาน ดังนั้น จึงมีความเคลือบแคลงใจถึงปริมาณการใช้ และตัวเลขข้อเท็จจริงที่ยังไม่เปิดเผย
"การใช้สารเคมีในปริมาณมาก ขณะที่ท้องทะเลมีความลึกไม่เกิน 20 เมตร ในทางวิชาการมีผลอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้ต้องเปิดเผย เพื่อให้สามารถประเมินผลกระทบและความเสียหายที่แท้จริงได้ รวมถึงการที่ รมว.พลังงาน ออกมาพูดว่าภายใน 2 วันทุกอย่างจะเสร็จสิ้นนั้น จากรายงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องภาวะน้ำมันรั่ว มีสารเคมีหลัก 2 ตัว ตัวแรกเป็นสารตึงผิวต้องใช้เวลา 28 วัน จึงจะสลายไปเพียง 60-70 % ตัวที่สองใช้เวลา 50 วัน หมดไป 50-80% ดังนั้น ระยะเวลา 2 วันจึงเป็นไปไม่ได้ ที่สำคัญเรื่องจำนวนวันมีผลอย่างมากต่อปะการัง จากงานวิจัยอิสราเอล เรื่องผละกระทบระยะสั้นและระยะยาว ความเป็นพิษของน้ำมันและสารกำจัดคราบน้ำมันต่อปะการัง ระบุว่าปะการังมีความอ่อนไหวจากคราบน้ำมันและสารเคมีที่ย่อยสลายโดยตรง" มล.กรกสิวัฒน์ กล่าว และว่า เมื่อทดลองให้ปะการังสัมผัสน้ำที่ปนเปื้อนน้ำมันและสารเคมีเป็นเวลา 24 ชั่วโมง หลังจากนั้น 7 วัน ปะการังตายทั้งหมด ต่อให้ลดความเจือจางลงเหลือ 25% ก็มีรอดน้อยมาก
"การใช้สารเคมีเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในวิธีการที่แย่ที่สุด เพราะการใช้สารเคมีควรเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะเลือกใช้ในการเก็บกู้คราบน้ำมันทางทะเล ปะการังหากสัมผัสน้ำมันดิบ มีอัตรารอดสูงกว่าเมื่อสัมผัสสารเคมีด้วย การเกิดปะการังฟอกขาวในขณะนี้จึงหาคำตอบได้ไม่ยากว่าเพราะอะไร ดังนั้น ใครก็ตามที่ออกมาพูดว่าสารเคมีไม่อันตราย ขอให้มาจากการทดลอง ไม่ใช่อ่านจากฉลาก เพราะฉลากมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพิ่มอันตรายอยู่ตลอดเวลา"
ขณะที่ ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวถึงการติดตามตรวจสอบผลกระทบระยะยาวว่าต้องครอบคลุมสิ่งมีชีวิตทั้งระบบนิเวศน์ ได้แก่ ระบบนิเวศป่าชายเลน แนวปะการัง หญ้าทะเล หาดหิน หาดทราย หาดโคลน นกในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง สัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าทะเล พะยูน โลมา วาฬ สัตว์ทะเลหน้าดิน และแพลงก์ตอน เพราะกรณีดังกล่าว ใช้สารเคมีในปริมาณที่สูง การที่ ปตท.ระบุว่าไม่เป็นอันตรายคงไม่ได้ ฉะนั้น ปตท.ควรเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริง เพื่อลดความเคลือบแคลงใจในสังคม รวมถึงได้สามารถวางแผนรับกับผลกระทบได้ดีที่สุด
"การฟื้นตัวของระบบนิเวศน์มีความเชื่อมโยงกันแต่ใช้ระยะเวลาแตกต่างกัน อย่าง แพลงก์ตอน ใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน หาดทรายใช้เวลา 1-2 ปี หาดหินใช้เวลา 1-3 ปี และป่าชายเลน ต้องใช้เวลา 10 ปีหรือมากกว่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นสมบัติของแผ่นดินที่ต้องประเมินผลกระทบให้รอบด้าน ที่สำคัญยังเป็นรากฐานของเศรษฐกิจทั้งประเทศด้วย"
เชื่อน้ำมันรั่วไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หนุนมีเจ้าภาพวางแผนรับมือ
รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวถึงผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลจากทรัพยากรมีชีวิต ทั้งจากการประมง การเพาะเลี้ยง จากระบบนิเวศ รวมถึงทรัพยากรไม่มีชีวิต เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ และพลังงานอื่นๆ ว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 7.5 ล้านล้านบาท แต่ในจำนวนนี้ตกอยู่ในมือคนไทยไม่ถึง 30% แต่ที่ได้รับเต็มๆ คือผลกระทบ
อย่างกิจกรรมอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในทะเลว่า รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ บอกว่า มีความสำคัญในแง่ทำให้มูลค่าผลประโยชน์ชาติทางทะเลเพิ่มสูงขึ้นมาตลอด การขนส่งน้ำมันทางทะเลมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นตามความต้องการพลังงาน ซึ่งการรั่วไหลของน้ำมันในทะเลเนื่องมาจากกิจกรรมการขนส่งทางทะเลก็เป็นอุบัติเหตุทางทะเลแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นได้ แม้จะมีมาตรการป้องกันต่างๆ เป็นอย่างดีแล้วก็ตาม
ดังนั้น การจะลดความเสี่ยงจะต้องลดความสับสน และทำข้อมูลข่าวสารด้านต่างๆ ให้ชัดแจ้ง เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเชื่อว่าปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันในทะเลครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายและมีโอกาสที่จะเกิดความเสียหายได้มากหรือน้อยกว่าในครั้งนี้
"ทุกภาคส่วนในสังคมไทยต้องถามตัวเองว่าจะป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพได้อย่างไรโดยใช้เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญ รวมถึงตั้งคำถามต่อความสำคัญและความจำเป็นในการมีข้อมูล องค์ความรู้ ผู้รู้และ องค์กรเจ้าภาพ โดยควรมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องนี้"
ชุมชน-ผู้เดือดร้อน ร้องได้รับการเยียวยาไม่ทั่วถึง
ด้านตัวแทนผู้ประกอบการรีสอร์ทบนเกาะเสม็ด นางดุจหทัย บอกว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ กระทั่งปัจจุบัน ได้รับคำว่า 'เสียใจ' และ 'ขอโทษ' มาตลอด แต่ไม่มีแผนอะไรมารองรับหลังจากนั้นเลย มีแต่บอกว่า...จะไปเสนอผู้บริหาร
"เมื่อเร็วๆ นี้มีการตั้งคณะกรรมการเยียวยา แต่ให้โควต้าตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมเพียง 1 คน ซึ่งในการประชุมใช้การโหวตลงคะแนน เสียงของชาวบ้านจึงไม่มีประโยชน์ใดๆ สำหรับการช่วยเหลือเยียวยา ทางบริษัทได้มีแบบคำร้องขอรับการช่วยเหลือมาให้กรอก ทั้งๆ ที่เราอยู่เฉยๆ ต้องมากรอกแบบฟอร์ม 'ขอรับ' ความช่วยเหลือ อีกทั้ง ยังระบุข้อความแนบท้ายว่า หากการให้ข้อมูลไม่เป็นความจริง จะสามารถดำเนินคดีได้ทันที นี่ไม่ใช่ภัยธรรมชาติ อย่างไรบริษัทก็ต้องรับผิดชอบ ชาวบ้านจึงไม่เห็นด้วยกับแบบคำร้องนี้" นางดุจหทัย บอกด้วยว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์นักท่องเที่ยวยกเลิกการจองรีสอร์ต จนแทบไม่มีแขกเข้ามาพักเลย ในพื้นที่ขณะนี้ค่อนข้างเงียบ
สำหรับกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็ก นายวีรศักดิ์ เล่าถึงการเยียวยาในพื้นที่ว่ายังไม่ทั่วถึง กลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือส่วนมากเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ประกอบอาชีพประมงโดยตรง เช่น พ่อค้าแม่ค้า หาบเร่ขายของ ขณะที่ชาวประมงที่ใช้เรือในการทำมาหากินกลับยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างทั่วถึง
นายวีรศักดิ์ และกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ตลอดแนวหาดที่ได้รับผลกระทบได้รวมตัวและออกเก็บตัวอย่างทราย รวมถึงก้อนน้ำมันที่ถูกพัดมาติดหากแม่รำพึง ไปจนถึงแหลมแม่พิมพ์ เข้าเขตปากคลองแกลง ซึ่งพบว่ายังมีในทุกวัน กระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ส.ค.นี้ ก็ยังพบ
"ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มั่นใจ และเชื่อว่ามีความเสี่ยงที่สัตว์น้ำจะมีพิษสะสม มีสารเคมีตกค้าง เพราะล่าสุดชาวบ้าน 4-5 คน ที่รับประทานปลา กุ้งและปลาหมึกก็เกิดผื่นคัน และท้องเสียทุกคน ขณะที่สื่อก็ให้ข้อมูลว่าไม่มีผลกระทบแล้ว ที่เคยให้สัมภาษณ์ไปบ้างก็ไม่ตรงตามที่พูดทั้งหมด จึงอยากให้สื่อ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และต้องรับผิดชอบบอกข้อมูลที่แท้จริงแก่ประชาชน อย่าโกหก เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายที่หนักกว่าในภายหลัง"