แชท แชร์ แฉ นักวิชาการชี้ ความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ได้ตายไปแล้ว
เครือข่ายพลเมืองเน็ต รายงานความก้าวหน้างานวิจัย: คน อินเทอร์เน็ต และความเป็นส่วนตัว ผลสำรวจชี้ข้อมูลส่วนบุคคลเกลื่อนเว็บ นโยบายคุ้มครองด้านข้อมูลผู้ใช้บริการไม่มี ด้านคณะบดีคณะนิติฯ ม.เซนต์จอห์น แนะแก้กม.คอมพิวเตอร์ 2550 หลังพบช่องโหว่มากมาย
วันที่ 21 สิงหาคม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต จัดสัมมนารายงานความก้าวหน้างานวิจัย: คน อินเทอร์เน็ต และความเป็นส่วนตัว ณ ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
น.ส.ธิติมา อุรพีพัฒนพงศ์ นักวิจัยโครงการสิทธิความเป็นส่วนตัวออนไลน์ เครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ในการทำความเข้าใจสิทธิความเป็นส่วนตัวออนไลน์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น งานวิจัยได้เริ่มหาคำตอบว่า การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวออนไลน์ที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยมีลักษณะอย่างไร เช่น รูปแบบผลกระทบและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของการทำความเข้าใจความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ โดยเริ่มจากการสำรวจสถานการณ์การละเมิดความเป็นส่วนตัวออนไลน์ในสังคมไทยตั้งแต่พ.ศ. 2556 เป็นต้นมา
จากการสำรวจพบว่า สถานการณ์ส่วนหนึ่งของการละเมิดความเป็นส่วนตัวในอินเทอร์เน็ตได้สะท้อนถึงภาพรวมของกระบวนการไหลเวียนของข้อมูลส่วนตัว ซึ่งเป็นข้อมูลที่บ่งชี้ตัวบุคคลได้ เช่น ชื่อ นามสกุล อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ เลขบัญชีธนาคาร ภาพถ่าย กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของอินเทอร์ เน็ต ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบธุรกิจ เว็บไซต์เครือข่ายสังคม ผู้ควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลเหล่านี้มีทั้งผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการด้วยกันเอง
ทั้งนี้ ในการวิจัยยังได้ทดลองใช้บริการในเว็บไซต์ต่างๆ ของไทย พบว่า ในขั้นตอนหลังจากการกรอกรายละเอียดเป็นสมาชิกเว็บไซต์ด้วยการใส่ชื่อข้อมูลการศึกษาและที่อยู่ไปแล้ว นโยบายในการคุ้มครองด้านข้อมูลต่อตัวผู้ใช้บริการไม่มี ซึ่งอาจจะทำให้ข้อมูลถูกเปิดเผย
แม้แต่เว็บไซต์ของภาครัฐเองก็ยังไม่มีนโยบายในการคุ้มครองข้อมูลที่ชัดเจน เปรียบเสมือนหากยินยอมเป็นสมาชิกเว็บใดก็ตามเท่ากับเราจะสูญเสียข้อมูลส่วนบุคคลไปด้วย เช่น กรณีที่ธนาคารแห่งหนึ่งนำข้อมูลลูกค้าเปิดเผยกับบริษัทประกันชีวิตที่ถูกร้องเรียนผ่านสังคมออนไลน์อย่างเว็บไซต์ Pantip.com จึงเป็นที่สงสัยว่าเมื่อกรอกข้อมูลไปแล้วเรายังเป็นเจ้าของข้อมูลนั้นหรือไม่
ด้าน ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะสังคมออนไลน์ในไทย ต้องเข้าใจคำว่า ส่วนตัวกับสาธารณะเป็นอย่างไร สังคมไทยเป็นสังคมที่คาดหวังกับคนสาธารณะว่า ต้องเป็นบุคคลที่ถูกเปิดเผย ถูกตรวจสอบตลอดเวลา ฉะนั้น ระเบียบสังคมของความเป็นส่วนตัว หรือบรรทัดฐานคืออะไร เราใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสิน
"สังคมทุกวันนี้มีความซับซ้อนมาก บางทีตัวผู้ใช้ก็ยังสับสนในตัวเอง อีกทั้งระดับของความเป็นส่วนตัวไม่ได้อยู่เฉพาะที่ตัวปัจเจกบุคคล แต่ต้องนึกถึงเรื่องสิทธิด้วย ในบางครั้งก็เกิดเป็นคำถามว่า ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตคิดถึงความเป็นสาธารณะมากกว่าความเป็นส่วนตัวหรือไม่"
ขณะที่ ผศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น กล่าวถึงพฤติกรรมของคนใช้อินเตอร์เน็ต คือ อยากมีความเป็นส่วนตัว แต่ก็อยากแชร์ทุกอย่างบนโลกใบนี้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ขัดแย้งในตัวเอง หรือเรียกสั้นๆว่า มีมุมมองในการ แชท แชร์ แฉ ต่อสังคม ซึ่งหากมองไปในเรื่องกฎหมายว่าด้วยเรื่องระเบียบการคุ้มครองผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในโลกออนไลน์ในไทยก็ไม่ครอบคลุม เนื่องจากกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตตั้งอยู่บนความสับสนและซับซ้อน และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าหลายอย่าง ตั้งแต่ขั้นตอนของตัวเนื้อหา ไม่มีกฎหมายในการนำมาใช้ จึงมีความพยายามนำกฎหมายที่มีอยู่มาปรับใช้ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่ก็พบว่า มีช่องโหว่หลายอย่าง เนื่องจากเราพยายามหยิบโมเดลของสหรัฐอเมริกามาใช้ แล้วเอามาผสมรวมกันกลายเป็น "ขนมรวมมิตร" ที่ทำแล้วก็มีปัญหา ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องแก้ไข
คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.เซนต์จอห์น กล่าวต่อว่า บางครั้งตัวผู้ใช้เองก็ควรที่จะคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของตนเองด้วย เช่น มีหลายเว็บแจกของฟรี หรือมีการแจกคูปองส่วนลดด้วยการให้ลงทะเบียน ผู้ใช้ก็เสียสละข้อมูลความเป็นส่วนตัวกรอกรายละเอียดและยินยอมเป็นผู้ให้ข้อมูลเอง เป็นต้น
สุดท้าย ดร.นคร เสรีรักษ์ ที่ปรึกษานโยบาย เครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามที่จะแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ให้ทันสมัยและคุ้มครองสิทธิของคนใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งพยายามมาหลายปี และมีความเป็นไปได้ แต่ในความเป็นไปได้ก็อาจจะเป็นไปไม่ได้ว่า พ.ร.บ.นี้จะเสร็จเมื่อไรจะผ่านหรือไม่ เพราะยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่จ่อคิวรอการพิจารณาจากสภาทั้งนิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สำหรับโลกสังคมออนไลน์ในยุคนี้ ดร.นคร กล่าวด้วยว่า ไม่มีความเป็นส่วนตัวอีกแล้ว บางทีข้อมูลถูกนำเอาไปใช้โดยที่เจ้าของข้อมูลไม่รู้ตัว หรือเรียกกันง่ายๆว่าความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ได้ตายไปแล้ว