ชัยยุทธ สุขศรี : คำถามที่ รบ.ต้องตอบ หลัก ธรรมาภิบาล วัดโครงการน้ำ 3 แสนล้าน
(ภาพประกอบจาก thaipublica)
เมื่อวันที่ 20 ส.ค. รศ.ดร.ชัยยุทธ สุขศรี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่อง "โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน จะสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวได้เพียงใด" ในเวทีสัมมนา "จากบางระกำ ผ่านบางบาล ถึงนครปฐม: ประชาชนอยู่ไหน?" ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.ชัยยุทธ ได้ตั้งคำถามในเบื้องต้นถึงเรื่องน้ำท่วม การที่รัฐบาล หรือหลายฝ่ายต่างก็ใช้คำว่า 'ป้องกัน' หรือแม้กระทั่งการมองว่า น้ำท่วมเป็น 'ปัญหา' นั้น ก็ไม่แน่ใจว่า ชาวบ้านในพื้นที่มองเช่นนั้นหรือไม่ เพราะจากที่ติดตามรับฟังความเห็นชาวบ้านตั้งแต่บางระกำ บางบาล กระทั่งถึงนครปฐม ต่างก็มองเป็น 'วิถีชีวิต' ที่ธรรมชาตินำธาตุอาหารมาให้โดยไม่ต้องลงทุน ดังนั้น การป้องกันปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวจะเหมาะสมหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามกลับกับสิ่งที่ภาครัฐกำลังทำ
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัว วิศวกรด้านแหล่งน้ำท่านนี้ เห็นว่า ปัญหาที่พบมากในปัจจุบัน คือมีเวทีที่จัดเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำที่ 'ต่างคนต่างมอง' ตั้งคำถามมากมายจากข้อมูลที่พยายามหากันเอง ไม่รู้ และเข้าไม่ถึงข้อมูลของภาครัฐ
รวมถึงไม่เชิญตัวแทนภาครัฐมาร่วมให้ข้อมูล หรือเชิญก็ถูกปฏิเสธอยู่เสมอๆ สถานการณ์เช่นนี้ เขาเปรียบเสมือนการตะโกนขว้างของใส่กัน แต่ไม่ได้อะไรต่อ....
ในปัจจุบันคำว่า 'ป้องกันน้ำท่วม (Flood Control)' ในทางวิชาการ รศ.ดร.ชัยยุทธ บอกว่า ตำราได้ลบคำนี้ทิ้งไปแล้ว เพราะนัยยะของคำให้ความรู้สึก ความเข้าใจที่ผิดต่อสังคมเกี่ยวกับสภาวะธรรมชาติของพื้นที่
"ตามธรรมชาติแล้วหลายพื้นที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงน้ำท่วมได้ เพราะเป็นที่ต่ำ เป็นการขึ้นลงของน้ำตามธรรมชาติ ที่ต้องปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับสภาวะที่เกิดขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดในบางพื้นที่ จึงมีวิธีการบริหารจัการน้ำท่วม 2 รูปแบบ ได้แก่
1.ใช้โครงสร้าง (Structural Control) เช่น สร้างเขื่อน ฝาย คลองระบายน้ำ ฟลัดเวย์ ทำนบ หรือพนังกั้นน้ำ ซึ่งคำว่า ควบคุม ก็ไม่น่าเป็นไปได้ และไม่มีความเหมาะสม
2.ไม่ใช้โครงสร้าง (Non-Structural Control) ที่เป็นการปรับสภาพการใช้ชีวิตด้านต่างๆ ซึ่งหลายพื้นที่รู้จักและปรับมานาน เป็นวิถีชีวิต แต่สำหรับคนที่เพิ่งเข้าไปอยู่ เช่น เข้าไปซื้อบ้านที่ อ.บางบัวทอง จะปรับตัวอย่างไร นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่ภาครัฐ ในฐานะที่อาจจะช่วยได้บ้างยังไม่ได้พูดถึง"
ในหลายประเทศใช้คำว่า 'Flood Proofing' ที่เป็นการปรับวิถีชีวิต ปรับโครงสร้างให้สามารถรับน้ำ อยู่กับน้ำได้โดยไม่เกิดความเสียหายมากนัก แต่วิถีชีวิตอาจหยุดชั่วขณะ แต่ไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ที่น้ำท่วมเป็นประจำ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าถูกนำมาใช้วางแผนในทิศทางนี้ ไม่ใช่การควบคุมเสียทีเดียว
ขณะที่ประเทศไทยที่รัฐบาลมักพูดถึง 'การป้องกัน' และมองว่าเป็น 'ปัญหา' แต่ไม่เคยถามประชาชนเลยว่า มองเป็นปัญหา หรือสภาพ!!
กระบวนการ วิธีป้องกันน้ำท่วม รศ.ดร.ชัยยุทธ ระบุว่า จึงต้องเหมาะกับเวลา และสภาพพื้นที่ คงไม่สามารถใช้วิธีการใดมาป้องกัน หรือควบคุมน้ำท่วมได้เหมือนกันทุกพื้นที่
ส่วนที่กำลังดำเนินการผ่านขั้นตอนตามลำดับอยู่นั้น จะป้องกันน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืนหรือไม่นั้น เขามองว่า ข้อมูลของภาครัฐเองก็ยังไม่มีส่วนที่ตอบคำถามว่าระบบนิเวศน์ วิถีชีวิต สำหรับคนที่ต้องการอยู่กับน้ำหากต้องถูกเปลี่ยนแปลงในระยะยาวจะมีวิธีการดูแลอย่างไร
พร้อมชี้ให้เห็นจุดอ่อน โครงการบริหารจัดการทั้ง 9 โมดูล ซึ่งยังพูดลอยๆ ไม่ละเอียด ปัญหาระยะยาวมีประเด็นสำคัญซ่อนอยู่ ได้แก่
ความไม่แน่นอน (Uncertainty) และความเสี่ยง (Risk) ของสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
"อะไรที่ทำไว้วันนี้ 10-50 ปีข้างหน้าก็ต้องเปลี่ยนแปลง ฝนต้องเปลี่ยนแปลง น้ำหลากต้องเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น 9 โมดูลโครงการที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนเดินหน้าอยู่ เป็นระบบที่มีความยืดหยุ่น หรือออกแบบรองรับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติหรือไม่ หากไม่มีจะเป็นความเสี่ยงประการหนึ่ง เพราะในโมดูลเขียนเรื่องนี้ไว้กว้างมาก และไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรบ้างเพื่อลดความเสี่ยง
ที่สำคัญประการแรกๆ ผมว่า... การเริ่มต้นโดยใช้ปริมาณน้ำท่วมสูงสุด เมื่อปี 2554 เป็นตัวตั้งในการออกแบบ วางระบบโครงการบริหารจัดการน้ำระยะยาว หลักคิดนี้ถูกหรือไม่ในทางทฤษฎี ตัวเลขของปี 2554 เป็นตัวเลขสูงสุดจริงหรือไม่?"
จากข้อมูลของกรมชลประทาน ชี้ให้เห็นว่า น้ำท่วมในปี 2554 ไม่ใช่ปริมาณสูงสุด แต่ที่มีความเสียหายมาก เนื่องจากมีการรุกเข้าพื้นที่รับน้ำแต่เดิมค่อนข้างมาก จึงน่าตั้งคำถามกลับแก่รัฐบาลว่า... สิ่งที่ทำอยู่นี้ถูกต้องแล้วหรือไม่ เป็นระบบที่ดูแล และรองรับความไม่แน่นอน ความเสี่ยงได้จริงหรือไม่
เกณฑ์ที่ผมคิดว่าสังคมจะสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ ประเมินหรือตั้งคำถามให้ภาครัฐตอบถึง 'โครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล' นั่นคือเกณฑ์ที่รัฐบาลเขียนไว้เอง ได้แก่ 'หลักธรรมาภิบาล' ที่ดีในการบริหารจัดการ 6 ประการ ได้แก่ 1.หลักนิติธรรม 2.หลักความโปร่งใส 3.หลักการมีส่วนร่วม 4.หลักความรับผิดชอบตรวจสอบได้ 5.หลักความคุ้มค่า 6.หลักคุณธรรม
ยกตัวอย่าง หลักนิติธรรมรัฐบาลได้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบอย่างเคร่งครัด ไม่เลือกปฏิบัติหรือไม่... จะพบว่า ยังมีเสียงสะท้อนจากพื้นที่ที่ถูกปิดล้อม แนวฟลัดเวย์ ซึ่งประเทศที่พัฒนาเรื่องพื้นที่ปิดล้อมอย่างเนเธอร์แลนด์ก็เขียนระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นวิธีการที่ค่อนข้างเห็นแก่ตัว แต่ก็มีข้อตกลงระหว่างผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย รัฐจะเข้าไปจัดการว่าจะประสาน เชื่อมต่อ แบ่งน้ำกันอย่างไร ช่วยกันชะลอน้ำลงทะเลอย่างไร
หมายความว่า มีอะไรต้องทำต่อมากกว่าปิดล้อมพื้นที่แล้วสูบน้ำ!!
"เรายังไม่มีการพูดถึงวิธีบริหารจัดการหลังจากปิดล้อมพื้นที่ ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ปล่อยให้เป็นปัญหาให้ภาคประชาชนนั่งคิดเอง การขีดเส้นพื้นที่เช่นนี้เคารพในสิทธิประชาชนหรือไม่"
นี่ยังไม่ต้องพูดถึงหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดูแลอยู่แล้ว ดังนั้น หากนำหลัก 6 ประการมาจับจะเห็นได้ว่า 9 โมดูล ในโครงการบริหารจัดการน้ำถูกตั้งคำถามมาก โดยเฉพาะความรับผิดชอบ ตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน นับเป็นจุดอ่อนอย่างมาก
คนที่รับผลกระทบกลับต้องเรียกร้องขอมีส่วนร่วมเอง นี่เป็นประเด็นที่น่าหยิบยกกลับไปถามภาครัฐ เมื่อมีการจัดรับฟังความคิดเห็น
"ผมเปิดเว็บเว็บไซต์การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลมาตลอด ข้อมูลเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมยังไม่ปรากฏ รวมถึงไม่ได้ระบุสาเหตุหรือการบริหารจัดการน้ำในปี 2554 ว่าเกิดอะไรขึ้น"
แต่ในเว็บไซต์ (www.waterforthai.go.th) มีการระบุข้อความว่า
"อุกทกภัยในปี พ.ศ.2554 ไม่ใช่เกิดจากสภาพอากศที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีเท่านั้น แต่ยังมี ปัจจัยภายในประเทศ อีกหลายปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจัยเหล่านั้น เกิดและสะสมมาตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาล นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ"
"ผมไม่เข้าใจว่าจะระบุข้อความเช่นนี้ขึ้นเว็บไซต์ไว้เพื่ออะไร" วิศวกรด้านแหล่งน้ำ นำเสนอมุมมอง และว่า ขณะที่มีผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มากว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการบริหารจัดการไม่ดี และรัฐบาลไม่เคยเปิดเผยว่า ในปี 2554 กระบวนการบริหารจัดการน้ำเป็นเช่นไร เพราะในปี 2549 มีรายงานการศึกษากระบวนการตรวจสอบแต่ละช่วงเวลาน้ำไปที่ไหนอย่างไร ถูกแบ่งอย่างไร รายงานนี้ทำโดยกรมชลประทาน
"ผมเชื่อว่าสังคมอยากรู้ว่า ปี 2554 การบริหารจัดการที่ผิดพลาด เกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร จะได้เรียนรู้ เชื่อว่า ชุมชนก็มีส่วนที่แก้ไข หากมองระยะยาวต้องใจกว้างพอที่จะมองปัญหาที่เกิดขึ้น เรียนรู้ในแง่วิชาการด้วย เราปล่อยให้ภาครัฐมาบริหารจัดการ ทำบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ (Single Command) เบ็ดเสร็จในทางปฏิบัติทำไม่ได้ เพราะต้องเตรียมตัวตั้งแต่ต้นฤดูกาล"
คำถามสุดท้าย ทางเลือกที่เรากำลังพูดถึงอยู่ขณะนี้ เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด หรือทางเลือกที่เลวน้อยที่สุด
รศ.ดร.ชัยยุทธ คิดว่า... คงต้องเป็นทางเลือกที่เลวน้อยที่สุด เพราะทางเลือกที่ดีที่สุด ไม่มีแล้ว เพราะเราเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนธรรมชาติไปหมดแล้ว รวมถึงมีรัฐบาลแบบนี้ด้วย !!
"จริงๆ แล้ว เป็นเช่นนี้ทุกรัฐบาล จะหวังพึ่งรัฐบาลทั้งหมด คงได้แค่บางส่วน ทุกคนต้องเรียนรู้ ปรับวิถีชีวิตและหาทางเลือกที่เลวน้อยที่สุด ที่เราจะมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ได้"