กรมควบคุมมลพิษเตรียมฟ้องบริษัทเรือน้ำตาลล่ม ระบุคดีเดิม 4 ปียังไม่จบความ
ชี้เจ้าพระยาคลี่คลายสู่ภาวะปกติแล้ว 9 มิ.ย.นัดถกหน่วยงานฟ้องค่าเสียแพ่งเป็นคดีสิ่งแวดล้อมในนามรัฐ แต่ความเดือดร้อนส่วนตัว ชาวบ้านต้องฟ้องเอง ระบุคดีเก่าปี 50 แบบเดียวกันเยื้อมา 4 ปียังไม่จบความ
วันที่ 6 มิ.ย.54 นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยความคืบหน้ากรณีเรือน้ำตาลทรายแดงล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ว่าในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ คพ.เตรียมเชิญผู้ว่าราชการทั้ง 5 จังหวัดคือพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กทม.และสมุทรปราการ กรมประมง กรม เจ้าท่า ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อดำเนินการทางกฎหมายที่จะฟ้องร้องกับบริษัทเจ้าของเรือบรรทุกน้ำตาล ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม มาตรา 96 และ 97 ซึ่งจะฟ้องค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อม
โดยประเมินความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำเจ้าพระยา
“โดยการใช้มาตรการทางกฎหมายแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.ความเสียหายกับบุคคล ตัวบุคคลต้องดำเนินการตามกฎหมายเอง เช่น เจ้าของกระชังปลา และ 2.ความเสียทางทรัพยากรและค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษ ซึ่งมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง การฟ้องร้องอาจจะมอบหมายให้ คพ.เป็นผู้แทนหน่วยงานรัฐในการฟ้องร้องแบบเดียวกับกรณีเรือน้ำตาลล่มปี 2550 ที่ได้ยื่นฟ้องค่าเสียหายผ่านทางอัยการรวม 41 ล้านบาท หรืออาจเข้าสู่การพิจารณาของศาลแพ่งในคดีสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปวันที่ 9 มิ.ย.นี้”
อธิบดี คพ. กล่าวว่ากรณีเรือน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งนี้ถือเป็นรอบที่สอง โดยครั้งแรกเมื่อเดือนมี.ค.2550 ซึ่งมีน้ำตาลที่ไหลลงแม่น้ำถึง 650 ตัน จากการที่เจ้าของบริษัทถ่ายน้ำตาลที่จมทิ้งในแม่นำจนมีปลาในกระชังของชาวบ้านในเขตพื้นที่อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานีได้รับความเสียหายมาก ซึ่งการฟ้องร้องโดยใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม ทาง คพ.ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานรัฐให้เป็นโจทย์ฟ้องร้องเจ้าของบริษัทน้ำตาล 41 ล้านบาทและเพิ่งเดินทางไปให้ปากคำในพยานโจทย์สุดท้ายเมื่อ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมาและคดีดังกล่าวยังไม่สิ้นสุดทั้งที่ผ่านมา 4 ปีแล้ว
“สำหรับการกู้เรือน้ำตาลที่จมลงนั้น เนื่องจากหลายวันที่ผ่านมากระแสน้ำเจ้าพระยาค่อนข้างเชี่ยว และไหลแรงมาก ทำให้ไม่สามารถกู้ขึ้นมาได้ แต่หลังจากนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรี ทส.ได้ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.นี้ มีประสานกับทางกรมชลประทานขอให้ลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาลงเหลือเพียง 400-500 ลบ.ม.ต่อวินาที จากเดิมที่ปล่อยน้ำสูงถึง 900 ลบ.ม.ต่อวัน ล่าสุดกระแสน้ำเพิ่งลดระดับลงจนทีมนักประดาน้ำเตรียมวางแผนลงไปอุดรอยรั่วบริเวณหัวเรือน้ำตาลที่จมลงได้แล้ว อีกทั้งจากผลการตรวจวิเคราะห์น้ำจากเรือที่จมอยู่ก็ไม่พบว่ามีน้ำตาลผสมอยู่แล้ว ซึ่งเท่ากับว่าจะไม่มีน้ำตาลละลายลงในน้ำและเกิดปัญหาได้อีก แต่ก็จะใช้สารสกัดชีวภาพ (อีเอ็ม) ช่วยย่อยน้ำตาลที่หลงเหลือด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีน้ำตาลหลงเหลือในเรืออยู่อีก เพราะถ้ามีจะทำให้เกิดปัญหาได้” นายสุพัฒน์ ระบุ
นายสุพัฒน์ กล่าวอีกว่านอกจากนี้ทาง ทส.จะสรุปสถานการณ์เสนอ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมทั้งรายงานว่าคุณภาพน้ำเจ้าพระยาได้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว ซึ่งล่าสุดช่วงบ่ายวันที่ 6 มิ.ย.นี้ มวลน้ำได้เคลื่อนผ่านพ้น จ.นครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กทม.และอยู่บริเวณสะพานกรุงเทพ ก่อนจะไหลลงไปยังอ่าวไทยแล้ว โดยผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงบ่ายสามโมงวันนี้(6 มิ.ย.) พบว่าค่าดีโอที่สถานีบางบาล 3.6 มก./ล.บางไทร 4.3 มก./ล. กลับสู่ภาวะปกติ จุดสุบน้ำเพื่อการประปาสำแล ปทุมธานี 2.9 มก./ล. อ.ปากเกร็ด นนทบุรี 3.0 มก./ล. แนวโน้มดีขึ้น และ สะพานกรุงเทพ 1.4 มก./ล. มีแนวโน้มดีขึ้น” นายสุพัฒน์ กล่าว .
ที่มาภาพ : http://www.chaoprayanews.com/tag/เรือน้ำตาลล่ม